Main Menu
BANGKOK PORTAL

วันนี้มีที่มา

วันทหารผ่านศึก
     วันทหารผ่านศึก (The Thai Veterans Day) ตรงกับวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ของทุกปี เนื่องจากหลังจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ หรือหลัง สงครามมหาเอเซียบูรพา สิ้นสุดลง มีทหารไทยจำนวนมากที่ถูกปลดประจำการ จึงได้มีเสียงเรียกร้องขอให้ทางการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ทหารเหล่านั้น

     ดังนั้น ในปี พ.ศ.๒๔๙๐ กระทรวงกลาโหมอันเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในด้านนี้โดยตรง จึงได้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ทหารที่ กลับจากปฏิบัติการรบ และช่วยเหลือครอบครัวทหารที่เสียชีวิตในการรบ ต่อมากระทรวงกลาโหมได้เสนอพระราชบัญญัติจัดตั้ง องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ขึ้น โดยได้ผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาล และได้มีการประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๑ จึงได้ยึดเอาวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันทหารผ่านศึก

ในปี พ.ศ.๒๕๑๐ องค์การทหารผ่านศึกได้ปรับเปลี่ยนฐานะมาเป็นองค์การเพื่อการกุศลของรัฐ และเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงกลาโหมและเงินที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นครั้งคราว

     ความเป็นมาของวันทหารผ่านศึก

     ...สงคราม...เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็น ถึงความขัดแย้งของมนุษยชาติ ชนต่างเผ่าต่างพันธุ์แสดงหาอำนาจโดยทำการสู้รบเบียดเบียนกัน ฝ่ายผุ้รุกรานอ้างเหตุผลความจำเป็นต่างๆนานา ฝ่ายที่ต่อสู้ขัดขวางก็ทำไปตามสิทธิและความรับผิดชอบของตน ประเทศไทย เป็นชาติหนึ่งที่มีประวัติการสู้รบอันยาวนาน ...มิใช่เพื่อรุกราน แต่เพื่อการปกป้องเอกราชอธิปไตยและดินแดนไว้ให้ลูกหลานสืบไป บรรพบุรุษของไทยต้องสละชีวิต เลือดเนื้อ เพื่อรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ ชาวไทยทุกคนต่างรำลึกในวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของวีรชนไทย เมื่อถึงวาระอันสำคัญ ลูกหลานไทยทุกคนพร้อมที่จะแสดงความคารวะเพื่อเป็นการรำลึกและเทิดเกียรติของ ท่าน

     อดีต
     จากอดีตมาจนปัจจุบัน เมื่อเกิดศึกสงครามชายไทยต้องถูกส่งออกไปทำการรบ เมื่อสำเร็จสิ้นสงครามก็กลับคืนสู่ภูมิลำเนาเดิม ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารไทยที่ปฏิบัติหน้าที่ในการรบถูกปลดปล่อยอย่างกระทันหัน ทำให้เกิดความเดือดร้อนในการครองชีพ โดยเฉพาะครอบครัวของผู้เสียชีวิตหรือทหารที่พิการทุพพลภาพ ดังนั้น เพื่อหาทางช่วยเหลือทหารผ่านศึกเหล่านี้ รัฐบาลไทยในสมัยนั้น ซึ่งมีพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหมเป็นผู้พิจารณาดำเนินการช่วยเหลือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เรียกว่า "คณะกรรมการพิจารณาหาทางช่วยเหลือทหารกองหนุน" เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ คณะกรรมการชุดนี้ได้ปฏิบัติงานโดยใช้สำนักงานและเจ้าหน้าที่ของกรมเสนาธิการ ทหาร (ปัจจุบันคือ กองบัญชาการทหารสูงสุด) และได้พิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนจากงบประมาณของกระทรวงกลาโหมจำนวนหนึ่ง เพื่อให้การสงเคราะห์แก่ทหารผ่านศึกนอกประจำการเหล่านั้น เนื่องจากปริมาณงานด้านการให้ความช่วยเหลือในการสงเคราะห์ทหารผ่านศึกนอก ประจำการมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การดำเนินงานโดยคณะกรรมการไม่รัดกุมและเหมาะสมกับเหตุการณ์ รัฐบาลจึงจัดตั้ง "องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก" ขึ้นเพื่อให้เป็นหน่วยงานถาวร ทำหน้าที่ให้การสงเคราะห์แก่ทหารผ่านศึกและครอบครัวทหารผ่านศึกโดยตรง โดยได้มีการร่างพระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๑ ซึ่งถือเป็นวันทหารผ่านศึกตลอดมา

