Main Menu
BANGKOK PORTAL

  • ไทย
  • Eng

ไม้ดอกไม้ประดับและพืชผักสวนครัว

ขนุน
ขนุน ชื่อสามัญ Jackfruit, Jakfruit
ขนุน ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus heterophyllus Lam. จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)
ผลไม้ขนุน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขะนู (จันทบุรี), นะยวยซะ (กาญจนบุรี), เนน (นครราชสีมา), ซีคึย ปะหน่อย หมากกลาง (แม่ฮ่องสอน), นากอ (ปัตตานี), มะหนุน (ภาคเหนือ ภาคใต้), ลาน ล้าง (ภาคเหนือ), หมักหมี้ (ตะวันอองเฉียงเหนือ) และชื่ออื่น ๆ เช่น ขะเนอ, ขนู,นากอ, มะยวยซะ, Jack fruit tree เป็นต้น

ลักษณะของขนุน

  • ต้นขนุน เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงประมาณ 15-30 เมตร กิ่งและลำต้นเมื่อมีแผลจะมีน้ำยางสีขาวข้นไหลออกมา ลักษณะของใบขนุน เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ แผ่นใบเป็นรูปรี ปลายใบทู่ถึงแหลม โคนใบมน ใบหนา ผิวด้านบนของใบจะมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนผิวใบด้านล่างจะสากมือ ใบขนุนกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร
  • ดอกขนุน ออกเป็นช่อเชิงสดแยกเพศอยู่รวมกัน เป็นช่อสีเขียว อัดกันแน่นและอยู่บนต้นเดียวกัน โดยดอกเพศผู้จะออกตามปลายกิ่งหรือซอกใบ ซึ่งเราจะเรียกว่า "ส่า" ส่วนดอกเพศเมียจะออกตามกิ่งใหญ่และลำต้น เมื่อติดผลดอกทั้งช่อจะเจริญร่วมกันเป็นผลรวมมีขนาดใหญ่ โดย 1 ดอกจะกลายเป็น 1 ยวง
  • ผลขนุน หรือ ลูกขนุน ลักษณะภายนอกจะคล้าย ๆ จำปาดะ (ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกัน) โดยลักษณะของลูกขนุน ในผลดิบเปลือกมีสีขาว หนามทู่ ถ้ากรีดจะมียางเหนียว ถ้าแก่เปลือกจะมีสีน้ำตาลอ่อนอมเหลืองและหนามจะป้านขึ้นด้วย ภายในผลของขนุนจะมีซังขนุนหุ้มยวงสีเหลืองไว้ เมล็ดจะอยู่ในยวง โดยดอกขนุนจะออกดอกปีละ 2 ครั้ง คือในช่วงเมษายน-พฤษภาคม และในช่วงธันวาคม-มกราคม
พันธุ์ขนุน มีอยู่หลายสายพันธุ์ ซึ่งสีของเนื้อก็แตกต่างกันออกไปด้วยตามแต่ละสายพันธุ์ ขนุนบางสายพันธุ์มีรสหวานใช้รับประทานได้ แต่บางพันธุ์มีรสจืดไม่นิยมนำมารับประทาน โดยสายพันธุ์ขนุนที่นิยมปลูกในประเทศไทยก็ได้แก่ พันธุ์ตาบ๊วย (ผลใหญ่ เนื้อหนา สีจำปาออกเหลือง), พันธุ์ทองสุดใจ (ผลใหญ่ยาว เนื้อเหลือง), พันธุ์ฟ้าถล่ม (ผลค่อนข้างกลมและใหญ่มาก มีเนื้อสีเหลืองทอง), พันธุ์จำปากรอบ (ผลขนาดกลาง รสหวานอมเปรี้ยว เนื้อสีเหลือง) เป็นต้น
ต้นขนุนจัด เป็น 1 ใน 9 ไม้มงคลของไทย ไม้ขนุนมีความหมายว่า การช่วยหนุนบารมี เงินทอง ความร่ำรวย ให้ดียิ่งขึ้น มีผู้ให้การเกื้อหนุนจุนเจือ โดยนิยมปลูกไว้หลังบ้านด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้
นอกจากขนุนจะเป็นไม้มงคลนามแล้ว ก็ยังเป็นผลไม้ที่มีเนื้อหอมหวานอร่อยอีกด้วย และยังนำมาทำเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู แต่สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานควรหลีกเลี่ยงการรับประทานขนุนหรือรับประทานแต่น้อยเพราะมีรสหวาน นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรอีกด้วย ส่วนที่นำมาใช้เป็นยารักษาอาการต่าง ๆ ได้แก่ ใบ ยวง เมล็ด แก่น ส่าแห้งของขนุน

