Main Menu
BANGKOK PORTAL

  • ไทย
  • Eng

ไม้ดอกไม้ประดับและพืชผักสวนครัว

กาบหอยแครง
กาบหอยแครง ชื่อสามัญ Boat-lily, Oyster Lily, Oyster plant, White flowered tradescantia
กาบหอยแครง ชื่อวิทยาศาสตร์ Tradescantia spathacea Sw. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Rhoeo discolor (L'Hér.) Hance, Rhoeo spathacea (Sw.) Stearn, Tradescantia discolor L'Hér., Tradescantia versicolor Salisb.) จัดอยู่ในวงศ์ผักปลาบ (COMMELINACEAE)
สมุนไพรว่านกาบหอย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กาบหอยแครง ว่านหอยแครง (กรุงเทพฯ), อั่งเต็ก ฮ่ำหลั่งเฮี๊ยะ (จีนแต้จิ๋ว), ปั้งหลานฮวา ปั้งฮัว (จีนกลาง) 

ลักษณะของว่านกาบหอย
ต้นว่านกาบหอย มีถิ่นกำเนิดในแถบเม็กซิโก คิวบา และอเมริกากลาง มีเขตการกระจายพันธุ์ไปยังประเทศต่าง ๆ รวมทั้งทวีปเอเชียด้วย โดยจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกมีอายุได้หลายปี มักขึ้นเป็นกอ ๆ ไม่มีการแตกกิ่งก้าน ลำต้นอวบใหญ่ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร มีความสูงของต้นประมาณ 30-50 เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยไหลหรือยอดหรือปักชำในพื้นที่ปลูกในช่วงฤดูฝน หรือปักชำในถุงเพาะชำในโรงเรือนนอกฤดูฝน เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีแสงแดดส่องถึงครึ่งวัน
ใบว่านกาบหอย ใบออกจากลำต้น ออกเรียงเป็นวงซ้อนกันหลายชั้น ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปหอกยาวหรือรูปแกมขอบขนานปลายแหลม ปลายใบแหลม โคนใบตัดและโอบลำต้น ส่วนขอบใบเรียบ แผ่นใบหนาและตั้งตรง ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร หน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนหลังใบเป็นสีม่วงแดง เส้นใบขนาน มองเห็นไม่ชัด และไม่มีก้านใบ
ดอกว่านกาบหอย ออกดอกเป็นช่อที่โคนใบหรือตามซอกใบ ช่อดอกมีทั้งช่อเดี่ยวและหลายช่อ ในแต่ละช่อประกอบไปด้วยใบประดับที่เป็นมีลักษณะเป็นกาบ 2 กาบ สีม่วงแซมเขียว ลักษณะเป็นรูปหัวใจโค้ง มีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร โคนกาบทั้งสองประกบเกยซ้อนและโอบหุ้มดอกขนาดเล็กสีขาวที่อยู่รวมกันเป็นกระจุก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร ที่โคนก้านช่อดอกมีใบประดับ 1 ใบ สีม่วงแซมเขียว ลักษณะเป็นรูปไข่กลีบ มีก้านดอกยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร โคนก้านดอกมีใบประดับสีม่วงอ่อนเป็นเยื่อบาง ๆ ลักษะเป็นรูปไข่ ยาวได้ประมาณ 1 เซนติเมตร ดอกมีกลีบสีขาวเลี้ยง 3 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ยาวได้ประมาณ 3-6 มิลลิเมตร มีลักษณะบางและใส ส่วนกลีบดอกมี 3 กลีบ กลีบเป็นสีขาว ลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 4-6 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร แผ่นกลีบดอกหนา ตรงใจกลางดอกมีเกสรเพศผู้เป็นขนฝอย 6 อัน ก้านชูอับเรณูเป็นสีขาว รูปเรียว มีขนยาว ส่วนปลายก้านแผ่แบนเป็นสีเหลือง อับเรณูเป็นสีแดง รังไข่ผนังเรียบ ภายในมีช่อง 3 ช่อง ในแต่ละช่องจะมีออวุล 1 เม็ด โดยจะออกดอกในช่วงฤดูร้อน
ผลว่านกาบหอย ผลเป็นผลแห้งเมื่อแตกจะแยกเป็นแฉก 2-3 แฉก ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย ผลมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3.5 มิลลิเมตร มีขนเล็กน้อย ภายในมีเมล็ดขนาดเล็ก

