“…ข้าพเจ้าเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร
บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิ์ออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จและเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าในฐานที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมมาก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์…”
ข้อความนี้คือบางส่วนของคำประกาศสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 เวลา 13.45 น. ซึ่งเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับพระราชหัตถเลขของพระองค์ไว้ในฐานะผู้แทนรัฐบาล
ก่อนหน้านั้นระหว่างการเสด็จประพาสยุโรป รัชกาลที่ 7 ทรงมีโทรเลขมาถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ เป็นเหตุให้ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงทำหนังสือไปถึง พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีถ้อยคำบางส่วนว่า
“…รัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยมากรู้สึกแน่ใจว่าไม่จำเป็นจะต้องประนีประนอมต่อพระองค์ไม่ว่าในเรื่องใดๆ พอใจที่จะขัดพระราชดำริเสียทุกอย่าง ถ้าหากรัฐบาลมีประสงค์จะประสานงานต่อพระองค์ด้วยดีแล้วคงจะกราบบังคมทูลปรึกษาก่อนที่จะดำเนินการอันสำคัญไป ถ้าได้ทำดั่งนั้นความยุ่งยากอย่างหนึ่งอย่างใดก็จะไม่เกิดขึ้นได้ แต่รัฐบาลมิได้ทำดั่งนั้น การใดๆ รัฐบาลทำไปจนถึงที่สุดเสร็จเสียแล้วจึงกราบบังคมทูลพระกรุณา ไม่มีทางที่จะทรงทักท้วงให้แก้ไขโดยกระแสพระราชดำริอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะมีอะไรเหลือนอกจากความขึ้งเคียดแก่กัน…”
“…ตามพฤติการณ์เช่นนี้ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระองค์ไม่ควรจะดำรงราชสมบัติอยู่สืบไป เพราะไม่มีประโยชน์ที่จะช่วยปกปักรักษาผู้ใดได้เลยแล้ว …จึงสมัครพระราชหฤทัยที่จะทรงสละราชสมบัติ…จะโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชหัตถเลขามาภายหลังโดยไปรษณีย์”
หลังทราบเรื่องทางรัฐบาลจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง โดยมีเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) เป็นประธานในการเดินทางไปเข้าเฝ้าและกราบบังคมทูลชี้แจงไกล่เกลี่ยเพื่อทูลเชิญพระองค์เสด็จกลับประเทศไทย แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ
ทั้งนี้ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.2475 รัชกาลที่ 7 ยังทรงพยายามรักษาบทบาทในการบริหารประเทศของพระองค์เอาไว้ แต่ฝ่ายคณะราษฎรไม่ยินยอม จนก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสองกลุ่มอำนาจ เห็นได้จากหนังสือของกรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ รวมถึงในคำประกาศสละราชสมบัติของพระองค์เอง ซึ่งทรงตัดพ้อฝ่ายรัฐบาลที่ไม่ยอมให้พระองค์ได้มีส่วนเลือกสมาชิกสภาประเภทที่ 2 ตามความดังนี้
“…การที่ข้าพเจ้าได้ยินยอมให้มีสมาชิก 2 ประเภทก็โดยหวังว่าสมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งข้าพเจ้าตั้งนั้น จะเลือกจากบุคคลที่รอบรู้การงานและชำนาญในวิธีดำเนินการปกครองประเทศโดยทั่วๆไป ไม่จำกัดว่าเป็นพวกใดคณะใด…แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ขึ้น ข้าพเจ้าหาได้มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย…”
อีกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นก่อนการสละราชสมบัติของพระองค์คือเหตุการณ์กบฏบวรเดช (ตุลาคม 2476) นำโดย พระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งในหนังสือ สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น โดย ม.จ.พูนพิศมัย ดิสกุล ได้กล่าวถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวังไกลกังวลก่อนการกบฏไม่นานว่า เจ้านายพระองค์หนึ่ง “ไปขอเฝ้าในหลวงเป็นไปรเวต, แล้วกราบทูลขอพระราชทานอนุญาตว่าจะเปลี่ยนแปลงใหม่. ในหลวงทรงตอบว่า-ไม่ทรงเห็นด้วยเลย”
หลังจากการเข้าเฝ้าในครั้งนั้น ได้มีผู้เขียนเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน 200,000 บาท จากพระคลังข้างที่ให้แก่พระองค์เจ้าบวรเดช (ซึ่ง ม.จ.พูนพิศมัย ได้ยืนยันในบันทึกเล่มเดียวกันว่า รัชกาลที่ 7 ทรงมิได้รู้เห็นกับการสั่งจ่ายเช็คดังกล่าว-แต่ฝ่ายคณะราษฎรเห็นต่างออกไป) ไม่นานจากนั้นพระองค์เจ้าบวรเดชก็ทรงนำทัพลงมาจากทางเหนือเพื่อหวังยึดอำนาจ แต่ความพยายามของพระองค์ต้องประสบกับความล้มเหลว Cr. www.silpa-mag.com