Main Menu
BANGKOK PORTAL

บทความน่ารู้

ความเป็นมาของเทศกาลกินเจ

ประวัติเทศกาลกินเจ

เทศกาลกินเจยึดเอาวันทางจันทรคติของจีน รวมระยะเวลา 9 วัน ตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 เป็นความเชื่อของพุทธศาสนานิกายมหายาน และลัทธิเต๋า ในประเทศจีน มีพิธีการตั้งโต๊ะไหว้เทพเจ้า “เจ้าแม่ปั๊กเต๋าบ้อ” และมีเรื่องเล่าแบ่งเป็นหลายตำนาน อาทิ
 

ตำนานที่ 1 รำลึกถึงนักรบ “หงี่หั่วท้วง”

ตามความเชื่อในตำนานแรกกล่าวถึงการรำลึกถึงทหารชาวบ้าน “หงี่หั่วท้วง” ที่ต่อสู้กับกองทัพแมนจูที่ใช้ปืนไฟต่อสู้ นักรบหงี่หั่วท้วงประกอบพิธีกรรมนุ่งขาวห่มขาว งดกินเนื้อสัตว์และผักที่มีกลิ่นฉุน พร้อมท่องคาถาอาคมที่เชื่อว่าจะป้องกันลูกกระสุนจากปืนไฟได้ แต่สุดท้ายเมื่อจีนพ่ายแพ้แมนจูชาวบ้านที่ถูกบังคับให้ไว้ผมยาว ก็รำลึกถึงกลุ่มนักรบหงี่หั่วท้วงด้วยการปฏิบัติกินเจเช่นกัน

ตำนานที่ 2 กินเจเพื่อสักการะพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์

การกินเจในตำนานนี้เล่าว่าพุทธศาสนิกชน บำเพ็ญศีลงดกินเนื้อสัตว์ และแต่งกายด้วยชุดชาว 9 วัน เพื่อรำลึกถึงพระพุทธเจ้าในอดีต 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์รวมเป็น 9 องค์ หรืออีกความหมายสื่อถึง “ดาวนพเคราะห์” ทั้ง 9 ได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ

 

ตำนานที่ 3 รำลึกถึงจักรพรรดิ์ซ่งตี๊ปิง แห่งราชวงศ์ซ้อง

ตำนานนี้กล่าวถึง การนุ่งขาวห่มขาวเพื่อรำลึกถึงการทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากการเมือง ขณะที่เสด็จไต้หวันทางเรือ ชาวมณฑลฮกเกี้ยนร่วมกันทำพิธีบูชาเพื่อระลึกถึงราชวงศ์ซ้อง และได้ส่งอิทธิพลนี้มาประเทศไทยผ่านผู้ที่อพยพมาเผยแพร่

เทศกาลกินเจ ถือศีลกินผักในประเทศไทย

จังหวัดภูเก็ตถือว่า มีชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนที่ยึดมั่นในเทศกาลถือศีลกินผัก โดยมีขบวนแห่เทพเจ้าของแต่ละศาลเจ้า เทศกาลกินเจในภูเก็ตเริ่มต้นในหมู่บ้านไล่ทู ซึ่งเป็นหมู่บ้านในตำบลกะทู้ เกิดจากคนจีนที่อพยพเจ้ามาทำเหมือนแร่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และมีคนจีนอพยพมาอยู่อาศัยมากในปี พ.ศ. 2368 เนื่องจากอุตสาหกรรมดีบุกเติบโตมาก ศาลเจ้าต่างๆ ที่ตั้งตามความนับถือของชาวจีนก็เกิดขึ้นตามหมู่บ้านต่างๆ รวมถึงการแสดงจากคณะงิ้ว ที่มีตลอดทั้งปี 
 

ในยุคที่ชาวบ้านไลทู และชาวจีนในคณะงิ้วเจ็บป่วยกันมาก จึงประชุมปรึกษากันว่าจะทำพิธีเจี๊ยะฉ่าย (กินผัก) ที่ประเทศไทย เนื่องจากไม่สามารถเดินทางกลับไปร่วมพิธีที่เมืองจีนได้เหมือนที่เคยประกอบพิธีกรรมทุกปี ชาวคณะงิ้วจึงประกอบพิธีเจี๊ยะฉ่ายที่ไทย โดยแสดงกายกรรมต่างๆ ด้วย  

หลังจากที่ชาวบ้านหายป่วยจากโรคภัยกันแล้ว ก็มีการไหว้สักการะและทำพิธีเจี๊ยะฉ่ายกันต่อมาตามความเลื่อมใสศรัทธาและเหมาะสมกับแต่ละครอบครัว ก่อนคณะงิ้วได้เดินทางไปแสดงที่อื่น ได้มอบเทวรูปพระจีน และให้คำแนะนำแก่ชาวบ้านเพื่อประกอบพิธีกรรมต่อมา 




 

เทศกาลกินเจ คืออะไร?

จุดประสงค์ของการกินเจ ในความหมายของการถือศีล คือการละเว้นจากเนื้อสัตว์ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของศีล 5 ในทางพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังนิยมกินเจเพื่อรักษาสุขภาพ กำจัดสารพิษออกจากร่างกาย เพื่อรักษาสมดุลของร่างกายด้วย บางคนก็กินเจมากกว่า 9 วันเพื่อรักษาศีล

การกินเจต่างจากการรับประทานมังสวิรัติ ตรงที่มีการละเว้นผักที่มีกลิ่นฉุน 5 อย่าง และถือหลักปฏิบัติทางจิตใจ เตรียมจิตใจให้บริสุทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมสักการะขอพร ตามความหมายของตัวอักษรจีนบนธงเจ หมายถึง “ปราศจากการทำลายชีวิต และปราศจากของที่มีกลิ่นคาว”

กินเจห้ามกินผักอะไรบ้าง

แม้ว่าเทศกาลกินเจจะมีพิธี "เจี๊ยะฉ่าย" ที่แปลว่า "กินผัก" แต่ก็มีข้อห้ามที่งดผักมีกลิ่นฉุน 5 อย่าง ดังนี้

  • กระเทียม
  • หัวหอม
  • หลักเกียว หรือ กระเทียมโทน
  • กุยช่าย
  • ใบยาสูบ

นอกจากนี้ ยังงดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของนมสด และนมข้นด้วย เพราะถือว่าเป็นของสดและของคาว ทางผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มต่างๆ จึงใช้นมที่คั้นจากธัญพืชมาทำเป็นนมเจ เช่น น้ำนมถั่วเหลือง น้ำนมข้าวโพด น้ำนมงา

ปัจจุบันวิธีการจำหน่ายอาหารเจ จะมีสัญลักษณ์ธงเจปักอยู่ ซึ่งเขียนด้วยตัวอักษรสีแดงบนพื้นธงสีเหลือง ควาหมายคือสีแดงเป็นสีมงคล และสีเหลืองเป็นสีที่ถูกใช้ในราชวงศ์ หรือทางศาสนาเท่านั้น ดังนั้นเมื่อเห็นสัญลักษณ์ธงเจจึงหมายถึง การตระหนักถึงการงดเว้นเนื้อสัตว์ในอาหาร งดการเบียดเบียน ตลอดช่วงกินเจ

ที่มา : phuketvegetarian.com