สรรพคุณของขนุน

1.ช่วยบำรุงโลหิต ทำให้เลือดเย็น (แก่นขนุนหนังหรือขนุนละมุด, ราก, แก่น)
2.ขนุนมีสรรพคุณช่วยบำรุงกำลัง ชูหัวใจให้สดชื่น (เนื้อหุ้มเมล็ดสุก, เนื้อในเมล็ด, ผลสุก, เมล็ด)
3.ช่วยบำรุงร่างกาย (เมล็ด)
4.ขนุนหนังเป็นผลไม้ที่มีวิตามินอีสูงติด 10 อันดับแรกของผลไม้ และยังมีวิตามินซีสูงช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ และช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง
5.ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ผลสุก)
6.ขนุนมีประโยชน์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานได้ โดยมีผลงานวิจัยของประเทศศรีลังกา ที่ได้ทำการทดลองในผู้ป่วยเบาหวานและในหนูทดลอง ซึ่งผลการทดลองพบว่าสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ผลการทดลองยังได้ทำการเปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาเบาหวาน ซึ่งก็คือยา Tolbutamide และได้ผลสรุปว่าสารสกัดจากขนุนสามารถช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่ายา Tolbutamide ภายในเวลา 5 ชม. สำหรับวิธีนำมาปรุงเป็นยาก็ง่าย ๆ เพียงแค่ใช้ใบขนุนแก่ 5-10 ใบ นำมาต้มในน้ำ 3 แก้ว เคี่ยวนานประมาณ 15 นาที แล้วนำมาดื่มก่อนอาหารเช้า-เย็น (ใบ)
7.ช่วยระงับประสาท (ใบ)
8.ช่วยแก้โรคลมชัก (ใบ)
9.ใบขนุนละมุด นำไปเผาให้เป็นถ่านผสมกับน้ำปูนใสใช้หยอดหู แก้อาการปวดหู และเป็นหูน้ำหนวก (ใบขนุนละมุด)
10.ใบขนุนใช้ต้มดื่มช่วยแก้อาการท้องเสียได้ (ใบ, ราก)
11.เมล็ดช่วยแก้อาการปวดท้อง (เมล็ดขนุน)
12.ใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ (เนื้อหุ้มเมล็ด, ผลสุก)
13.ช่วยสมานลำไส้ (แก่น)
14.เม็ดขนุน มีสารพรีไบโอติกหรือสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ทนต่อการย่อยของกระเพาะอาหารและการดูดซึมของลำไส้เล็กตอนบน ซึ่งช่วยดูดซึมแร่ธาตุอย่างแคลเซียม เหล็ก สร้างสารป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยไม่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียก่อโรคแต่อย่างใด (เมล็ด)
15.ไส้ในของขนุนละมุด ใช้รับประทานช่วยแก้อาการตกเลือดในทวารเบาของสตรีที่มีมากไปให้หยุดได้ (ไส้ในขนุน)
16.แก่นและเนื้อไม้ของต้นขนุน นำมาใช้รับประทานช่วยแก้กามโรค (แก่นและเนื้อไม้)
17.ช่วยขับพยาธิ (ใบ)
18.ใช้แก้โรคผิวหนังต่าง ๆ (ใบ, ราก)
19.ช่วยรักษาแผลมีหนองเรื้อรัง (ยาง, ใบ)
20.ช่วยสมานแผล (แก่น)
21.ใช้ทาแผลบวมอักเสบ (ยาง)
22.ช่วยแก้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบที่เกิดจากแผลมีหนองที่ผิวหนัง (ยาง)
23.ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ช่วยในการจับกลุ่มอสุจิ เม็ดเลือดแดง แบคทีเรีย สารในของเหลวของร่างกาย ช่วยยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว

ประโยชน์ของขนุน

1.เม็ดขนุน ช่วยบำรุงน้ำนม ขับน้ำนม ทำให้น้ำนมของแม่เพิ่มมากขึ้น (เม็ดขนุน)
2.ใช้หมักทำเหล้า (เนื้อหุ้มเมล็ดสุก)
3.ช่วยแก้อาการเมาสุรา (ผลสุก)
4.แก่นของต้นขนุน นำมาใช้ทำสีย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีน้ำตาลแก่ นิยมนำมาใช้ย้อมสีจีวรพระ
5.ส่าแห้งของขนุนนำมาใช้ทำเป็นชุดจุดไฟได้
6.เนื้อไม้ของต้นขนุนสามารถนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์และเครื่องดนตรีได้
7.เมล็ดและยวงสามารถนำมารับประทานเป็นอาหารได้
8.เนื้อขนุนสุกนำมารับประทานเป็นผลไม้และทำเป็นขนมได้หลายชนิด เช่น ใส่ในไอศกรีม ลอดช่อง กินกับข้าวเหนียวมูน นำไปอบแห้ง
9.ขนุนอ่อนนิยมนำมาปรุงเป็นอาหารรับประทานเป็นผัก เช่น ใส่ในส้มตำ ตำมะหนุน แกงขนุน ยำ ขนุนอบกรอบ เป็นต้น