ทุกวันที่ 14 มิถุนายนเป็น วันผู้บริจาคโลหิตโลก (World Blood Donor Day) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงแพทย์ผู้ประสบความสำเร็จในการจำแนกหมู่โลหิต ซึ่งถือเป็นความสำคัญอย่างมากต่อการบริการโลหิตทั่วโลก
วันผู้บริจาคโลหิตโลก (World Blood Donor Day) เป็นวันคล้ายวันเกิดของ ดร.คาร์ล ลันด์สไตเนอร์ (Karl Landsteiner) แพทย์ชาวออสเตรีย-อเมริกัน ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1868-1943 ในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ดร.คาร์ล ลันด์สไตเนอร์ เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการจำแนกหมู่โลหิต A, B และ O ซึ่งถือว่าเป็นการค้นพบที่มีความสำคัญยิ่งต่องานบริการโลหิตทั่วโลก จนได้รับรางวัลโนเบล สาขาสรีรวิทยา หรือแพทยศาสตร์ ในปี ค.ศ. 1930 นอกจากนี้ ยังพบว่าการถ่ายเลือดให้กับผู้ที่มีหมู่เลือดเดียวกันไม่ทำให้เซลล์เม็ดเลือดถูกทำลาย ซึ่งการค้นพบเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการต่อยอดในวงการแพทย์มาจนถึงทุกวันนี้ และขณะเดียวกันยังสามารถช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ได้อีกเป็นจำนวนมาก มารู้จักโลหิต หรือ เลือดกันเถอะ
โลหิตมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของเราเป็นอย่างมาก โดยในร่างกายคนเรามีโลหิตอยู่ประมาณร้อยละ 9-10 ของน้ำหนักตัว ซึ่งโลหิตมีส่วนประกอบที่สำคัญดังนี้
1. น้ำโลหิต หรือพลาสมา (Plasma) มีอยู่ประมาณร้อยละ55 ของปริมาณโลหิตที่ไหลอยู่ในร่างกายในน้ำโลหิตประกอบด้วยน้ำร้อยละ 91 นอกนั้นเป็นสารอื่นๆ ได้แก่ เอนไซม์ ฮอร์โมน สารอาหารต่างๆ และแก๊ส รวมทั้งของเสียที่ร่างกายไม่ต้องการ เช่น ยูเรีย แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ โดยน้ำโลหิตทำหน้าที่ลำเลียงสารอาหาร เอนไซม์ ฮอร์โมน และแก๊สกลับไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย และลำเลียงของเสียต่างๆ มายังปอดเพื่อขับออกจากร่างกาย
2. ส่วนที่เป็นของแข็ง ได้แก่ เซลล์เม็ดโลหิต และเกล็ดโลหิต ซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 45 ของปริมาณโลหิตทั้งหมด
ขณะที่หมู่โลหิต คือ การแยกโลหิตของคนเราออกเป็นหมู่ หรือเป็นกรุ๊ป (Group หรือ Type) ตามชนิดของสารชีวเคมี (Biochemicalsubstance) ที่มีชื่อว่า ไกลโคโปรตีน (Glycoprotein) หรือไกลโคไลปิด(Glycolipid) ที่ร่างกายสร้างขึ้นและปรากฏบนผิวเม็ดโลหิตแดงและเรียกว่าแอนติเจน/สารก่อภูมิต้านทาน (Antigen) ซึ่งมีลักษณะจำเพาะในแต่ละหมู่โลหิต
โลหิตของมนุษย์สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้
1. หมู่โลหิตระบบ ABO
2. หมู่โลหิตระบบ Rh Cr. www.tnnthailand.com