     ปัจจุบัน

     ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ สภาทหารผ่านศึกสภากลาโหม และรัฐบาล ได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติเสียใหม่เพื่อเป็นการขยายการสงเคราะห์ ให้รวมไปถึง ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือนและพลเรือน ซึ่งได้กระทำหน้าที่ป้องกันหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคง หรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักร ทั้งภายในและภายนอกประเทศตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนด และรวมถึงทหารนอกประจำการที่มิได้ผ่านศึกด้วย กับทั้งยังได้รวมมูลนิธิช่วยทหารและครอบครัวทหาร ที่ไปช่วยสหประชาชาติทำการรบ ณ ประเทศเกาหลี ให้เข้ามารวมเป็นหน่วยเดียวกับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เพื่อให้การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน พระราชบัญญัตินี้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน

     องค์การสงเคราะห์ทหาร ผ่านศึก ได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ ๕๕ ปัจจุบันมีทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึก และทหารนอกประจำการ ที่ต้องให้การสงเคราะห์ รวมประมาณสามล้านกว่าคน

 

     ภารกิจหลักขององค์การทหารผ่านศึก

     ภารกิจหลักขององค์การทหารผ่านศึก ได้แก่ การให้การสงเคราะห์แก่ทหารที่ผ่านการปฎิบัติการรบ และครอบครัวของทหารที่ปฏิบัติการรบ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๖ ประเภท คือ

     การสงเคราะห์ทางด้านสวัสดิการ เป็นการให้การสงเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องทั่วๆ ไป ที่อยู่อาศัย การศึกษา ตลอดจนให้ความช่วยเหลือด้านอวัยวะเทียม

     การสงเคราะห์ทางด้านอาชีพ โดยการฝึกอบรมและการฝึกอาชีพ ให้ความช่วยเหลือในทางด้านการทำงาน จัดหางานให้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

     การสงเคราะห์ด้านนิคมเกษตรกรรม จัดสรรที่ทำกินในด้านเกษตรกรรมให้ และให้ความช่วยเหลือทางด้านเครื่องมือและวิชาการ

     การสงเคาระห์ด้านกองทุน โดยการจัดหาเงินทุนให้สมาชิกขององค์การทหารผ่านศึกได้กู้ยืมไปประกอบอาชีพ

     การสงเคราะห์ด้านการรักษาพยาบาลให้แก่สมาชิก โดยไม่คิดมูลค่า

     ให้มีการส่งเสริมสิทธิของทหารผ่านศึก โดยการขอสิทธิพิเศษในด้านต่างๆ ให้แก่ทหารผ่านศึก เช่น การขอลดค่าโดยสาร เป็นต้น

     ดอกป๊อปปี้กับวันทหารผ่านศึก

     ดอกป๊อปปี้ สีแดง นั้น เป็นสัญลักษณ์แทน ทหารผ่านศึก ผู้พิทักษ์รักษาประเทศชาติให้มีเอกราชอธิปไตย สีแดงของดอกป๊อปปี้ คือ เลือดของทหารหาญที่ได้หลั่งชโลมแผ่นดินไว้ด้วยความกล้าหาญ เสียสละอันสูงสุด

     การจัดทำดอกป๊อปปี้เพื่อจำหน่ายในวันทหารผ่านศึกเกิดจากดำริของ ท่านผู้หญิง จงกล กิตติขจร ประธานสโมสรสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึก หรือ มูลนิธิสงเคราะห์ครอบครัวทหารผ่านศึกในปัจจุบัน ที่ต้องการจะดำเนินการหาทุนมาช่วยเหลือทหาร และครอบครัวทหารผ่านศึก ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันประเทศจึงได้เลือกเอาดอกป๊อปปี้สีแดง ซึ่งมีประวัติเกี่ยวโยงถึง สมรภูมิฟลานเดอร์ส สมรภูมิเบลเยี่ยม และ เนเธอร์แลนด์ระหว่างสัมพันธมิตร และเยอรมัน ใน สงครามโลกครั้งที่ ๑

