Main Menu
BANGKOK PORTAL

  • ไทย
  • Eng

บทความน่ารู้

4 เมนูชื่อต่างประเทศ แต่มีขายแค่ในประเทศไทย
4 เมนูชื่อต่างประเทศ แต่มีขายแค่ในประเทศไทย

1.ขนมโตเกียว ที่มาของชื่อ “ขนมโตเกียว” ที่เล่าขานกันมาก็คือ แต่เดิมมีร้านขนมประเภทนี้เกิดขึ้นร้านแรกที่ห้างไทยไดมารู ซึ่งร้านที่ว่านี้ก็ทำขนมด้วยแป้งที่คล้ายแป้งโดรายากิเพียงแต่ไม่ได้ใส่ไส้ถั่วแดงกวนเหมือนของญี่ปุ่น แต่เปลี่ยนเป็นไส้สังขยาและไส้ต่างๆ ตามที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน และเขาได้ตั้งชื่อว่า “ขนมโตเกียว” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

2.ขนมจีน ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับประเทศจีน แต่เกี่ยวกับเชื้อสายเขมรและมอญ โดยในภาษาเขมรและมอญได้เรียกอาหารเส้นๆ สีขาวนี้ว่า “คะนอมจิน” ซึ่งแปลว่า “แป้งที่จับเป็นก้อนๆ แล้วทำให้สุก” ซึ่งคำว่า “คะนอม” ที่ว่านี้ ก็ได้กลายเป็นคำว่า “ขนม” ที่คนไทยใช้ทั่วไปด้วย เพราะแปลว่า “การนำข้าวมานวดเป็นแป้ง” ซึ่งเป็นวิธีต้นกำเนิดขนมทั้งหลายในบ้านเรา 

3.กล้วยแขก ที่จริงแล้วกล้วยแขกก็พอจะมีเค้าลางเกี่ยวข้องกับอินเดียอยู่บ้างนิดหน่อย เพราะในสมัยก่อนนั้นขนมของไทยยังไม่มีการทอด กล้วยแขกจึงเป็นเมนูของหวานที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียจริงๆ จะต่างกันก็ตรงที่กล้วยทอดของอินเดียจะคลุกกับขมิ้นและเกลือ หรือถ้าเป็นกล้วยทอดสูตรของอินโดนีเซียและมลายูก็จะคลุกกับแป้งสาลี ไข่ น้ำตาล ถ้าอยากกินกล้วยแขกที่หอมมะพร้าวและงา พอกแป้งกรอบๆ ต้องกล้วยแขกแบบไทยเท่านั้น

4.ลอดช่องสิงคโปร์ คำว่า “ลอดช่อง” เข้าใจได้แบบไทยๆ ว่าเป็นขนมที่ใช้แป้งลอดช่องของกะลาหรือหม้อเจาะรูออกมา แต่ “ลอดช่องสิงคโปร์”ไม่ได้ผลิตที่สิงคโปร์แต่อย่างใด เพราะที่จริงแล้ว เมื่อเกือบ 60 ปีก่อนได้มีร้านลอดช่องชนิดเส้นกึ่งใสหนึบๆ เหนียวๆ ร้านแรกในไทย เกิดขึ้นที่หน้า “โรงภาพยนตร์สิงคโปร์” หรือ “โรงหนังเฉลิมบุรี”บนถนนเยาวราชนี่เอง ใครไปใครมาก็มักเรียกติดปากว่า “ลอดช่อง(โรงหนัง)สิงคโปร์” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา