Main Menu
BANGKOK PORTAL

  • ไทย
  • Eng

สารสนเทศขบวนการเสรีไทย

กว่าจะมาเป็น “สวนเสรีไทย”

     ในอดีตผมเคยถูกชวนให้ไปพูดที่นู่นที่นี่บ้าง แต่ไม่มีวันไหนเลยที่ผมจะรู้สึกตัวเล็กมากที่สุดเท่าวันนี้ ที่บอกว่ารู้สึกตัวเล็กที่สุดในวันนี้นั้น เพราะผมได้มีโอกาสมาร่วมงานรำลึกถึงกลุ่มบุคคลที่เสียสละให้กับชาติอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแต่ใช้ปากพูดว่ารักชาติ แต่ดำเนินการเอง และเป็นความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ จนผมประเมินตัวเองได้แค่เป็นธุลีของภารกิจที่พวกท่านได้ทำไว้เมื่อ 77 ปีที่ผ่านมากว่าจะมาเป็น “สวนเสรีไทย”



     ความเป็นมาเป็นไปของ สวนเสรีไทย เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 ปีนั้นน้ำท่วมกรุงเทพฯ มาก โดยเฉพาะในเขตบางกะปิ คันนายาว บึงกุ่ม รามคำแหง ตลอดแนวมาจนถึงถนนสุขาภิบาล 1, 2, 3 จะท่วมตลอด ในหลวงมีพระราชดำริว่าน่าจะสร้างบึงเก็บน้ำเอาไว้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 กรุงเทพมหานครได้เริ่มหาบึงเก็บน้ำแล้วจึงไปพบบึงบึงหนึ่ง ซึ่งชื่อว่า “บึงตาทอง” ซึ่งเป็นแหล่งเก็บน้ำแต่เสื่อมโทรม มีวัชพืช มีการบุกรุก มีการทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย ไม่มีทางระบายน้ำเข้าออกไปสู่คลองแสนแสบเลย เพราะฉะนั้นไม่สามารถทำหน้าที่เป็นบึงเก็บน้ำในเวลาที่ฝนตกลงมาได้ กรุงเทพมหานครเริ่มพัฒนาขึ้นมา แล้วเอาที่ของโรงเรียน 5 ไร่ มาทำเป็นอาคารที่จะช่วยดูแลในเรื่องของบึงตาทอง


     ในปี พ.ศ. 2530 - 2532 ก็สร้างรั้ว สร้างโรงเรียนขึ้นมาใหม่ โดย อาจารย์กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ได้เข้ามาในปี พ.ศ. 2535 - 2539 อนุมัติเงินในการสร้างอาคารเรียนขึ้นในบริเวณ 5 ไร่ตรงนี้ หลังจากนั้นปี พ.ศ. 2538 คุณกฤษฎา อนุมัติสร้างรั้วล้อมรอบของสถานที่นี้
ต่อมาจนถึงปี พ.ศ. 2540 ที่ผมเข้ามาช่วยงานกับกรุงเทพมหานครแล้วนั้น ก็ได้งบประมาณมากเป็นพิเศษ 14 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารต่างๆ ขึ้นมา รวมถึงบ้านพัก เพื่อก่อสร้างเป็นห้องสมุดขึ้นมา ในปี พ.ศ. 2540 อาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ ได้พบกับผม เพื่อขอความคิดเห็นในเรื่องของ “สวนน้ำบึงกุ่ม” ที่มีพื้นที่เบื้องต้นไม่กี่ไร่ ถ้าหากว่าสามารถที่จะตั้งชื่ออย่างเป็นทางการได้ คือ “สวนน้ำเสรีไทย” ก็จะเป็นการจุดที่ทำให้เกิดความสนใจแล้วก็จะทำให้มีการศึกษาเล่าเรียนรำลึกถึงกิจกรรมของ “ขบวนการเสรีไทย” ที่เกิดขึ้นในอดีต ผมเห็นชอบกับอาจารย์ดุษฎีในทันที ในปีต่อมามีงบประมาณสร้างอาคารเสรีไทยอนุสรณ์ ซึ่งเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2544


     อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2546 มีพิธีการเปิดอย่างเป็นทางการ มีรองนายกรัฐมนตรี คือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มาทำหน้าที่เปิดอย่างเป็นทางการ จะเห็นได้ว่าไม่ใช่กรุงเทพมหานครฝ่ายเดียว แต่ประชาชน องค์กรเอกชน ราชการส่วนกลาง ได้เข้ามาร่วมมือกันทุกเรื่องทุกราว เพื่อที่จะให้เกิดสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ เพราะหลังจากนั้นจากพื้นที่ 90 ไร่ ของบึงตาทองได้ขยายไปจนบัดนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 300 กว่าไร่ บึงนี้ขยายไปจนชนกับเขตแขวงหลอแหล ใช้เพื่อการเก็บน้ำ ใช้เพื่อการระบายน้ำเน่าและน้ำเสียออกคลองแสนแสบ โดยมีสำนักระบายน้ำควบคุม สำนักวัฒนธรรมคอยดูแลเรื่องอาคาร มีสำนักสิ่งแวดล้อมช่วยดูแลสวนสาธารณะ
ความสำเร็จของ “สวนเสรีไทย” เกิดจากความร่วมมือของประชาชน องค์กรเอกชน และราชการส่วนกลาง เข้ามามีส่วนร่วมในการเกิดอนุสรณ์แห่งนี้ ท้ายที่สุดผลประโยชน์ของบึงแห่งนี้คือ การได้ใช้ประโยชน์แก่ประชาชนในการบริหารน้ำ เก็บน้ำ ระบายน้ำ โดยมีสำนักระบายน้ำควบคุม และมีสำนักวัฒนธรรมฯ คอยดูแลเรื่องอาคาร มีสำนักงานสิ่งแวดล้อมช่วยดูแลเรื่องสวนสาธารณะมาจนถึงทุกวันนี้



     ในโอกาสที่สำคัญวันนี้ ผมอยากจะเรียนว่า ให้ช่วงเวลาดังกล่าวก็เกิด ถนนประดิษฐ์มนูธรรม ขึ้นมาไล่ๆ กัน เกิดการเปลี่ยนชื่อ ถนนคลองตัน สุขุมวิท 71 เป็น ถนนปรีดี ขึ้นมา เพื่อเป็นการรำลึกถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ


     อาคารเสรีไทยที่มีทั้งห้องสมุด พิพิธภัณฑ์เสรีไทย และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นบึงกุ่ม และสวนทั้งปวงนั้นจะไม่    สามารถอยู่ยืนยงได้เลย ถ้าหากว่าขาดเสียซึ่งกรุงเทพมหานครที่รับเป็นผู้ดูแล บริเวณนี้นั้นจะอยู่แค่นี้ไม่ได้เพราะต้องมีการบำรุงรักษา จะต้องเจริญเติบโตไปพร้อมกับโรงเรียน ท่านผู้อำนวยการโรงเรียน ท่านรองผู้อำนวยการโรงเรียน อาสาสมัคร อปพร. ทั้งปวงที่อยู่ในบริเวณบึงกุ่มนี้นั้นจะต้องช่วยคนละไม้คนละมือเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้
ผมขอให้พวกเราทุกคนช่วยกันรักษาคุณค่าของอุดมการณ์ของขบวนการเสรีไทย ให้ยั่งยืนไปพร้อมๆ กับสถานที่แห่งนี้ชั่วกาลนาน ขอบคุณครับ
 

#ที่มา : PRIDI × BMA กิจกรรมครบรอบ 77 ปี วันสันติภาพไทย วันที่ 16 สิงหาคม 2565 เวลา 16.00 - 20.40 น. ณ สวนเสรีไทย บึงกุ่ม

ติดตามข่าวสารกิจกรรมห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์ ได้ที่
Facebook : ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์
TEL. 02-376-1400