     โดยสงครามในครั้งนั้นทหารพันธมิตรได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากสมรภูมินี้มากที่สุด จอมพลเอิร์ล ออฟ เฮก ผู้บัญชาการรบที่นั่นได้เห็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่น่าพิศวงและน่าพิศมัยเกิดขึ้น ณ สมรภูมิดังกล่าว ในบริเวณหลุมฝังศพทหาร โดยมีดอกป๊อปปี้ป่าขึ้นอยู่เดียรดาษทั่วไป ทำให้เกิดเป็นลานสีแดงฉานสวยงาม ตั้งแต่นั้นมา ดอกป๊อปปี้จึงกลายเป็นดอกไม้อนุสรณ์แห่งวีรกรรมของทหารผ่านศึก เตือนใจให้ระลึกถึงเลือดสีแดงของทหารที่ได้เสียสละเพื่อประเทศชาติ

     ฉะนั้น เพื่อระลึกถึงเกียรติภูมิของนักรบกล้าหาญ จึงได้กำหนดให้ดอกป๊อปปี้เป็นดอกไม้ที่ระลึกสำหรับทหารผ่านศึกไทยเช่นเดียวกับในต่างประเทศ และมีการจำหน่ายในวันที่ระลึกทหารผ่านศึก ตั้งแต่ปี ๒๕๑๑ เป็นต้นมา

     นับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้คนทั้งหลายจะได้แสดงความระลึกถึง และช่วยเหลือทหารผ่านศึกและครอบครัว ด้วยการซื้อดอกป๊อปปี้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของทหารผ่านศึก ผู้กล้าหาญ และเสียสละ ตลอดจนเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีและวีรกรรมของเหล่าทหารหาญที่ทำให้เราอยู่กันอย่างสงบสุขบนผืนแผ่นดินไทย และมีอธิปไตยมีชาติ บ้านเมือง ให้ได้อยู่อาศัย ตราบชั่วลูกชั่วหลานจวบจนปัจจุบัน

     อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

     ๓ กุมภาพันธ์ ไม่ได้เป็นเพียงแค่วันสำคัญดังที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น ความสำคัญของวันทหารผ่านศึกยังเกี่ยวข้องกับ "อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ" อนุสรณ์สถานที่จะต้องมีการวางพวงมาลาของบุคคลสำคัญของประเทศเพื่อคารวะดวงวิญญาณของทหารหาญและเหล่าวีรชนคนกล้า ที่มีชื่อจารึกอยู่บนอนุสาวรีย์ เป็นการเทิดเกียรติแก่คนเหล่านั้นที่ได้เสียสละชีพเพื่อชาติ และปกป้องอธิปไตยของชาติไทยในเหตุการณ์พิพาทระหว่างไทยและฝรั่งเศส ในการเรียกร้องดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงคืน

     อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถูกสร้างขึ้นเพื่อจารึกรายนามของทหารหาญและวีรชนที่เสียชีวิตใน สงครามข้อพิพาทแย่งดินแดนระหว่างไทยและฝรั่งเศส รวมทั้งทหารที่เสียชีวิตใน สงครามมหาเอเซียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ ๒) และ สงครามเกาหลี เป็นอนุสาวรีย์กลางเพื่อเทิดทูนวีรชนผู้สละชีพเพื่อชาติทั้งปวง และเพื่อเตือนใจชาวไทยให้ระลึกว่า ชาติไทยนั้นดำรงเอกราชและรักษาความมั่นคงของชาติอยู่ได้ด้วยบรรดา วีรชนนักรบไทย ผู้ซึ่งได้เสียสละชีพเพื่อชาติตลอดมา

     จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ประกอบพิธีเปิดอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕ อนุสาวรีย์แห่งนี้ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กประดับศิลาอ่อน มีรูปทรงเป็นดาบปลายปืน ๕ เล่ม มีความสูงประมาณ ๕๐ เมตร รอบดาบปลายปืนมีรูปปั้นนักรบ ๕ เหล่า คือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ยืนล้อมรอบอยู่ บริเวณใต้รูปปั้นมีแผ่นทองแดงซึ่งเป็นที่จารึกรายชื่อของผู้เสียชีวิต และผู้สละชีพเพื่อชาติจากสงครามต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๓ -๒๔๙๗ รวมทั้งสิ้น ๘๐๑ นาย และมีคำขวัญประจำอนุสาวรีย์ว่า " ใครจะจารึกชื่อในอนุสาวรีย์ก่อนกัน "

Cr. www.fleet.navy.mi.th