Main Menu
ไทย
Eng
ติดต่อเรา
แบบสอบถาม
โพลล์สำรวจ
สมัครสมาชิกห้องสมุด
Facebook
หน้าหลัก
ข้อมูลห้องสมุด
รู้จักหอสมุด
บริการ
หนังสือและสิ่งพิมพ์
ยืม-คืน อุปกรณ์
ห้องค้นคว้า
ห้องวีดีทัศน์
จอง/ขอใช้บริการ
ตู้ล็อกเกอร์
ฟรีอินเตอร์เน็ต
บริการอื่นๆ
อีบุ้คและมัลติมีเดีย
หนังสือและสิ่งพิมพ์
บรรณนิทัศน์ออนไลน์
หนังสือดีที่น่าอ่าน
นิตยสารดีที่น่าอ่าน
หนังสือใหม่
E-Books
บทความ
สาระน่ารู้
แหล่งความรู้อื่นๆ
สารสนเทศขบวนการเสรีไทย
ข่าวสาร/กิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์ห้องสมุด
ปฏิทินกิจกรรม
กิจกรรมประจำสัปดาห์
กิจกรรมประจำสัปดาห์
มุมดีๆ ที่เสรีไทย
สารสนเทศขบวนการเสรีไทย
E-Books
ระบบสืบค้นหนังสือ
ถาม ตอบ
หนังสือแนะนำ
หนังสือดีที่น่าอ่าน
นิตยสารดีที่น่าอ่าน
หน้าแรก
บทความ
สาระน่ารู้
สาระน่ารู้
กลับไปหน้าหลัก
3 สิงหาคม 2459-2567 108 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล
3 สิงหาคม 2459-2567
108 ปี ชาตกาล
ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล
อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอน และเสรีไทยในประเทศ
.
ศาสตราจารยกนต์ธีร์ ศุภมงคล เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2459 ในย่านถนนทรงวาด กรุงเทพมหานคร ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญต่อมาในปี 2476 ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นช่วงที่โรงเรียนกฎหมายอยู่ในระหว่างการโอนย้ายมาเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ศาสตราจารย์กนต์ธีร์จึงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาธรรมศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) ในปี 2478
.
หลังจากนั้นเป็นนักเรียนทุนกระทรวงการต่างประเทศ โดยทางราชการส่งไปศึกษาวิชากฎหมายในประเทศฝรั่งเศส ในปี 2480 ที่มหาวิทยาลัยกรุงปารีส และได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงด้านกฎหมายมหาชน (พฤษภาคม 2481) และด้านเศรษฐศาสตร์ (พฤศจิกายน 2481) ทั้งยังได้สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกทางนิติศาสตร์ (เกียรตินิยม) ในเดือนพฤษภาคม 2483 ภายหลังเมื่อกลับสู่มาตุภูมิจึงเข้ารับราชการในกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อปี 2484
.
ครั้นเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นมีการรุกล้ำอธิปไตยและเอกราชของชาติโดยจักรวรรดิญี่ปุ่น เหตุดังกล่าวนำไปสู่การจัดตั้ง "ขบวนการเสรีไทย" ในประเทศขึ้นภายใต้การนำของ 'นายปรีดี พนมยงค์' ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และรัฐบุรุษอาวุโส ณ ขณะนั้น ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ถูกกระทรวงต่างประเทศเรียกตัวกลับเข้ารับตำแหน่งหัวหน้ากองการเมือง และได้รับคำชักชวนจาก 'นายทวี ตะเวทิกุล' เพื่อให้เข้าร่วมปฏิบัติการของขบวนการเสรีไทย
.
ภารกิจในด้านการทูตของขบวนการเสรีไทยถือเป็นภารกิจที่สำคัญ หนึ่งในบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากนายปรีดีให้รับผิดชอบต่อหน้าที่ดังกล่าว คือชายหนุ่มในวัยเพียง 20 ปีเศษ ผู้ใช้นามแฝงว่า 'สุนี เทพรักษา' หรือนามจริงคือ 'กนต์ธีร์ ศุภมงคล' ในฐานะนักการทูตใต้ดิน หรือเสรีไทยผู้ไร้ปืน
.
ในช่วงสงครามราวเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 ศาสตราจารย์กนต์ธีร์พร้อมกับ 'นายสงวน ตุลารักษ์' ได้รับมอบหมายจากนายปรีดีเพื่อเดินทางไปเจรจาต่อสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ โดยอาศัยสายงานของ โอ.เอส.เอส ด้วยจุดประสงค์การแถลงต่อรัฐบาลฝ่ายสัมพันธมิตรในจุดยืนของประเทศไทยที่มิได้เป็นปฏิปักษ์ ตลอดจนความเคลื่อนไหวของกิจการ การดำเนินงานต่อต้านญี่ปุ่นของขบวนการเสรีไทย
.
อนึ่ง หลักการสำคัญของภารกิจครั้งนี้คือ การยืนยันว่าการประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตรโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในครั้งนั้นเป็นโมฆะและขัดต่อเจตนารมณ์ของราษฎรไทย ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ได้รับคำสั่งโดยละเอียดถึงแนวทางที่นายปรีดีประสงค์จะให้ไปปฏิบัติในสหรัฐอเมริกา ดังปรากฎในตอนหนึ่งของบันทึกความว่า
.
