Main Menu
BANGKOK PORTAL

  • ไทย
  • Eng

สาระน่ารู้

27 พฤษภาคม 2449-2567 118 ปี ชาตกาล พุทธทาสภิกขุ #วันล้ออายุ



 
     วันที่ 27 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวาระชาตกาล หรือ วันเกิดของ 'พุทธทาสภิกขุ' ซึ่งสวนโมกขพลารามจะมีการจัดงาน ‘ล้ออายุ’
.
     งานล้ออายุจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2509 โดยระยะแรกจัดกันในแวดวงส่วนตัว ลูกศิษย์คนสนิท และบุคคลผู้ใกล้ชิดจนกระทั่งพุทธทาสภิกขุมีอายุครบวาระ 5 รอบ และมีผู้มาร่วมงานมากขึ้นจึงได้จัดการบรรยายธรรม 3 เวลาคือ เช้า-บ่าย-กลางคืน หากต่อมาเมื่อท่านสุขภาพไม่ดีนักจึงลดจำนวนครั้งของการบรรยายธรรมะลง
.
พุทธทาสภิกขุได้อธิบายความหมายของการล้ออายุไว้ว่า
.
     “การจัดงานในลักษณะที่เคยหลงอายุ รักอายุ ฉลองอายุ อะไรต่างๆ นี้ ควรจะเปลี่ยนเป็น ล้ออายุ เลิกอายุ แล้วก็เหนืออายุ นั่นแหละคือความหมายที่เป็นการเหนือกิเลส ทำให้เป็นตัวอย่างที่คนข้างหลังจะถือเอาเป็นตัวอย่างได้ให้เป็นการทำลายกิเลส คือ ความเห็นแก่ตัว กูจะไม่เอากับมึง ความเห็นแก่ตัวในความหมายใดๆ ก็ดี” และให้สัมภาษณ์แก่พระประชา ปสนฺนธมฺโม จากหนังสือ "เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา" ว่า ล้ออายุเสมือนการเยาะเย้ยความตายและท้าทายความเชื่อเรื่องการต่ออายุ
"...ที่จริงมันไม่มีอะไรเลย พอถึงวันนั้นก็เทศน์พิเศษนิดหน่อยและก็อดอาหาร แต่ก่อนนี้รู้กันแค่คนวงใน คนภายในที่นับถือกันมาก ๆ ทำกันไม่กี่คน ให้ของขวัญ อดอาหาร แล้วมันก็เพิ่มขึ้นๆ เดี๋ยวนี้อดกันเป็นร้อย ๆ มันไปตื่นเต้นสนใจกันทางกรุงเทพฯ แถวนี้เขาไม่ค่อยสนใจกัน เขาถือว่าขัดขวางเขาเสียอีก เขาต้องการให้มันดี ให้มันครึกครื้น เราไปทำให้มันลด นึกสนุกขึ้นมาอยากล้อพวกที่ต่ออายุชนิดกลัวตาย เราล้ออายุชนิดเยาะเย้ยความตาย..." [เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา, 2555 หน้า 267]
.
     วิธีการทำบุญในวันล้ออายุจะมีลักษณะเฉพาะคือ ให้มีการอดอาหารทั้งวันเพื่อพิสูจน์ว่าการอดอาหารวันเดียวนั้นไม่ตายเหมือนทารกที่เพิ่งเกิด ยังกินอะไรไม่เป็นก็อยู่ได้เหมือนกัน ตลอดทั้งวันที่สวนโมกขพลารามจะมีการฟังธรรม ปฏิบัติธรรม เพื่อ ‘ประหารอาสวกิเลส’ คือ กิเลสที่หมักหมมอยู่ในสันดาน ไหลซึมซ่านไปย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์ต่าง ๆ โดยสามารถดื่มน้ำเปล่า นม หรือ น้ำปานะได้ นับจากการจัดงานวันล้ออายุขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2509 จนถึงปัจจุบัน งานวันล้ออายุยังคงจัดต่อเนื่องมาตลอดทุกปีทั้งที่สวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสวนโมกข์กรุงเทพ
.
     แม้เมื่อท่านพุทธทาสได้ละสังขารไปแล้ว หากปณิธานของท่านทั้ง 3 ประการยังคงได้รับการศึกษา ปฏิบัติ และสืบต่อจากพุทธศาสนิกชนและศาสนชนอื่นที่สนใจคำสอนของท่าน ได้แก่
ประการแรก ให้พุทธศาสนิกชน หรือศาสนิกแห่งศาสนาใดก็ตาม เข้าถึงความหมายอันลึกซึ้งที่สุดแห่งศาสนาของตน
ประการที่ 2 ทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา
ประการที่ 3 ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม
.
     ท้ายที่สุด "งานล้ออายุ" และ "แนวคิดของพุทธทาสภิกขุ" ยังคงปรากฏจนถึงปัจจุบัน ดังคำกลอนของท่านที่ว่า “พุทธทาสจักอยู่ไป ไม่มีตาย”
.
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :
- แนะนำหนังสือ : ปรีดี-พุทธทาส “เทอดรัฐธรรมนูญ” https://pridi.or.th/th/content/2023/05/1516
- ‘พุทธทาส’ เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา : ทฤษฎีกับการปฏิบัติ https://pridi.or.th/th/content/2023/05/1551
- ปาฐกถาปลูกนิสัยให้รักรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2481 ของ พุทธทาส https://pridi.or.th/th/content/2022/07/1166
- บันทึกรายวัน ๒๔๘๕ พุทธทาสภิกขุ : ว่าด้วยเรื่องการพบกับผู้สำเร็จราชการปรีดี พนมยงค์ โดย พุทธทาสภิกขุ https://pridi.or.th/th/content/2021/05/718
- นายปรีดี พนมยงค์ กับท่านพุทธทาส และพระศาสนา https://pridi.or.th/th/content/2020/07/333
#ขอบคุณข้อมูล : สถาบันปรีดี