Main Menu
BANGKOK PORTAL

  • ไทย
  • Eng

ข่าวประชาสัมพันธ์ห้องสมุด

30 สิงหาคม วันผู้สูญหายสากล (International Day of the Disappeared)

 
     องค์การสหประชาชาติได้ตระหนักถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากสถิติการถูกบังคับสูญหายที่เพิ่มมากขึ้นทั่วทุกมุมโลก จึงได้กำหนดให้วันที่ 30 สิงหาคมของทุกปี ตั้งแต่พุทธศักราช 2554 เป็น "วันผู้สูญหายสากล" (International Day of the Disappeared) เพื่อรำลึกถึงบุคคลที่สูญหาย ซึ่งตกเป็น "เหยื่อ" จากการค้ามนุษย์ การละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน ภาวะสงคราม การปราบปรามจากรัฐ หรือการก่อการร้าย
.
     "การบังคับสูญหาย" หรือ "การอุ้มหาย" (Enforced Disappearance) ถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุดต่อมนุษยชาติ เป็นการละเมิดหลักสิทธิและเสรีภาพ อันเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ที่มีติดตัวมาแต่กำเนิด ผ่านวิธีการที่โหดร้ายและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนคนหนึ่งอย่างถึงที่สุด อาทิ การทำร้ายร่างกาย การซ้อมทรมาน การสังหาร การอำพรางร่องรอย และท้ายที่สุดคือการลบเลือนอัตลักษณ์และตัวตนของบุคคลนั้นๆ
.
     ในฉากทัศน์ประวัติศาสตร์ไทย 'การถูกบังคับให้สูญหาย' มีเป้าหมายเพื่อข่มขวัญ และสั่นสะเทือนความรู้สึกของคนในสังคม หรือบุคคลผู้ที่ถูกทำให้สูญหายในไทยช่วงแรกมักจะมีแนวคิดทางการเมืองสวนทางกับรัฐในขณะนั้น โดยเริ่มปรากฏเป็นข่าวและถูกกล่าวถึงในวงกว้างมาตั้งแต่ช่วงการรัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา เช่น เตียง ศิริขันธ์, สี่อดีตรัฐมนตรีอีสาน, หะยีสุหลง, ทวี ตะเวทีกุล, โผน อินทรทัต ฯลฯ และบุคคลที่สูญหายในไทยในช่วงหลังทศวรรษ 2520 ยังเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์เป็นหลักอีกด้วย
.
     ส่วนรายล่าสุดของผู้สูญหายในทางสิทธิมนุษยชนยังคงเกิดขึ้นและยังคงกลายเป็นอาชญากรรมที่ถูกฉายภาพซ้ำในสังคมไทยคือกรณีการถูกบังคับสูญหายของ 'วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์' นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวไทย ที่ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 เวลา 17.00 น. จนถึงวินาทีนี้ยังคงสาบสูญไร้ร่องรอยซึ่งเวลาได้ล่วงเข้าสู่ปีที่ 4 ในปีนี้
.
    ขณะที่ข้อมูลจากคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยบุคคลสูญหาย (ICMP) มีผู้สูญหายในประเทศไทยมากถึง 2,800 คนตั้งแต่ปี 2546-2566 (ไม่รวมถึงผู้สูญหายในเหตุการณ์คลื่นสึนามิปี 2547) จำนวนผู้สูญหายที่สูงสะท้อนถึงความท้าทายที่ยังคงมีอยู่ในกระบวนการเสริมสร้างสถาบันและการปฏิบัติงานของสังคมที่ปกครองโดยกฎหมาย และข้อมูลของมูลนิธิกระจกเงา มีเยาวชนมากกว่า 250 คนสูญหายในปี 2565 มีจำนวนสูงที่สุดในรอบ 4 ปี และสูงกว่าปี 2564 ถึง 25 เปอร์เซ็นต์โดยนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิเด็กได้เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปฏิบัติงานเกี่ยวกับบุคคลสูญหาย ซึ่งตำรวจจะรอ 24 ชั่วโมงหลังจากบุคคลสูญหายก่อนที่จะเริ่มการสืบสวน ซึ่งปัจจุบันไทยยังไม่มีกฎหมายใดที่จะจัดการกับกรณีบุคคลสูญหายทันที
.
- การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ และการบังคับบุคคลให้สูญหาย กับวัฒนธรรมไร้ยางอายในการรับผิด โดย อังคณา นีละไพจิตร ได้ที่ https://pridi.or.th/th/content/2021/09/820