Main Menu
BANGKOK PORTAL

  • ไทย
  • Eng

สารสนเทศขบวนการเสรีไทย

102 ปี ชาตกาล เปลื้อง วรรณศรี


28 ตุลาคม 2465-2567
102 ปี ชาตกาล เปลื้อง วรรณศรี
บุรุษผู้สร้างประชาธิปไตยด้วยน้ำหมึก
(พ.ศ. 2465-2539)
.
อันหลักหกประการที่ขานไข
อีกรัฐธรรมนูญที่ใช้เป็นปฐม
เป็นปทัฏฐานการเมืองเนื่องนิยม
ปวงประชาได้ชมสมเสรี
[บทกวี “ตำนาน………รัฐธรรมนูญ” แต่งโดย ‘เปลื้อง วรรณศรี’]
.
เปลื้อง วรรณศรี เกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2465 ที่จังหวัดสุรินทร์ จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนสระโบราณ และมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสุรวิทยาคาร จากนั้นจึงเข้าเรียนต่อชั้นเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองรุ่นที่ 5 ก่อนที่ท่านจะกลายเป็นนักประชาธิปไตย ทั้งในฐานะนักเขียน กวี นักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง หรือแม้ในฐานะนักโทษจากกรณีกบฏสันติภาพและข้อหาคอมมิวนิสต์
.
จุดเริ่มต้นบนถนนสายประชาธิปไตยอย่างเป็นทางการของบุรุษนามว่า ‘เปลื้อง วรรณศรี’ เริ่มต้นขึ้นเมื่อได้เข้าศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในปี 2486 โดยเริ่มต้นในชั้นเตรียมปริญญา (ต.ม.ธ.ก.) รุ่นที่ 5 และเลื่อนขึ้นไปสู่หลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิต
.
เปลื้อง วรรณศรี ใส่ใจในความเป็นไปของบ้านเมืองอยู่เสมอ เช่น ร่วมมือกับขบวนการนักศึกษาและประชาชนทวงคืนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งเมื่อถูกควบคุมพื้นที่โดยกองทัพใน ปี 2494, เคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการนำไทยเข้าร่วมสมรภูมิสงครามเกาหลี หรือที่รู้จักในนามเหตุการณ์ “กบฏสันติภาพ” ในปี 2495 ซึ่งท้ายที่สุดเปลื้อง วรรณศรี ถูกจับกุมในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักรพร้อมกับนักคิด-นักเขียน อีกหลายคน เช่น ปาล พนมยงค์, กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา), สุภา ศิริมานนท์, สุพจน์ ด่านตระกูล ฯลฯ
.
หลังการรัฐประหารโดยจอมพล สฤษดิ์ นายเปลื้องจึงลงเลือกตั้งอีกครั้งในปลายปี 2500 และได้รับเลือกจากประชาชนเป็นผู้แทนราษฎรที่มีบทบาทและหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรเป็นฝ่ายค้าน เรียกร้องสิทธิ์และเป็นปากเป็นเสียงให้แก่ราษฎรในชนบทเป็นหลัก
.
นับตั้งแต่เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เปลื้อง วรรณศรี สนใจเกี่ยวกับการเขียนและถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวหนังสือและหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนักเขียน โดยผลิตงานเขียนหลายประเภท ทั้งบทความ เรื่องสั้นและกวี ซึ่งเผยแพร่ลงในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ
.
หากนักอ่านที่รู้จักนักเขียนอย่าง 'อัศนี พลจันทร์' นามปากกา 'นายผี' แล้วนั้น ย่อมต้องรู้จัก 'เปลื้อง วรรณศรี' ผู้ซึ่งใช้นามปากกาล้อไปด้วยกันคือ 'นายสาง' ซึ่งนอกจากนามปากกาดังกล่าวแล้ว เปลื้องยังใช้นามแฝงอื่นๆ อย่าง มณีน้อย โชติรส และ ศิริราษฎร์ ภายหลังเมื่อพ้นโทษจากคดีกบฏสันติภาพแล้ว อีกบทบาทหนึ่งที่มีความสำคัญในชีวิต นั่นก็คือ “บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ปิตุภูมิ”
.
เปลื้อง วรรณศรี ใฝ่ฝันที่จะเห็นสังคมไปถึงพร้อมด้วยประชาธิปไตย ในบทบาทสิงห์น้ำหมึก ขับเคลื่อนอุดมการณ์ผ่านตัวหนังสือและงานเขียน และมีอุดมคติในชีวิตว่า
.
“ความอภิรมย์ของชีวิตที่แท้จริงนั้น อยู่ที่ความศรัทธาต่ออุดมการณ์อันสูงส่ง และความเชื่อมั่นต่ออนาคต”
.
ในบทบาทนักการเมืองก็ได้ทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากสุรินทร์อย่างเต็มที่ แต่เป็นที่น่าเสียดาย เมื่อต้องประสบกับการแทรกแซงทางการเมืองกับการรัฐประหารซึ่งนำโดย 'จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์' เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ส่งผลให้ในเวลาต่อมาเปลื้อง วรรณศรี ถูกจับกุมในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และถูกกักขังเป็นระยะเวลากว่า 8 ปี
.
ภายหลังเมื่อเปลื้อง วรรณศรี ได้รับอิสรภาพจึงพบว่าสังคมไทยยังคงตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ อีกทั้งเปลื้อง วรรณศรี ยังคงเป็นบุคคลที่รัฐเพ่งเล็งอยู่เสมอ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังถูกคุกคามจากการใช้อำนาจของบุคคลปริศนา เปลื้อง วรรณศรี จึงตัดสินใจเข้าป่า แต่ยังคงไว้ซึ่งอุดมการณ์อันมาดมั่นว่าสังคมไทยจะต้องดีกว่าเดิมให้จงได้
.
ห้วงยามที่ต้องเดินทางไกลจากแผ่นดินมาตุภูมิสู่ประเทศจีน ด้วยเพราะปัญหาทางสุขภาพที่ต้องรับการรักษา อีกทั้งเหตุผลทางการเมืองที่เป็นเหตุให้จำต้องลี้ภัย เปลื้อง วรรณศรี มิได้ปล่อยเวลาให้ระเหิดหายโดยเปล่าประโยชน์ แต่ได้ใช้เวลาทั้งหมดไปกับการอ่าน การเขียน และศึกษาค้นคว้า พร้อมส่งงานเขียนกลับมาตีพิมพ์ที่ประเทศไทยอยู่เสมอ ไม่ว่าจะใกล้หรือไกลจากสังคมไทยสักเพียงใด แต่บุรุษนามว่า 'เปลื้อง วรรณศรี' ยังคงยืนยันในจุดยืนทางการเมือง คือ “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2539
.
บทความที่เกี่ยวข้อง
- “โดม” คือ ท่านปรีดี พนมยงค์ : https://pridi.or.th/th/content/2022/10/1306
- ตำนาน...รัฐธรรมนูญ : https://pridi.or.th/th/content/2023/10/1733
#ขอบคุณที่มาจาก : #เพจเฟสบุ๊คสถาบันปรีดี พนมยงค์
#Pridi Banomyong Institute #เปลื้อง วรรณศรี