Main Menu
BANGKOK PORTAL

  • ไทย
  • Eng

สารสนเทศขบวนการเสรีไทย

21 ธันวาคม 2484 พิธีลงนามในสัญญาร่วมวงไพบูลย์ระหว่าง ไทย กับ ญี่ปุ่น
21 ธันวาคม 2484
พิธีลงนามในสัญญาร่วมวงไพบูลย์ระหว่าง ไทย กับ ญี่ปุ่น
.
เมื่อ 81 ปีที่แล้ว ณ อุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ 'จอมพล ป. พิบูลสงคราม' ได้ลงนามใน "กติกาสัญญาพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น" โดยมี 'นายเตอิจิ ทะสุโบกามิ' เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ร่วมลงนาม
.
สัญญาดังกล่าวสืบเนื่องมาจากความพยายามที่จะสร้างวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา (Greater East Co-Prosperity Sphere) อันเป็นแนวคิดสำคัญของจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กล่าวอ้างถึงพันธกิจสำคัญ คือ การผลักดันชาติในภูมิภาคเอเชียให้หลุดพ้นจากอิทธิพลตะวันตก พร้อมกับสถาปนาระเบียบใหม่ในเอเชียตะวันออก โดยจักรวรรดิญี่ปุ่นยังได้สัญญาส่งมอบของขวัญที่เป็นดินแดนสหรัฐไทยใหญ่ อันประกอบด้วยเมืองเชียงตุงและเมืองพานในพม่า (หรือเมียนมาในปัจจุบัน) และดินแดนในมลายูคือ ไทรบุรี, กลันตัน, ตรังกานู และปะลิส มามอบให้แก่ไทยด้วย
.
การตัดสินใจร่วมลงนามในครั้งนี้ นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ได้ขอให้มีการยับยั้ง มิให้ประเทศไทยต้องถลำลึกในการร่วมมือกับญี่ปุ่นยิ่งไปกว่าข้อตกลงเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ที่เพียงขอยกทัพขึ้นผ่านประเทศเท่านั้น ทั้งนี้เพราะนายปรีดีมีความมั่นใจว่า ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะมีความได้เปรียบในระยะแรกของสงคราม แต่ในที่สุดก็ต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และไม่ต้องการให้ประเทศไทยพัวพันกับมหาสงครามในครั้งนี้ที่จะนำไปสู่การสูญเสียเอกราชและสันติภาพในที่สุด
.
การตัดสินใจในคราวนั้น ส่งผลให้ในเวลาต่อมา ไทยจำต้องประกาศสงครามต่อชาติฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตร เช่น อังกฤษและประเทศในเครือจักรภพอังกฤษบางประเทศได้ประกาศสงครามตอบโต้ประเทศไทย สถานการณ์ดังกล่าวนี้ นำไปสู่ภารกิจของขบวนการเสรีไทยในเวลาต่อมาที่ต้องเชื่อมสัมพันธไมตรีกับฝ่ายสัมพันธมิตรให้กลับคืนมา จึงจะสามารถประกาศสันติภาพได้อย่างแท้จริง
.
กองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาหลายด้าน เช่น ในด้านเศรษฐกิจ กองทัพญี่ปุ่นบีบคั้นประเทศไทย ด้วยการขอความร่วมมือจากรัฐบาลไทยทางด้านการเงิน การค้า และอุตสาหกรรม ซึ่งก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ และค่าครองชีพสูงขึ้น ในด้านทหาร ประเทศไทยเปิดทางให้กองทัพญี่ปุ่นสร้างทางรถไฟเพื่อใช้เป็นเส้นทางสำหรับการบำรุงกองทัพ ทั้งในด้านอาวุธและเสบียง เพื่อบุกโจมตีฝ่ายสัมพันธมิตรในพื้นที่ต่างๆ เป็นต้น
>>> Facebook : ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์
Tel.02-376-1400