สรรพคุณของว่านกาบหอย

1.ใบและดอกมีรสจืดชุ่ม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อตับละปอด ใบใช้เป็นยาทำให้เลือดเย็น แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ โดยใช้ใบสด 3 ใบ นำมาต้มผสมกับน้ำตาลกรวดเล็กน้อยดื่มเป็นยา (ใบ)
2.ใช้แก้เลือดกำเดาไหล ด้วยการใช้ดอกว่านกาบหอย 10 กรัม หรือดอกประมาณ 20-30 ดอก นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ดอก)
3.หากมีไข้ตัวร้อน ให้ใช้ใบแก่ประมาณ 10-15 ใบ นำมาต้มกับน้ำจนเดือดแล้วตักใบออก เติมน้ำตาลกรวด ใช้ดื่นกินเป็นประจำเป็นยาแก้ไข้ (ใบ) (ข้อมูลจาก Pantip.com โดย : ตาเชย)
4.ตำรายาไทยใช้ใบสดเป็นยาแก้เจ็บคอ แก้ไอ โดยใช้ใบสด 3 ใบ นำมาต้มผสมกับน้ำตาลกรวดเล็กน้อยดื่มเป็นยา (ใบ)
5.ตำรายาแก้ไอร้อนในปอด แก้อาการไอเป็นเลือด ให้ใช้ใบว่านกาบหอย 10 กรัม นำมาต้มกับฟัก ใส่น้ำตาลกรวดเล็กน้อย ใช้รับประทาน (ใบ)
6.ใช้แก้หวัด แก้ไอ แก้ไอเนื่องจากหวัด ให้ใช้ดอกประมาณ 20-30 ดอก นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ดอก)
7.ช่วยแก้เสมหะมีเลือด ด้วยการใช้ดอกว่านกาบหอยประมาณ 20-30 ดอก นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ดอก)
8.ดอกมีรสชุ่มเย็น ใช้ต้มกับเนื้อหมูรับประทานเป็นยาช่วยขับเสมหะ แก้ไอแห้ง ๆ (ดอก)
9.แก้อาเจียนเป็นเลือด ให้ใช้ใบสด 3 ใบ นำมาต้มผสมกับน้ำตาลกรวดเล็กน้อยดื่มเป็นยา (ใบ,ดอก)
10.ใบและรากหากใช้ในปริมาณมากจะเป็นยาทำให้อาเจียนได้ (ใบและราก)
11.ช่วยแก้บิด ถ่ายเป็นเลือด (ใบ,ดอก) ตำรายาแก้บิดระบุให้ใช้ยาสด 120 กรัม (เข้าใจว่าคือส่วนของดอก) แลน้ำตาล 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินตอนอุ่น ๆ โดยทั่วไปกิน 1 ชุด ก็จะเห็นผลแล้ว และเมื่อกินติดต่อกันไปอีก 3-4 ชุด จะหายขาด และไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด (ดอก)
12.ช่วยแก้บิดจากแบคทีเรีย ให้ใช้ดอกแห้ง 20-30 ดอก นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ดอก)
13.ใช้แก้กรดไหลย้อน โดยใช้ใบว่านกาบหอยแครงและใบเตยสด อย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำจนเดือด ใช้ดื่มต่างน้ำทั้งวัน วันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละครึ่งแก้ว ผสมกับน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา น้ำมะนาว 1 ช้อนชา และเกลือป่นอีกเล็กน้อย แล้วอาการของกรดไหลย้อนจะค่อย ๆ ดีขึ้น ถ้าต้องการให้หายขาดก็ให้ดื่มติดต่อกันเป็นเวลา 3-6 เดือน แต่มีข้อแม้ว่าห้ามกินแล้วนอนอย่างเด็ดขาด และหลังกินอาหารต้องออกกำลังกายเบา ๆ ด้วยทุกครั้ง (ใบ)
14.ใบและรากหากใช้ในปริมาณมากจะมีสรรพคุณเป็นยาถ่าย (ใบและราก)
15.ตำรายาจีนจะใช้ดอกของว่านกาบหอยเป็นยาแก้อาการตกเลือดในลำไส้ (ดอก)
16.ช่วยแก้ปัสสาวะเป็นเลือด (ใบ,ดอก)
17.ในอินโดจีน จะใช้ต้นนำมาต้มเอาไอรมแก้ริดสีดวงทวาร (ต้น)
18.รากนำมาใช้เป็นยาบำรุงตับและม้ามพิการได้ดี (ราก)
19.ในประเทศอินเดีย จะใช้ว่านกาบหอยผสมกับน้ำมันงา ใช้เป็นยาพอกแก้ต่อมน้ำเหลืองบวม (ใบ)
20.ใช้เป็นยาห้ามเลือด (ดอก)
21.ในไต้หวันจะใช้เป็นยาพอกแผล มีดบาด และแก้บวม (ดอก)
22.ตำรายาแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน อันเกิดจากการทำนา ให้ใช้น้ำคั้นจากใบว่านกาบหอยมาทาบริเวณมือและเท้า และปล่อยให้แห้งแล้วค่อยลงไปทำนา โดยการทาน้ำคั้นจากใบของต้นว่านกาบหอย 1 ครั้ง ก่อนลงและหลังลงไปทำนา จะช่วยป้องกันมือและเท้าเน่าเปื่อยได้ดี หากมือและเท้าเน่าเปื่อยแล้ว ก็ให้ทาเพื่อรักษาได้เช่นกัน ซึ่งจากการทดสอบ 2,000 ราย พบว่าได้ผลดี (ใบ)
23.ในประเทศอินเดียจะใช้ว่านกาบหอยผสมกับน้ำมันงา ใช้เป็นยาพอกรักษาโรคผิวหนัง และโรคเท้าช้าง (ใบ)
24.ส่วนในประเทศมาเลเซียจะใช้ใบเป็นยาแก้คุดทะราด และในชวาจะใช้เป็นยาแก้กลาก (ใบ)
25.ช่วยแก้อาการฟกช้ำ แก้ฟกช้ำภายใน เนื่องจกการพลัดตกจากที่สูง หรือเกิดจากการหกล้มฟาดถูกของแข็ง ให้ใช้ใบสด 3 ใบ นำมาต้มกับน้ำตาลกรวดเล็กน้อยใช้ดื่มเป็นยา (ใบ)
หมายเหตุ : ให้ใช้ใบสดหรือใบที่ตากแห้งแล้วเก็บไว้ใช้ ส่วนดอกให้เก็บดอกที่โตเต็มที่ แล้วนำมาตากแห้งหรืออบด้วยไอน้ำ 10 นาที แล้วจึงนำไปตากแห้งเก็บไว้ใช้ และวิธีการใช้ตาม  และ ให้ใช้ใบแห้งครั้งละ 15-35 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม ถ้าใช้ภายนอกให้ใช้ใบสดนำมาตำแล้วพอก ส่วนดอก ถ้าเป็นดอกแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม แต่ถ้าเป็นดอกสดให้ใช้ครั้งละ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้เข้าตำกับตำรายาอื่น