Main Menu
BANGKOK PORTAL

  • ไทย
  • Eng

สาระน่ารู้

20 มิถุนายน 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนา ปกป้องประชาธิปไตย ยึดอำนาจกลับคืนสู่ราษฎรไทย

 
     ชีวิตของระบอบใหม่หลังการอภิวัฒน์​สยาม 2475 ราว 1 ปี มีทั้งผลงานจากรัฐบาลคณะ​ราษฎร​คือ รัฐบาลพระยามโนปกรณ์​นิติธาดาที่มาจากการประนีประนอมหลังจากมีเอกภาพในระยะแรก มีนโยบายที่ดำเนินตามหลัก 6 ประการ อันมีหัวใจสำคัญคือ บำรุงความสุขสมบูรณ์​ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ​ สังคม และการเมืองในระบบรัฐสภาที่มีรัฐธรรมนูญ​ก็ได้เกิดความชะงักงันจากฝ่ายปฏิกิริยาโดยการรัฐประหารปิดสภาฯ ครั้งแรก และส่งผลให้นายปรีดี พนมยงค์​ ต้องลี้ภัยครั้งแรกในเดือนเมษายน 2476
.
     ดังนั้น การตอบกลับเพื่อปกป้องระบอบรัฐธรรมนูญ​และประชาธิปไตยของคณะ​ราษฎร​ภายในการนำของพระยาพหลพลพยุหเสนา​จึงเกิดขึ้นในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 เพื่อนำอำนาจและประชาธิปไตย​คืนสู่ราษฎรสยาม
.
     เอกสารทางประวัติศา​สตร์​สำคัญที่แสดงถึงจุดมุ่งหมายในการยึดอำนาจเพื่อปกป้องประชาธิปไตยของพระยาพหลพลพยุหเสนา​และคณะราษฎรในครั้งนี้คือ จดหมายของพระยาพหลพยุหเสนาที่กราบเรียนพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และสะท้อนให้เห็นปัญหาการปกครองประเทศของรัฐบาลฯ พระยามโนปกรณ์​ฯ ไว้อย่างละเอียดว่า
.
ปารุสกวัน แผนกทหาร
วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
.
กราบเรียน พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี
.
     ด้วยคณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ได้พิจารณาลงมติเห็นพร้อมกันเป็นเอกฉันท์ว่า จำเดิมแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินสยามโดยการกระทำของคณะราษฎรเป็นต้นมาจนบัดนี้ก็จวนเจียนจะรอบปีอยู่แล้ว คณะรัฐมนตรีซึ่งมีใต้เท้าเป็นนายกฯ มาจนได้บริหารราชการแผ่นดินไปมากมาย มีกิจการหลายอย่างซึ่งดำเนินไปโดยชอบด้วยทำนองครองธรรมและก่อให้เกิดคุณประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองสมดังความมุ่งหมายของผู้ที่สละชีวิตเลือดเนื้อเพื่อใคร่เห็นความเจริญของประเทศอยู่บ้าง แต่ก็มีกิจการอื่นอีกมากมายซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ดำเนินไปอันก่อให้เกิดความไม่พึงประสงค์ของบุคคลทั่วไป และของทหารบก ทหารเรือ ถ้าได้พิจารณาโดยถ่องแท้แล้ว เห็นว่า การบริหารราชการแผ่นดินเท่าที่คณะรัฐมนตรีได้ปฏิบัติการมานั้นก็มีแต่จะทำให้ประเทศและชาติอันเป็นที่รักยิ่งของเราดำเนินไปสู่ความหายนะเป็นเที่ยงแท้
     ฉะนั้น เพื่อเห็นแก่อิสรภาพ ความสงบเรียบร้อย ของบ้านเมือง คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือ จึงใคร่ให้ใต้เท้าพร้อมทั้งคณะสละตำแหน่งที่ประจำอยู่ในบัดนี้เสีย และขอให้ใต้เท้า ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงเปิดสภาผู้แทนราษฎรและเลือกตั้งคณะรัฐมนตรีต่อไป ถ้าหากการนี้ขัดข้องไม่สามารถดำเนินไปโดยทันทีดังที่กราบเรียน คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน จะได้เชิญกระผม นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา มาเป็นผู้รักษาพระนครบริหารราชการแผ่นดินสืบไป
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา
.
     เมื่อปกป้องประชาธิปไตยสำเร็จ พระยาพหลพล​พยุหเสนา​และคณะฯ ได้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันถัดมาเพื่อสานต่องานตามเจตนารมณ์​ของการอภิวัฒน์ และเพื่อประโยชน์แก่ราษฎรสยามตามหลัก 6 ประการในทันที
.
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :
- พันตรี พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา : เล่าถึงคุณพ่อผู้เป็นแบบอย่างของการดำเนินชีวิต โดยสถาบันปรีดี พนมยงค์ https://pridi.or.th/th/content/2021/03/652
- พระยาพหลฯ กับพระปกเกล้า : ความร่วมมือและความขัดแย้ง 1 ปีหลังการอภิวัฒน์ โดย สุพจน์ ด่านตระกูล https://pridi.or.th/th/content/2024/03/1903
- พระยาพหลพลพยุหเสนา : การยึดอำนาจทวงคืนประชาธิปไตย หลังวิกฤติการณ์ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” โดย ไพบูลย์ กาญจนพิบูล https://pridi.or.th/th/content/2023/06/1578
- พระยาพหลพลพยุหเสนากับโรงงานน้ำตาลไทยลำปาง โดย ศรัญญู เทพสงเคราะห์ https://pridi.or.th/th/content/2024/02/1851
- การลี้ภัยครั้งแรกของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม โดย วัลยา https://pridi.or.th/th/content/2022/04/1055
- การรัฐประหารครั้งแรก 2476 : ละเมิดรัฐธรรมนูญและปิดสภา โดย ไสว สุทธิพิทักษ์ https://pridi.or.th/th/content/2023/04/1472
.
#ขอบคุณข้อมูล : สถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Institute