Main Menu
BANGKOK PORTAL

  • ไทย
  • Eng

สาระน่ารู้

23 สิงหาคม 2567 124 ปี ชาตกาล หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน (พ.ศ. 2443-2567)

 
หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน’ หรือ ‘ท่านชิ้น’ เป็นโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฏ์ กับ ม.ร.ว.เสงี่ยม (สนิทวงศ์) ธิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ และทรงเป็นพระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารําไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7
.
ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท เป็นอดีตผู้นำขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษ ที่รู้จักกันในนามแฝงว่า “อรุณ” โดยท่านมีบทบาทสำคัญในปฏิบัติการ คือทรงสมัครเป็นทหารอังกฤษและทรงปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับคําสั่งซึ่งเป็นงานที่เสี่ยงอันตราย ดังที่ท่านทรงเล็ดลอดเข้ามาในประเทศไทยเพื่อประสานกับกองทัพไทย กองกําลัง 136 (องค์กรข่าวกรองสงครามโลกครั้งที่สองของอังกฤษสาขาตะวันออกไกล) และประสานงานกันระหว่างหัวหน้าขบวนการเสรีไทยหรือนายปรีดี พนมยงค์ ในนามแฝงว่า “รู้ธ” กับกองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรที่แคนดีในศรีลังกา และท่านยังทรงเป็นผู้เจรจาและดำเนินการให้ทางการอังกฤษยินยอมรับนักเรียนไทยและข้าราชการสถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอน เป็นทหารอาสา 36 นายของไทย ประจำการในกองทัพบกอังกฤษเมื่อปี 2485
.
นอกจากได้รับยศพันโทแห่งกองทัพอังกฤษแล้ว ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท ทรงได้รับพระราชทานตรา O.B.E. หรือ Order of the British Empire (Military Division) อีกด้วย โดย ลอร์ด หลุยส์ เมานท์แบทเทน (Lord Louis Mountbatten) เป็นผู้เสนอให้
.
สายสัมพันธ์ระหว่าง ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท กับ นายปรีดี พนมยงค์ นั้น กล่าวได้ว่ามีความเชื่อใจกันและเห็นคุณค่าของกันและกัน อย่างที่พบว่าภายหลังพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของนายปรีดี พนมยงค์ แล้วก็ได้ยืมตัว ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท ไว้ให้ช่วยเหลือประสานงานกับพระเจ้าอยู่หัวก่อน ในขณะเดียวกัน ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท ก็ได้พิสูจน์ความเป็นกัลยาณมิตรด้วยการให้คําปรึกษาหารือในข้อราชการ ให้กําลังใจ ตลอดจนข้อคิดและคําแนะนําที่มีค่าแก่นายปรีดี ดังปรากฏในลายพระหัตถ์หลายต่อหลายฉบับ อาทิ
.
“ตลอดเวลาหลวงประดิษฐ์มัวนึกถึงความปลอดภัยของผู้อื่น เช่น ไปมัวมีกังวลถึงเรื่องความปลอดภัยของเจ้านายที่บางประอิน และความอดอยากของผู้อื่นๆ ซึ่งจะเกิดมีขึ้นเมื่อญี่ปุ่นจะเข้าทําลายต่อตีประเทศไทย ในที่สุด เราต้องบังคับให้หลวงประดิษฐ์จัดการกระทําการตามแผนการปลอดภัยของเราว่า ถ้าเมื่อญี่ปุ่นเข้าตีเมื่อใดแล้ว หลวงประดิษฐ์จะต้องออกเดินทางไปสู่ยังที่ที่ปลอดภัยโดยทันที การเหล่านี้เปนของที่ทางข้าพเจ้าเห็นใจเปนที่สุด เพราะคนเรานั้นย่อมเชื่อแต่คําพูดเท่านั้นไม่ได้ การกระทําของบุคคลนั้นแหละเป็นเครื่องพิสูจน์แห่งความจริงใจของเขาว่าเขามีความจริงในใจแค่ไร” [ทรงนิพนธ์ไว้ในเรื่อง “ลําดับเหตุการณ์ของคณะเสรีไทยในประเทศที่ได้ปฏิบัติ” ในหนังสือ 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์ 23 สิงหาคม 2543 หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน]
.
และในจดหมายที่นายปรีดี พนมยงค์ ในนามรู้ธที่เขียนถึง “อรุณ” ยุคสงครามลงวันที่ 14 มิถุนายน ปี 2488 หรือก่อนวันสิ้นสุดสงครามและประกาศสันติภาพไม่นานแสดงให้เห็นว่านายปรีดีได้ยอมรับในการปฏิบัติงานเสรีไทยและเพื่อชาติของ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท ด้วยความจริงใจและไมตรี
.
“...ขอบใจมากและเห็นอกเห็นใจที่ได้อุส่าห์เพียรพยายามทำด้วยความเต็มใจ เพื่อให้ประเทศชาติของเรา คงเป็นไทยหยู่ตราบเท่าดินฟ้า...”
.
ทั้งในกรณีสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าท่านเป็นเจ้านายเพียงองค์เดียวที่ทรงประกาศเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจถึงความบริสุทธิ์ของนายปรีดี พนมยงค์ ต่อกรณีสวรรณคตรัชกาลที่ 8 ว่านายปรีดีไม่มีความเกี่ยวข้องอันใดและเชื่อว่าเป็นอุปัทวเหตุจากพระองค์เองในขณะที่พระราชวงศ์องค์อื่น ๆ ไม่พอใจและกล่าวว่าเป็นกรรมของนายปรีดีที่ก่อไว้กับราชวงศ์จากการอภิวัฒน์สยาม โดยท่านได้ลงแรงเขียนหนังสือกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวร้อยกว่าหน้า เพื่ออธิบายถึงแผนทางการเมืองของฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการลบล้างและทำลายนายปรีดี พนมยงค์ จนเป็นเหตุให้นายปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยไปต่างแดนในที่สุด
.
บั้นปลายชีวิต ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท ได้กลับมาอยู่เมืองไทยในปี 2495 ณ สวนที่ริมทะเลชะอำจนสิ้นพระชนม์อย่างสงบในวันที่ 22 เมษายน 2520 หากผลงานเพื่อชาติและราษฎรไทยยังคงตราไว้ในลายลักษณ์และบันทึกทางประวัติศาสตร์ตราบนานเท่านาน
.
อ่านบทความ “เสรีไทยราชสกุล “สวัสดิวัตน” : พันโท หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน” ได้ที่นี่ https://pridi.or.th/th/content/2020/08/388