Main Menu
BANGKOK PORTAL

  • ไทย
  • Eng

สาระน่ารู้

คนไทยหรือเปล่า?

 
คนไทยหรือเปล่า? คำถามจำเป็นในอดีต เมื่อมีสัญญาเบาริ่ง
สมัยรัชกาลที่ 4 สยามตกลงทำ “สนธิสัญญาเบาริ่ง” ทำให้คนต่างชาติเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น ชาวต่างชาติเหล่านี้อยู่ภายใต้การคุ้มครองอันเป็นสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ซึ่งรวมไปถึงคนในบังคับของประเทศต่างๆ เหล่านั้น โดยไม่เลือกเชื้อชาติที่เรียกว่า “สัปเยก” คนต่างประเทศและคนในบังคับนี้มีสิทธิพิเศษ คืออยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศต้นสังกัด ไม่ต้องขึ้นศาลไทย และมีสิทธิพิเศษอีกหลายอย่าง เช่น ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน, ไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร, มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา (คริสต์) เป็นต้น
สนธิสัญญาฉบับนี้จึงยังมีผลบังคับใช้เรื่อยมา จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่โลกกำลังตื่นในลัทธิชาตินิยมก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ขณะที่บทบาทและจำนวนของคนต่างชาติ และคนในบังคับต่างชาติมีจำนวนมากขึ้นทุกวัน รัฐบาลสยามจึงออก “พระราชบัญญัติสัญชาติ” ขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2456 เพื่อจำแนกแยกแยะความเป็น “คนไทย” และ “คนในบังคับต่างประเทศ” ให้ชัดเจนในทางกฎหมาย ซึ่งโดยหลักเกณฑ์นั้นอาศัยชาติกำเนิด และถิ่นกำเนิดเป็นหลักในการพิจารณา
เหตุที่ต้องแยกแยะคนไทยและคนต่างชาติให้ชัดเจน ก็เพื่อที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสยามจะได้ปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านั้นได้ถูกต้องตามกฎหมาย และสนธิสัญญาที่ทำกันไว้ระหว่างรัฐต่อรัฐ นี่คือเหตุผลที่ต้องรู้ให้ชัดเจนว่า ใครคือคนไทย และใครคือคนต่างชาติ
บุทคนเหล่านี้ได้บัญญัติว่าเปนคนไทย คือ
1. บุทคนผู้ได้กำเนิดแต่บิดาเปนคนไทย แม้เกิดในพระราชอาณาจักรสยามก็ดี เกิดนอกพระราชอาณาจักร์ก็ดี
2. บุทคนผู้ได้กำเนิดแต่มารดาเปนคนไทย แต่ฝ่ายบิดาไม่ปรากฏ
3. บุทคนผู้ได้กำเนิดในพระราชอาณาจักร์สยาม
4. หญิงต่างชาติผู้ได้ทำงานสมรสกับคนไทยตามกฎหมายประเวณี
5. คนต่างประเทศผู้ได้แปลงชาติมาถือเอาสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติ
นี่คือความจำเป็นในขณะนั้นที่ต้องถามว่า “คนไทยหรือเปล่า” เพราะเป็นเรื่องที่ผูกพันอยู่กับสนธิสัญญาซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก หลายครั้งที่ชาติมหาอำนาจใช้การผิดสัญญาเล็กๆ น้อยๆ เป็นข้ออ้างในการยึดครองประเทศ โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องคนในบังคับ
หลง ใส่ลายสือ. “ถามทำไมคนไทยหรือเปล่า” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกันยายน 2546
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ธันวาคม 2564
สนใจติดตามข่าวสารกิจกรรมห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์ ได้ที่
Facebook : ห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์เสรีไทยอนุสรณ์
Tel. 02-376-1400