Main Menu
BANGKOK PORTAL

  • ไทย
  • Eng

สาระน่ารู้

15 กันยายน #วันประชาธิปไตยสากล (International Day of Democracy)


 
     นับจากประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตยที่ดำเนินมากว่า 2,000 ปีเป็นอย่างน้อยนั้น ปรากฏหน่ออ่อนและพื้นฐานการศึกษาของประชาธิปไตยนับตั้งแต่กรีก ก่อนที่จะเฟื้องฟูอีกครั้งในยุคสมัยใหม่ (Enlightenment) หรือในยุคการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) เมื่อมนุษย์สามารถกลับมาตั้งคำถามกับตนเองและใคร่ครวญต่อรูปแบบต่างๆ ของสรรพสิ่ง รวมไปถึงรูปแบบการปกครองตนเอง นำมาสู่ข้อถกเถียงถึงรูปแบบและการปกครองประชาธิปไตยอีกครั้ง ก่อนที่ปรากฏเหตุการณ์และความพยายามต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบบประชาธิปไตยนี้ในทั่วทุกมุมของโลกขึ้นตลอดระยะเวลาไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมานี้เอง
.
     สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ได้ประกาศและกำหนดให้วันที่ 15 กันยายนของทุกปี เป็น “วันประชาธิปไตยสากล” นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 หรือปี ค.ศ. 2007 เพื่อส่งเสริมให้นานารัฐและประเทศ รวมไปถึงพลเมืองโลกได้เรียนรู้ถึงความเป็นมาและความสำคัญของระบอบประชาธิปไตย อันให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการกำหนดทิศทางสังคมผ่านการปกครองด้วยตนเองร่วมกัน
.
     มติของที่ประชุมดังกล่าวมีใจความสำคัญว่า “ขณะที่ประชาธิปไตยมีมาตรฐานอย่างเดียวกัน แต่ไม่มีรูปแบบหนึ่งเดียว และซึ่งประชาธิปไตยนั้นจะต้องไม่เป็นเพียงของรัฐใดรัฐหนึ่ง หรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น ประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่สูงส่ง อันตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีของประชาชน เพื่อที่จะตัดสินระบบทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และสามารถมีส่วนร่วมกับระบบการปกครองได้ในทุกขั้นตอนของชีวิต”
.
     หรือย้อนกลับไปถึง “คำประกาศว่าด้วยประชาธิปไตย” (Universal Declaration on Democracy) เมื่อวันที่ 16 กันยายน 1997 หลักการประชาธิปไตยสากลข้อหนึ่งซึ่งเคยประกาศไว้โดย องค์การสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ (Inter-Parliament Union, IPU) ที่ว่า “ประชาธิปไตยเป็นทั้งอุดมคติและเป้าหมายในระดับสากล ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานค่านิยมร่วมกันของประชาชนทั่วชุมชนโลก โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม การเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นพลเมืองที่จะใช้สิทธินั้น”
.
     เช่นเดียวกัน อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ได้เคยกล่าวถึงรากฐานประชาธิปไตยในเรื่องอันเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ และหน้าที่ของประชาชนที่ว่า “สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคซึ่งมนุษย์จะต้องใช้พร้อมกันกับหน้าที่… ถ้าชนส่วนมากซึ่งเป็น “สามัญชน” ถูกตัดสิทธิมนุษยชนโดยให้มีหน้าที่แต่อย่างเดียว สามัญชนก็มีลักษณะเป็นทาส จึงไม่ใช่ประชาธิปไตย ถ้าสามัญชนมีสิทธิอย่างเดียว โดยไม่มีหน้าที่มนุษยชนแบบการปกครองก็เกินขอบเขตของประชาธิปไตย” [ส่วนหนึ่งจาก ประชาธิปไตยเบื้องต้นสำหรับสามัญชน ใน แนวคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์