Main Menu
BANGKOK PORTAL

วันนี้มีที่มา

วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ

     กิจการวิทยุกระจายเสียงในประเทศไทยมีมาตั้งแต่ พ.ศ.2470 ด้วยพระดำริของ พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และโทรคมนาคมพระองค์ทรงดำริตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้น เมื่อพ.ศ.2471 โดยสั่งเครื่องส่งกระจายเสียงคลื่นสั้นเข้ามาทดลอง และให้อยู่ในความควบคุมของช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์โทรเลข

     ตั้งสถานีที่ตึกที่ทำการไปรษณีย์ปากคลองโอ่งอ่าง ตำบลวัดราชบูรณะเป็นครั้งแรก ใช้ชื่อสถานีว่า “4 พีเจ” ต่อมาได้มีการประกอบเครื่องส่งคลื่นขนาดกลาง 1 กิโลวัตต์ ขึ้น ทำการทดลองที่ตำบลศาลาแดงใช้ชื่อสถานีว่า “11 พีเจ” ซึ่งการใช้ชื่อสถานีว่า “พีเจ” ในยุคนั้น ย่อมาจากคำว่า “บุรฉัตรไชยากร” อันเป็นพระนามเดิมของพระองค์ท่านนั่นเอง หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2473 ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีฉัตรมงคล ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเปิดการส่งวิทยุเป็นปฐมฤกษ์ โดยใช้ชื่อสถานีว่า “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท” ตั้งอยู่ที่วังพญาไท มีกำลังส่ง 2.5 กิโลวัตต์ พิธีเปิดสถานีกระทำโดยอัญเชิญกระแสพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เข้าไมโครโฟนถ่ายทอดไปตามสาย เข้าเครื่องส่งแล้วกระจายเสียงสู่พสกนิกร นับเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุในประเทศไทย

     วิทยุกระจายเสียงเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในกระบวนการสื่อสาร และมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข่าวสาร วิชาการ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคุลมได้กว้างไกลและทั่วทุกพื้นที่ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนมาโดยตลอดตราบจนปัจจุบัน

     จากวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2473 จนถึงปัจจุบัน วิทยุกระจายเสียงมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคงมาตามลำดับ ดังนั้นหากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีเป้าหมายร่วมกัน คือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญแล้ว กิจการวิทยุกระจายเสียงจะเจริญก้าวหน้า เพิ่มพูนคุณประโยชน์และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้สังคมไทยได้ตลอดไป

Cr. www.lib.ru.ac.th