Main Menu
BANGKOK PORTAL

วันนี้มีที่มา

วันสตรีสากล

     ตรงกับวันที่ ๘ มีนาคมของทุกปี (อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ) เป็นวันที่กรรมกรสตรีโรงงานทอผ้าในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วงการเอาเปรียบกดขี่ขูดรีด ทารุณ จากนายจ้าง ที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน เริ่มต้นครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๘๕๗ (พ.ศ. ๒๔๐๐) และมีการชุมนุมประท้วงอีกในวันเดียวกันในปี ค.ศ. ๑๙๐๗ และ ค.ศ. ๑๙๐๘ ต่อมาในวันเดียวกันในปี ค.ศ. ๑๙๑๐ ตัวแทนสตรีจาก ๑๗ ประเทศ ได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ ๒ และประกาศให้วันที่ ๘ มีนาคมของทุกปีเป็น "วันสตรีสากล"
     ประวัติความเป็นมา ของ "วันสตรีสากล" เกิดขึ้นจากกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง ๑๑๙ คน ต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ โดยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๕๗ (พ.ศ. ๒๔๐๐)
     จากนั้นในปี ค.ศ.๑๙๐๗ (พ.ศ. ๒๔๕๐) กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาทนไม่ไหวต่อการเอารัดเอาเปรียบ กดขี่ทารุณของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส เนื่องจากกรรมกรหญิงเหล่านี้ต้องทำงานหนักถึงวันละ ๑๖-๑๗ ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใดๆ เป็นผลให้เกิดความเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก
     ความอัดอั้นตันใจจึงทำให้ "คลาร่า เซทคิน" นักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมันตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรี ด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ.๑๙๐๗ พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ ๘ ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย
     อย่างไรก็ตาม แม้การเรียกร้องครั้งนี้จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลาย ร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ "คลาร่า เซทคิน" และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น
     ต่อมาในวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๐๘ (พ.ศ. ๒๔๕๑) มีแรงงานหญิงกว่า ๑๕,๐๐๐ คน ร่วมเดินขบวนทั่วเมืองนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า "ขนมปังกับดอกกุหลาบ" ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียงพร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตที่ดีนั่นเอง
     นกระทั่งในวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๐ (พ.ศ. ๒๔๕๓) ความพยายามของกรรมกรสตรี กลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก ๑๗ ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ ๒ ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้อง ของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม ๘ คือ ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ ๘ ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก ๘ ชั่วโมง และอีก ๘ ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย
     ทั้งนี้ยังได้รับรองข้อเสนอของ "คลารา เซทคิน" ด้วยการกำหนดให้วันที่ ๘ มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสตรีสากล
     วันสตรีสากล ไม่ได้เป็นเพียงวันที่กลุ่มสตรีทั่วโลกร่วมฉลองกันเท่านั้น แต่เป็นวันที่องค์กรสหประชาชาติได้ร่วมเฉลิมฉลองด้วย และอีกหลายประเทศได้กำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันหยุดประจำชาติของตน กลุ่มสตรีจากทุกทวีปไม่ว่าจะแตกต่างกันโดยเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจหรือการเมืองก็ตาม ได้รวมตัวกันเพื่อฉลองวันสำคัญนี้ เพื่อรำลึกถึงความเป็นมาแห่งการต่อสู้อันยาวนาน เพื่อให้ได้มาซึ่งความเสมอภาคความยุติธรรม สันติภาพและการพัฒนา
     ผลจากการตัดสินใจของที่ประชุม ณ กรุงโคเปนเฮเกน ทำให้มีการจัดกิจกรรมวันสตรีสากล ขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๑ ในประเทศออสเตรีย เดนมาร์ก เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ มีประชาชนทั้งหญิงชายมากกว่า ๑ ล้านคน เข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องสิทธิในการทำงาน การเข้ารับการอบรมในวิชาชีพ และให้ยุติการแบ่งแยกในการทำงานในปีถัดมาได้มีการจัดกิจกรรมวันสตรีสากลเพิ่มขึ้นในประเทศฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน และในปี ค.ศ. ๑๙๑๓ มีการจัดชุมนุมวันสตรีสากลในรัสเซียเป็นครั้งแรก ที่นครเซนต์ปีเตอร์เบอร์ก แม้ว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขัดขวางก็ตาม วันสตรีสากลได้จัดขึ้นโดยเชิดชูคำขวัญของขบวนการสันติภาพ ทั้งนี้เพื่อต่อต้านสงครามที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในยุโรปนับตั้งแต่ปีแรกๆ เป็นต้นมา ความสำคัญของการฉลองวันสตรีสากลได้ทวีมากขึ้น โดยมีสตรีในทวีปแอฟริกา เอเชียและละตินอเมริกา เริ่มร่วมมือกันเพื่อทบทวนความก้าวหน้าของการต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมกัน และเพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งพยายามผลักดันให้มีการตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชนของ สตรีอย่างสมบูรณ์
     ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติตาม พันธสัญญาต่อเวทีโลกที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับบทบาทและสถานภาพสตรี โดยได้มีการดำเนินการทั้งในแง่กฎหมาย นโยบาย มาตรการความรุนแรง และยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ ผู้ใช้แรงงานต้องได้รับการดูแลในด้านสวัสดิการ สุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งผู้หญิงต้องได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติและเท่าเทียม ในฐานะที่ผู้หญิงก็เป็นสมาชิก หนึ่งในสังคม

Cr. 
www.thaiwomen.or.th