Main Menu
BANGKOK PORTAL

  • ไทย
  • Eng

สาระน่ารู้

9 กรกฎาคม 2479 วันเปิดตึกโดม มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

 
     ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หนึ่งในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร คือด้าน "การศึกษา" เป็นนโยบายสำคัญที่คณะราษฎรต้องก่อตั้งมหาวิทยาลัยเปิด เพื่อให้ราษฎรสามารถเข้าถึงการศึกษาถึงในระดับอุดมศึกษาได้อย่างเสรี โดย 'นายปรีดี พนมยงค์' ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และ 'ดร.เดือน บุนนาค' ได้ชักชวน 'นายหมิว อภัยวงศ์' สถาปนิกผู้จบการศึกษาจาก École des Beaux-Arts ประเทศฝรั่งเศส ให้ดำเนินการออกแบบ ตึกโดม ให้เป็นสัญลักษณ์สำคัญของมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ขึ้น โดยในมิติการออกแบบทางสถาปัตยกรรม ตึกโดมเป็นสถาปัตยกรรมที่มีกลิ่นอายแบบ "ฟื้นฟูโกธิค" (Gothic Revival architecture) อันเป็นรูปแบบการออกแบบที่สำคัญรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสและอังกฤษซึ่งได้รับความนิยมในห้วงเวลาดังกล่าว
.
     นายปรีดีได้ให้แนวคิดแก่นายหมิวว่า ตึกที่จะสร้างควรให้มีลักษณะ โดดเด่น สะท้อนอุดมการณ์ของคณะราษฎร พ.ศ. 2475 ดังหลักข้อที่ 5 ใน “หลักหกประการ” ของคณะราษฎรที่กล่าวว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” หากพิจารณาตึกโดมกับความหมายทางการเมืองโดยเชื่อมโยงกับ “หลักหกประการ” ของคณะราษฎรก็มีความเป็นไปได้ที่อุดมการณ์นี้จะถูกนําเข้ามาผสมผสานเป็นหนึ่งในแนวคิดการออกแบบโดยส่วนที่น่าจะเกี่ยวข้องคือ หน้าต่างเล็ก ๆ ที่ยื่นออกมาจากหลังคาโดมทั้ง 4 ด้านที่มีทั้งหมด 6 ช่อง
โดยมีผู้วิเคราะห์ว่าหากนายปรีดีมีโอกาสให้แนวคิดแก่สถาปนิกเรื่องหลักหกประการก็น่าจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นองค์ประกอบของช่องหน้าต่างทั้ง 6 ช่องนี้ที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่อุดมการณ์นั้นและยังสะท้อนรูปแบบสถาปัตยกรรมใหม่สมัยคณะราษฎรได้เป็นอย่างดีและอาคารปีก 2 ปีกด้านท่าพระจันทร์และ ท่าพระอาทิตย์ที่เป็นอาคารเดิมของค่ายทหาร น่าจะหมายถึงการศึกษาที่แผ่ขยายวง กว้างในหมู่ราษฎร ดังคํากล่าวรายงานของนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันเปิดตึกโดม อย่างเป็นทางการว่า “มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ําบําบัดความกระหายของราษฎรผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา”
.
     ความโดดเด่นของการออกแบบที่แตกต่างจากจารีตสถาปัตยกรรมไทยในเวลานั้น ส่งเสริมให้ตึกโดมเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสร้างบรรยากาศแห่งยุคสมัยใหม่ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สอดรับกับการสร้างสวัสดิการให้มีความเป็นสากลของนโยบายรัฐในยุคคณะราษฎร
.
     หลังจากนั้นมาตึกโดมได้ดำรงสถานะของสัญลักษณ์สำคัญเคียงคู่กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตึกโดมจึงมีความสำคัญในการเป็นเครื่องหมายของการต่อสู้ทางอุดมการณ์และเป็นมรดกชิ้นสำคัญของยุคคณะราษฎร ที่ย้ำความสำคัญของการศึกษา ตามหลัก 6 ประการ
#ขอบคุณข้อมูล : สถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Institute