Main Menu
BANGKOK PORTAL

  • ไทย
  • Eng

ไม้ดอกไม้ประดับและพืชผักสวนครัว

ชำมะเลียง
ชำมะเลียง ชื่อสามัญ Luna nut หรือ Chammaliang
ชำมะเลียง ชื่อวิทยาศาสตร์ Lepisanthes fruticosa (Roxb.) Leenh. จัดอยู่ในวงศ์เงาะ (SAPINDACEAE)
สมุนไพรชำมะเลียง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า โคมเรียง (ตราด), พูเวียง (นครราชสีมา), มะเถ้า ผักเต้า (ภาคเหนือ), หวดข้าใหญ่ ภูเวียง (ภาคอีสาน), ชำมะเลียง ชำมะเลียงบ้าน พุมเรียง พุมเรียงสวน (ภาคกลาง)

ลักษณะของชำมะเลียง

  • ต้นชำมะเลียง มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 4-7 เมตรและสูงได้ถึง 8 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลแตกเป็นร่อง ๆ ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อน มีขนสีน้ำตาล ชำมะเลียงเป็นพันธุ์ไม้ผลพื้นเมืองที่ขยายพันธุ์ได้ง่าย ทนทานต่อโรคและแมลงได้ดี โดยขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ในดินเค็ม มีการแพร่กระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ ตามป่าโปร่ง ตามแนวชายป่า หรือริมลำธาร ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 1,000 เมตร และพบได้มากในแถบพื้นที่ชายทะเล พบได้ในทุกภาคของประเทศ แต่จะพบได้มากในภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงใต้
  • ใบชำมะเลียง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 5-7 คู่ ออกเยื้องกันเล็กน้อย ลักษณะของแผ่นใบย่อยเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือสอบเข้า ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-21 เซนติเมตร แผ่นใบหนา หลังใบเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร และบริเวณก้านใบจะมีหูใบลักษณะเป็นแผ่นกลม ๆ เด่นชัด
ดอกชำมะเลียง ออกดอกเป็นช่อแบบ Raceme ออกตามกิ่งและลำต้น ช่อดอกห้อยลง ช่อดอกยาวได้ถึง 75 เซนติเมตร ดอกย่อยของแต่ละช่อจะมีทั้งดอกที่สมบูรณ์เพศและไม่สมบูรณ์เพศ ดอกเป็นสีขาวครีม ดอกเมื่อบานจะมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบแยกกัน ที่ฐานจะเรียวเล็ก กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปรีคล้ายกลีบเลี้ยงแต่จะบางกว่าและอยู่สับหว่างกลีบเลี้ยง ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ 8 ก้าน ติดอยู่ด้านหนึ่งของฐานรองดอกที่นูนขึ้น มีขนาดยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร มีก้านชูอับเรณูสั้น ๆ ส่วนดอกเพศเมียมีเกสรเพศเมีย 1 ก้าน มีรังไข่ติดอยู่เหนือฐานรองดอก และมีเกสรเพศผู้ที่ไม่เจริญ 8 ก้านติดอยู่รอบ ๆ รังไข่ รังไข่มี 3 พู 3 ห้อง ในแต่ละห้องจะมีออวุล 1 อัน สำหรับกลีบเลี้ยงดอกนั้นจะเป็นสีม่วง มี 5 กลีบ ลักษณะกลีบเลี้ยงเป็นรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม
  • ผลชำมะเลียง หรือ ลูกชำมะเลียง ผลออกเป็นช่อ ๆ ในหนึ่งช่อจะมีผลเป็นพวง พวงละประมาณ 20-30 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม รูปไข่ หรือรูปไข่ถึงรูปรีป้อม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของผลประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลสดเป็นสีเขียวอมม่วงแดง เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ เนื้อผลฉ่ำน้ำ มีรสหวาน ใช้รับประทาน ภายในผลมีประมาณ 1-2 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ปนขอบขนาน ผิวเรียบเป็นสีดำ มีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม และผลจะแก่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์
สรรพคุณของชำมะเลียง
1.รากมีรสเบื่อจืดและขมเล็กน้อย ใช้เป็นยาแก้ไข้ ใช้กินแก้ไข้เหนือ ไข้กาฬ ไข้พิษ ไข้สันนิบาต ไข้สั่น ไข้กำเดา (ราก)
2.แก้เลือดกำเดาไหล (ราก)
3.ช่วยแก้อาการร้อนใน (ราก)
4.ช่วยแก้อาการกระสับกระส่าย แก้ระส่ำระสาย (ราก)
5.ช่วยทำให้ระบบทางเดินอาหารเป็นปกติ (ราก)
6.ช่วยแก้อาการท้องผูก แก้ไม่ผูกไม่ถ่าย (ราก)
7.ผลสุกหรือผลแก่ช่วยแก้ท้องเสีย คนโบราณจะใช้ผลแก่สีดำที่มีรสฝาดหวานให้เด็กรับประทานเป็นยาแก้โรคท้องเสีย (ผล)
ประโยชน์ของชำมะเลียง
1.ใบอ่อน ยอดอ่อนสามารถนำมาใช้ทำแกงใส่ผักรวม (ชะอม สลิด แส้ว หนัง ฮาก) ทำแกงเลียง ใส่ปลาย่าง หรือใช้เป็นผักสดจิ้มน้ำพริก หรือนำมาลวกต้มจิ้มกินกับน้ำพริกมะม่วง น้ำพริกปลาร้าหรือยำ
2.ผลสุกมีรสหวานฝาด ใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ (แต่ระวังหนอนด้วยนะครับ) แต่ก่อนจะรับประทานผลควรนำมาคลึงเบา ๆ ให้ทั่วผล จะช่วยลดรสฝาดลงได้บ้าง
3.ผลสามารถนำมาใช้ทำเป็น “น้ำชำมะเลียง” ได้ ซึ่งมีส่วนผสมดังนี้ ชำมะเลียงสุกงอม 1 ถ้วย, น้ำเชื่อม 1/3 ถ้วย, เกลือ 1 ช้อนชา และน้ำต้มสุกอีก 1 ถ้วยครึ่ง โดยวิธีการทำอย่างแรกให้เลือกผลชำมะเลียงที่ผลโต ๆ และสุกงอม นำมาล้างให้สะอาด ใส่ลงในภาชนะ เติมน้ำต้มสุกลงไปเล็กน้อย แล้วยีให้เมล็ดออกจากเนื้อ เติมน้ำที่เหลือลงไป กรองเอาเมล็ดและเปลือกออก หลังจากนั้นให้เติมน้ำเชื่อมและเกลือลงไปเป็นอันเสร็จ ก็จะได้น้ำชำมะเลียงสีม่วงและชิมรสชาติได้ตามชอบ
4.สีม่วงที่ได้จากผลสามารถนำมาใช้เป็นสีผสมอาหารได้
5.ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ เพราะใบมีสีเขียวเข้มตลอดปี เมื่อผลิใบใหม่จะเป็นสีเขียวอ่อนแกมเหลืองสดใส ส่วนผลก็มีสีสันสวยงาม โดยนิยมปลูกแซมไว้ตามสวนผลไม้ทั่วไป หรือใช้ปลูกเพื่อการจัดสวนตามบ้าน ตามสถานที่ราชการ หรือใช้ปลูกเป็นพืชอาหารสัตว์ป่าในป่าอนุรักษ์ก็ได้