Main Menu
BANGKOK PORTAL

วันนี้มีที่มา

วันอัฏฐมีบูชา

     วันอัฏฐมีบูชา คือ วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า หลังเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 8 วัน ซึ่งถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ อีกทั้งยังเป็นจุดกำเนิดของประเพณีต่างๆ ที่ชาวพุทธปฏิบัติสืบต่อกันมา

     ประวัติวันอัฏฐมีบูชา ตรงกับวันใด และมีความสําคัญอย่างไร?

     วันอัฏฐมีบูชา ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือนวิสาขะ (ตรงกับเดือน 6 ของไทย) ประวัติความเป็นมาของวันอัฏฐมีบูชา เริ่มขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว 8 วัน ในครั้งนั้น มัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินารา พร้อมด้วย พระมหากัสสปะเถระ พระภิกษุสงฆ์ และชาวพุทธ ต่างรู้สึกโศกเศร้าเป็นอย่างยิ่ง โดยได้ร่วมกันถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดีย์แห่งกรุงกุสินารา ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า "วันอัฏฐมีบูชา" ซึ่งเป็นวันที่ชาวพุทธผู้เลื่อมใสระลึกถึงคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากพระเพลิงเผาไหม้พระพุทธสรีระแล้ว มัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินารา ได้ทำพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานยังสถานที่ต่างๆ 

     สำหรับความสําคัญของวันอัฏฐมีบูชาในประเทศไทย ยังคงมีประชาชนในบางจังหวัดที่ประกอบพิธีทางศาสนาในวันอัฏฐมีบูชา ด้วยการจัดประเพณีการถวายพระเพลิงพระบรมศพจำลอง เช่น วัดบรมธาตุทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์, วัดใหม่สุคนธาราม อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เป็นต้น

     วันอัฏฐมีบูชา สะท้อนหลักธรรมข้อใดบ้าง? 

     วันอัฏฐมีบูชา เป็นวันสำคัญที่ชาวพุทธควรตระหนักถึง "ความไม่เที่ยงของชีวิต" การเกิด แก่ เจ็บ และตาย ล้วนเป็นสิ่งธรรมดาที่คู่กับมนุษย์ ไม่เว้นแม้แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัจธรรมเหล่านึ้จึงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหนีพ้น ดังนั้น การใช้ชีวิตในแต่ละวัน จึงควรยึดหลัก "สุจริต 3" ในการปฏิบัติตน ได้แก่ กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต หมายถึงการประพฤติดีทั้งทางกาย วาจา และใจ อยู่ในทำนองคลองธรรม ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นนั่นเอง

     การปฏิบัติตนในวันอัฏฐมีบูชา

     กิจกรรมวันอัฏฐมีบูชา 2564 จะมีลักษณะคล้ายกับพิธีกรรมทางศาสนาในวันวิสาขาบูชา พุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญตักบาตร สวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิ รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา ทำจิตใจให้ผ่องใส ซึ่งในบางพื้นที่ก็อาจจัดประเพณีการถวายพระเพลิงพระบรมศพจำลองให้ประชาชนเข้าสักการะบูชา

     วันอัฏฐมีบูชา อาจจะเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่หลายคนไม่คุ้นเคยมากนัก แต่เมื่อได้ศึกษาที่มา และความสำคัญของวันนี้แล้ว จะพบว่าเป็นวันที่สะท้อนหลักธรรมเรื่องความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอน เพื่อไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง

Cr. 
www.thairath.co.th