Main Menu
BANGKOK PORTAL

  • ไทย
  • Eng

สารสนเทศขบวนการเสรีไทย

รอบปฐมทัศน์ "พระเจ้าช้างเผือก"



4 เมษายน 2484
รอบปฐมทัศน์ "พระเจ้าช้างเผือก"

"ไม่มีสุขใดเสมอด้วยความสงบสันติ — นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ" [พุทธภาษิตวรรคสุดท้ายในบทประพันธ์ "พระเจ้าช้างเผือก"]
.
“พระเจ้าช้างเผือก” เป็นภาพยนตร์ที่ประพันธ์และอำนวยการสร้างโดย นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วัตถุประสงค์ในการสร้างนั่นก็คือต้องการส่งสารให้ทั่วโลกรับรู้ถึงความต้องการของสยามประเทศเรื่องสงครามว่าด้วยหลักแห่งสันติภาพ
.
นายปรีดี พนมยงค์ เขียนถึงเหตุผลที่ท่านประพันธ์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” ไว้ในคำนำหนังสือซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2484 ว่า
.
“นิยายเรื่องพระเจ้าช้างเผือกนี้ มีพื้นเรื่องเดิมมาจากเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยอันเป็นที่รู้จักกันดี คือ การรุกรานของประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมักจะยกเรื่องช้างเผือกจำนวนไม่กี่เชือกมาบังหน้า แต่แท้ที่จริงก็เพื่อขยายบารมีและอานุภาพส่วนตัว ความปราชัยของจ้าวผู้ครองนครที่เปี่ยมไปด้วยความทะเยอทะยาน กระหายอำนาจ ก้าวร้าวในการต่อสู้ตัวต่อตัวกับขุนศึกของไทยที่ยิ่งใหญ่และเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมอันสูงส่ง
.
...ชัยชนะอันเด็ดขาดของธรรมะเหนืออำนาจการปฏิบัติตามกรุณาธรรมและเมตตาธรรมอันปรากฏในคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งแม้กาลเวลาจะล่วงเลยมากว่าสองพันสี่ร้อยปีก็ยังคงเป็นประดุจประทีปแห่งความกรุณา ที่ฉายแสงนำทางจิตใจของมนุษยชาติทั้งมวลให้หลุดพ้นจากความหายนะ นวนิยายเรื่องนี้เขียนขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่สันติภาพ เพราะว่า ชัยชนะแห่งสันติภาพนี้ มิได้มีชื่อเสียงบรรลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด”
.
นายปรีดี พนมยงค์ นำภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2484 โดยฉายพร้อมกันถึงสามเมือง คือ กรุงเทพฯ (ศาลาเฉลิมกรุง) นิวยอร์ก และสิงคโปร์
.
มูลนิธิหนังไทยในพระอุปถัมภ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ จัดตั้งรางวัล “ช้างเผือก” ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงคุณูปการของนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สร้าง “พระเจ้าช้างเผือก” และรำลึกถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ ในฐานะมรดกภาพยนตร์อันล้ำค่าของชาติ เป็นรางวัลสำหรับมอบให้แก่ภาพยนตร์และผู้สร้างภาพยนตร์ในวงการภาพยนตร์ของนักศึกษาวิชาภาพยนตร์ในประเทศไทย โดยจัดงานประกวดประจำปี ระหว่างสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นเสมือนการเสาะหา “ช้างเผือก” มาประดับวงการภาพยนตร์ของชาติ และเป็นการสืบสานพลังสร้างสรรค์ “พระเจ้าช้างเผือก” ของนายปรีดี พนมยงค์ ให้ตกทอดสู่อนุชนสืบไป
วิดีทัศน์และบทความที่เกี่ยวข้อง :
รับชม "พระเจ้าช้างเผือก" ต้นฉบับจากฟิล์มขาวดำ (Sub-Thai) ได้ที่
- อ่าน "พระเจ้าช้างเผือก" ทั้งเล่ม สามารถดาวน์โหลดไฟล์ PDF ได้ที่
- อ่าน "แกะรอยพระเจ้าช้างเผือก" โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
- อ่าน "พระเจ้าช้างเผือก : ภาพยนตร์แห่งสันติภาพท่ามกลางกองเพลิงสงคราม"
- อ่าน "ขบวนการเสรีไทย สันติภาพ และ พระเจ้าช้างเผือก"
#ข้อมูลจาก : สถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Institute