"ท่านเริ่มด้วยการขอบใจข้าพเจ้าที่ยอมรับเดินทางออกไปนอกประเทศแทนคุณทวี ท่านเตือนว่าการไปครั้งนี้มิใช่การเดินทางธรรมดา จะต้องไม่คำนึงถึงความสะดวกสบายส่วนตัว จะต้องเสี่ยงภัยตลอดทาง ข้าพเจ้าจะต้องไปในลักษณะแอบแฝง ตามแต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายอเมริกาจะจัดให้ ข้าพเจ้าจะไม่มีสิทธิเสรี เขาจะให้ทำสิ่งใดก็ต้องทำสิ่งนั้นจนกว่าจะถึงกรุงวอชิงตัน ข้าพเจ้าจึงจะเปลี่ยนไปอยู่ในคณะของท่านทูตเสนีย์ ปราโมช ช่วยทูตในการเจรจากับรัฐบาลอเมริกัน และถ้าสามารถเป็นไปได้กับฝ่ายอังกฤษ"
.
ณ สถานอัครราชทูตไทยกรุงวอชิงตัน ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ได้แจ้งแก่ทางการของสหรัฐอเมริกาถึงสถานการณ์ภายในประเทศไทยตลอดจนแนวคิดและภารกิจของนายปรีดีที่ได้มอบหมายไว้ ในท้ายที่สุด เมื่อภารกิจในสหรัฐอเมริกาดังกล่าวก็บรรลุผลสำเร็จพร้อมด้วยข้อกังวลของอังกฤษที่มีต่อไทยในขณะนั้นก็ได้บรรเทาลง
.
เมื่อกลับสู่ยังประเทศไทย ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ยังได้รับความไว้วางใจและปฏิบัติงานกับนายปรีดีอย่างใกล้ชิดโดยมีหน้าที่ร่างโทรเลขติดต่อกับหน่วย โอ.เอส.เอส. ที่ฐานทัพแคนดีอักทั้งได้ติดต่อกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในด้านฝ่ายของกรุงวอชิงตันผ่านหน่วย โอ.เอส.เอส. ที่ประจำการอยู่เมืองไทย และยังได้เล่าถึงประการณ์ในช่วงเวลานี้ไว้ว่า
.
“งานของกรมการเมืองตะวันตกยามสงครามย่อมมีน้อย เปิดโอกาสให้ข้าพเจ้าไปช่วย “รู้ธ” ในการดำเนินงานใต้ดินของท่าน ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้ประจำอยู่กับผู้แทนของ โอ.เอส.เอส. ในกรุงเทพฯ ซึ่งในตอนนั้นมีพันตรีกรีนลีเป็นหัวหน้า ตามปกติเมื่อข้าพเจ้าไปราชการที่กรุงวอชิงตัน เวลามีปัญหาที่จะติดต่อกับผู้แทน โอ.เอส.เอส. “รู้ธ” ได้อาศัย คุณทวี ตะเวทิกุล ซึ่งเป็นผู้แทนประจำพวก โอ.เอส.เอส. อยู่ ต่อเมื่อมีเรื่องสำคัญ “รู้ธ” จึงจะมาพบพวก โอ.เอส.เอส. ด้วยตัวเอง”
.
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ในฐานะผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศเป็นหนึ่งในบุคคลในคณะผู้แทนรัฐบาลเดินทางไปยังเมืองแคนดีเพื่อเจรจาทำสัญญายกเลิกสถานะสงคราม พร้อมทำหน้าที่ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายอเมริกาติดตามการเจรจาระหว่างอังกฤษกับไทย
.
และบทบาททางด้านการเมืองและการต่างประเทศในทศวรรษ 2490 เริ่มต้นอย่างแหลมคมจากกรณีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตจึงมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือมีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ในช่วงเวลานี้ ศาสตราจารย์ กนต์ธีร์จึงทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศในบทบาทข้างราชการประจะโดยไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับงานการเมืองและรัฐบาล
.
ในวันที่ 1 มีนาคม 2492 ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีตัวจริงของกรมการเมืองตะวันตก แล้วได้ย้ายไปเป็นอธิบดีกรมสหประชาชาติและทำงานมาจนถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2495 จึงได้รับแต่งตั้งออกไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศออสเตรเลีย และเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศนิวซีแลนด์ในเวลาต่อมา จนกระทั่งได้กลับเข้ามาเป็นอธิบดีกรมสหประชาชาติอีกครั้งในวันที่ 14 ธันวาคม2502 และดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ บทบาททางการเมืองในบั้นปลายช่วงทศวรรษ 2520 คือได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
.
ชีวิตและการทำงานของ 'ศาสตราจารย์ กนต์ธีร์ ศุภมงคล' ได้ปฏิบัติหน้าอย่างเต็มกำลังความสามารถโดยเฉพาะในด้านการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งจำเป็นต่อชาติทั้งในยามสงคราม ในรัฐบาล โดยเฉพาะที่โดดเด่นทางด้านการต่างประเทศด้วยมีความมุ่งหวังคือการทำงานเพื่อสันติภาพนับตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตราชการตลอดจนวาระสุดท้ายของชีวิต'ศาสตราจารย์กนต์ธีร์ได้ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 สิริรวมอายุได้ 95 ปี
.
และผลงานที่สำคัญในห้วงชีวิตของท่านคือ การวิเทโศบาย และพันธกิจเสรีไทยในช่วงเวลาสงครามซึ่งได้ปฏิบัติการอย่างเฉียบคม มีคุณูปการต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง เนื่องในวาระชาตกาล 108 ปี ของศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล ทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ จึงขอย้อนรำลึกถึงชีวประวัติ ผลงาน และบทบาทของท่านมา ณ ที่นี้
.
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่ :
- “สุนี เทพรักษา” นักการทูตเสรีไทยที่ไม่ควรลืม” โดยศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล
https://pridi.or.th/th/content/2022/12/1377
- "การรักษาความเป็นกลางของประเทศไทย" โดยศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล
https://pridi.or.th/th/content/2022/08/1204
- "คลองกระกับปัญหาความมั่นคง" โดยศาสตราจารย์กนต์ธีร์ ศุภมงคล
https://pridi.or.th/th/content/2022/02/985
แชร์