Main Menu
BANGKOK PORTAL

ข่าวประชาสัมพันธ์ห้องสมุด

ห้องสมุดประชาชนหลังสถานการณ์ไวรัสโคโรน่า (Covid-19)
ห้องสมุดประชาชนหลังสถานการณ์ไวรัสโคโรน่า (Covid-19)
การระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 ที่เริ่มต้นระบาดที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ก่อนจะลุกลามไปทั่วโลก ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสตัวนี้ ทำให้มีมาตรการหลายอย่างที่ออกมาเพื่อป้องกัน สกัดกั้น และหยุดยั้งการแพร่ระบาด จนถึงที่สุดต้องมีการประกาศให้ปิดสถานที่ราชการบางแห่งซึ่งอาจจะมีผู้คนไปชุมนุม หรือรวมตัวกัน ห้องสมุดเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่เป็นจุดศูนย์รวมของคนรักการอ่าน ทำให้ต้องมีการประกาศปิดห้องสมุดประชาชน ในอนาคตห้องสมุดต้องปรับตัวอย่างไรที่ยังคงการให้บริการได้ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก หนึ่งในแนวคิดนั้นคือ การปฏิบัติอยู่ที่บ้าน (Work from home) งานยังคงดำเนินต่อไปได้ถึงแม้ว่าบุคลากรของห้องสมุดไม่สามารถมาปฏิบัติงานที่ห้องสมุด ซึ่งคงต้องอาศัยเทคโนโลยีหลายๆ รูปแบบเข้ามาช่วย
แนวทางการให้บริการต่าง ๆของห้องสมุดที่ไม่จำเป็นต้องให้บรรณารักษ์หรือเจ้าหน้าที่มาประจำ
1.การเปิด-ปิดห้องสมุด ต้องใช้เทคโนโลยีการเปิด-ปิดระยะไกล ที่สามารถสั่งการผ่านระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงการเปิด-ปิดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องปรับอากาศ กล้องวงจรปิด และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคอื่น ๆ
2.การบริการฝากกระเป๋า เป็นบริการตู้รับฝากอัตโนมัติ
3.บริการทำบัตรสมาชิก ผู้ใช้บริการสามารถส่งคำขอสมัครและหลักฐานต่าง ๆ ผ่านทางออนไลน์ และใช้บัตรประชาชนเป็นบัตรสำหรับการเข้าใช้บริการ การยืมหนังสือ เป็นต้น
4.บริการยืม-คืนหนังสือ สามารถใช้ระบบตู้ยืม-คืนอัตโนมัติ หากเกินกำหนดเวลาและมีค่าปรับค้างจะไม่สามารถยืมได้
5.บริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้า บรรณารักษ์ต้องกำหนดระยะเวลาในการออนไลน์ผ่านหน้าจอเพื่อตอบคำถามต่าง ๆ ของผู้ใช้บริการ
6.บริการให้คำแนะนำการใช้ห้องสมุดผ่านสื่อสำเร็จรูปในจุดต่าง ๆ ทั่วห้องสมุด เช่น การสืบค้นทรัพยากร ฯลฯ
7.บริการอินเทอร์เน็ต สามารถให้บริการออนไลน์ได้
8.บริการจัดหาหนังสือ วารสารและหนังสือพิมพ์ ต้องใช้การจัดหาแบบรวมศูนย์ ก่อนนำไปให้บริการที่ห้องสมุดประชาชนแต่ละแห่งเป็นประจำ
ปัญหาหลัก ๆ ของการปรับตัวคือ
1.การปรับตัวในการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีของบรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ของห้องสมุด
2.การปรับระบบการบริหารงานเพื่อให้เหมาะสมกับระบบราชการ เพราะห้องสมุดประชาชนส่วนใหญ่เป็นของราชการ
3.บุคลากรทางด้านเทคโนโลยีที่ต้องเพิ่มขึ้นเพื่อการดูแล รักษาระบบ
4.การวางแผนงานต่าง ๆ เพื่อรองรับปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการปรับห้องสมุด
6.การวางแผนด้านการรักษาความปลอดภัย และความสะอาดเรียบร้อยของห้องสมุด
แนวทางเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของการคิดปรับปรุงห้องสมุดประชาชน เพราะว่าในอนาคตยังคงมีปัญหาอีกมากมายที่รออยู่ “หาแนวทางการแก้ปัญหาดีกว่ารอให้ปัญหาเกิดขึ้นแล้วค่อยมาแก้ไข”
จัดทำโดย
ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้วัดพรหมรังษี