Main Menu
BANGKOK PORTAL

  • ไทย
  • Eng

สารสนเทศขบวนการเสรีไทย

ปรีดี พนมยงค์ และ 4 รัฐมนตรีอีสาน + 1


 

ปรีดี พนมยงค์ และ 4 รัฐมนตรีอีสาน + 1

ผู้แต่ง : สายหยุด เกิดผล
สถานที่พิมพ์ : กรุงเทพฯ
สำนักพิมพ์ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปีที่พิมพ์ : 2544
จำนวนหน้า : 306 หน้า
ISBN :  9748832848


บรรณนิทัศน์ :

          ในแง่ของประวัติการเมืองไทยสมัยใหม่ ภาพของการต่อสู้ระหว่าง 2 ขั้วนั้นคือ ระหว่าง “ประชาธิปไตยกับเผด็จการ” หรือระหว่าง “ทหารกับพลเรือน” ระหว่าง “ธรรมะกับอธรรม” หรือท้ายที่สุดระหว่าง “เทพกับมาร” นั้น ดูเหมือนจะได้รับการตอกย้ำและยอมรับกันโดยทั่วไป

          ดังนั้น เรื่องราวของ 2475 จึงเป็นการต่อสู้ระหว่าง “คณะเจ้า” กับ “คณะราษฎร” หรือระหว่าง “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” กับ “ประชาธิปไตย” และเมื่อการเมืองไทยเข้าสู่ “วัฏจักรแห่งความชั่วร้าย” ของการ “ปฏิวัติและรัฐประหาร” ก็กลายเป็นการต่อสู้ของ “เสรีประชาธิปไตย” กับ “เผด็จการทหาร”

          หรือแม้กระทั่งเป็นเรื่องของ “ฝ่าย” และ/หรือ “ค่าย” เช่น “ฝ่าย จอมพล ป. พิบูลสงคราม” กับ “ฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์” และ/หรือ “ค่ายสี่เสาเทเวศร์” (ของสฤษดิ์ ธนะรัชต์) กับ “ค่ายซอยราชครู” (ของผิน ชุณหะวัณ และ เผ่า ศรียานนท์) เป็นต้น

          อย่างไรก็ตาม หากจะมองให้ลึกซึ้งลงไปแล้ว จะพบว่ามีหลายครั้งหลายหนที่มีความพยายามที่จะสร้างกลุ่มก้อนทางการเมืองขึ้นใหม่ หรือให้มีทางเลือกที่มากกว่า 2 ให้เป็นทางออกของประชามหาชน แต่ความพยายามและกลุ่มก้อนดังกล่าวก็ถูกทําลายพิฆาตฆ่า ทําให้ไม่สามารถจะเติบโตขึ้นได้ในแผ่นดินนี้ กรณีของ “4 ส.ส. รัฐมนตรีอีสาน + 1” เป็น ตัวอย่างที่ชัดเจนที่จะนํามาศึกษาหาความรู้ให้เห็นภาพของการเมืองไทยให้กระจ่างชัดยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการปิดงานการเฉลิมฉลอง 100 ปีชาตกาลของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ พฤษภาคม 2544/2001

          ในยุคที่ประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบานขึ้นภายหลังการปฏิวัติ 2475 ในช่วงของการเมืองในระบบรัฐสภาที่มีสภานิติบัญญัติ มีการเลือกตั้ง และหรือมีพรรคการเมือง นับตั้งแต่ปี 2476 ที่มีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก จนกระทั่งถึงต้นทศวรรษ 2490 อันเป็นช่วงเวลาเข้าสู่ “ยุคทมิฬ” และ/หรือ “วิสามัญฆาตกรรมการเมือง” ที่อํานาจ “รัฐตํารวจ” (ในสมัยของการเมือง “คณะรัฐประหาร” ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพล ผิน ชุณหะวัณ) ที่ในส่วนของการจัดการ “รักษาความสงบเรียบร้อย” (ซึ่งแปลได้ตรงตัวตามลายลักษณ์อักษรว่าฆ่าและปราบปรามนำโดยเผ่า ศรียานนท์ และบรรดา “อัศวิน”) ได้กระทําต่อบุคคลที่ไม่ลงรอยทางการเมืองกับตนจํานวนมากนั้น

          กล่าวได้ว่า กลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “อีสาน” ดูจะโดดเด่นเป็นพิเศษในฐานะที่พยายามทําหน้าที่เป็นตัวแทนของ คนส่วนใหญ่ จาก “วงนอก” และจาก “ชายขอบ” เป็นปากเสียงและต่อรองให้ผู้ที่อยู่นอกศูนย์กลางของอํานาจ (กรุงเทพฯ)

         กล่าวได้อีกเช่นกันว่า ความพยายามที่จะปลูกฝังระบอบรัฐธรรมนูญ โดยมีหัวใจสําคัญที่ระบบรัฐสภาและการเลือกตั้งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทั่วประเทศเข้ามามีบทบาทในส่วนกลาง ทําการตรวจสอบการทํางานของฝ่ายบริหารและคัดค้านอํานาจของรัฐบาลนั้น ปรากฏว่า ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งในสมัยเริ่มแรกนี้ได้แสดงบทบาทและความรับผิดชอบของตนอย่างมีประสิทธิภาพ (ขัดกับภาพของ “ธนาธิปไตย” และ/หรือ “นักเลือกตั้ง” และ “นักการเมือง” ประเภท “ยี้” ที่เป็นที่คุ้นเคยกันในปัจจุบัน)
          4 ส.ส. รัฐมนตรีอีสาน คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (อุบลราชธานี เกิด 2449 - ตาย 2492) นายจําลอง ดาวเรือง (มหาสารคาม 2452-2492) นายถวิล อุดล (ร้อยเอ็ด 2452-2492) และ นายเตียง ศิริขันธ์ (สกลนคร 2452-2495) ส่วน + 1 ก็คือ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ (สมุทรสาคร 2455-2492) โปรดสังเกตว่าปีเกิดของคนเหล่านี้อยู่ในช่วงปลายรัชการที่ 5 ต้นรัชกาลที่ 6 หรือราวๆ ค.ศ. 1910 ทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษใหม่ อายุอ่อนกว่าฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ (เกิด 2444/1900) ประมาณ 10 ปีเช่นกัน


#สนใจติดตามข่าวสารกิจกรรมห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์ ได้ที่
FACEBOOK: ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์
Website : http://bangkoklibrary.go.th/web19
โทร. 02-376-1400