11 พฤษภาคม 2443 คือวันเกิดของ ปรีดี พนมยงค์ บุคคลสำคัญของโลก รัฐบุรุษอาวุโส ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย ผู้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย นายกรัฐมนตรี 3 สมัย ผู้ก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้ก่อตั้งและผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หลังประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยได้ 1 ปี ปรีดีขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเล็งเห็นว่าประเทศชาติขาดแคลนบุคคลที่มีความรู้ทางกฎหมายและการปกครองอย่างเร่งด่วน จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476 ขึ้น และสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ในวันที่ 27 มิถุนายน 2477 โดยมุ่งหมายให้มหาวิทยาลัยเปิดกว้างต่อคนส่วนใหญ่ หรือเป็นตลาดวิชาที่ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการศึกษาเล่าเรียนอย่างเท่าเทียมกัน
ปรีดีได้รับแต่งตั้งเป็น ‘ผู้ประศาสน์การ’ คนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัย (ในระหว่างปี 2477-2495) และได้กล่าวสุนทรพจน์ในวันสถาปนามหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา” โดยวิชาที่เปิดสอนในตอนนั้นแบ่งเป็น 2 สาขา คือ กฎหมายและบัญชี ซึ่งในปีแรกมีผู้สมัครเข้าศึกษาถึง 7,094 คน
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เกิดการรัฐประหารในรัฐบาลสมัยพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ปรีดีจำต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศจีนและฝรั่งเศส และไม่ได้กลับมาอีก รัฐบาลได้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยให้เหลือเพียงคำว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อไม่ให้นักศึกษายุ่งเกี่ยวกับการเมือง หลังเคยเป็นที่ตั้งศูนย์บัญชาการของขบวนการเสรีไทย และมีบทบาทในการเป็นผู้ส่งเสียงต่อต้านสงคราม และเปลี่ยนตำแหน่งผู้ประศาสน์การเป็นตำแหน่งอธิการบดี
นอกจากจะเป็นวันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งจะมีการจัดงานรำลึกถึงโดยสถาบันปรีดี พนมยงค์ วันนี้ยังเป็นวันแรกพบของเหล่านักศึกษาเฟรชชี่ที่จะได้มาทำความรู้จักกับเพื่อนๆ และรุ่นพี่ และมาร่วมทำกิจกรรมวันปรีดีด้วย Cr. www.thestandard.co