Main Menu
BANGKOK PORTAL

วันนี้มีที่มา

วันเอกราชของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา


     บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา

     ข้อมูลทั่วไป
     ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป ไม่มีทางออกทะเล
มีพรมแดนติดกับสาธารณรัฐโครเอเชีย สาธารณรัฐเซอร์เบีย และสาธารณรัฐมอนเตเนโกร

     พื้นที่ ๕๑,๑๒๙ ตารางกิโลเมตร
     เมืองหลวง กรุงซาราเยโว (ประชากร ๓.๘ แสนคน)
     ประชากร ๓.๙ ล้านคน (ปี ๒๕๕๓)
ประกอบด้วย ๓ เชื้อชาติหลัก ได้แก่ บอสเนีย (๔๘.๓%) เซิร์บ (๓๔%) โครอัท (๑๕.๔ %) และอื่นๆ (๒.๓%)

     ภูมิอากาศ ลักษณะอากาศแบบไกลทะเล มีร้อนและหนาวจัด อุณหภูมิเฉลี่ยเดือนมกราคมประมาณ ๐-๕ องศาเซลเซียส และเดือนกรกฎาคมประมาณ ๒๑-๒๕ องศาเซลเซียส
     ภาษา บอสเนียน เซอร์เบียน โครเอเชี่ยน (เซอร์โบ-โครเอเชี่ยน)
     ศาสนา ศาสนาอิสลาม (๔๐%) คริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ (๓๑%) นิกายโรมันคาทอลิก (๑๕%) นิกายโปรเตสแตนท์ (๔%)
     หน่วยเงินตรา marka (KM) อัตราแลกเปลี่ยน ๑.๕๔๐๑๘ KM เท่ากับประมาณ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ
     ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ๑๗.๑๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (๒๕๕๒)
     รายได้ประชาชาติต่อหัว ๔,๒๗๘.๕๕ ดอลลาร์สหรัฐ (๒๕๕๒)
     การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ -๓.๔ (๒๕๕๒)
     ระบอบการปกครอง ประชาธิปไตย โดยปกครองประเทศในรูปแบบคณะประธานาธิบดี ๓ คน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายเซิร์บ ๑ คน ฝ่ายบอสเนียนมุสลิม ๑ คน และฝ่ายโครอัท ๑ คน สับเปลี่ยนกันดำรงตำแหน่งประธานทุก ๘ เดือน ปัจจุบันประธานคณะประธานาธิบดี (Chairman of the Presidency) ได้แก่ Dr. Haris Silajdzic (ฝ่ายบอสเนียนมุสลิม) ดำรงตำแหน่งประธานคณะประธานาธิบดีตั้งแต่เดือนมีนาคม ๒๕๕๓ และจะครบวาระในเดือนพฤศจิกายม ๒๕๕๓ สมาชิกคณะประธานาธิบดี ได้แก่ นาย Zeljko Komsic (ฝ่ายโครอัท) และนาย Nebojsa Radmanovic (ฝ่ายเซิร์บ) ทั้งนี้ สมาชิกคณะประธานาธิบดีชุดข้างต้นได้รับการเลือกตั้งเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๙ และการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๓

     การเมืองการปกครอง

     ๑.การเมืองการปกครอง
     ๑.๑บอสเนียฯ เดิมเป็นสาธารณรัฐหนึ่งในหกสาธารณรัฐซึ่งประกอบขึ้นเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย (Socialist Federal Republic of Yugoslavia หรือ SFRY) ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๙๒ ภายหลังจากที่สาธารณรัฐสโลวีเนีย และโครเอเชีย ได้ประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจาก SFRY ชาวมุสลิมและชาวโครอัทในบอสเนียฯ จึงได้จัดให้มีการลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๒ และได้ประกาศเอกราชจาก SFRY เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๙๒ ทำให้ชาวเซิร์บซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยไม่พอใจ จึงประกาศตนเป็นพันธมิตรร่วมกับชาวเซิร์บในโครเอเชีย ประกาศตนเป็นอิสระ ในขณะที่ชาวโครอัทก็ได้ประกาศยึดครองดินแดนส่วนหนึ่งในบอสเนียฯ ทำให้เกิดการสู้รบระหว่างกันจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองและสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ยืดเยื้อและรุนแรง
     ๑.๒เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๙๕ ผู้นำของโครเอเชีย เซอร์เบีย และบอสเนียฯ ได้ไปร่วมประชุมที่เมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ร่วมลงนามย่อข้อตกลงสันติภาพเมืองเดย์ตัน (Dayton Peace Accord) ซึ่งต่อมาได้ลงนามถาวรที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๕ ข้อตกลงสันติภาพเมืองเดย์ตันต่อมาใช้เป็นรัฐธรรมนูญของบอสเนียฯ เป็นการรับรองอธิปไตยของบอสเนียฯ โดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๒ รัฐ และ ๑ เขตปกครองพิเศษ คือ สหพันธ์บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา (Federation of Bosnia and Herzegovina) มีพื้นที่ร้อยละ ๕๑ และสาธารณรัฐเซิร์บ (Republika Srpska) มีพื้นที่ร้อยละ ๔๙ โดยแต่ละรัฐมีรัฐสภาของตนเอง สำหรับรัฐบาลกลางบอสเนียฯ จะมีคณะประธานาธิบดี (Collective Presidency) และสถาบันกลางอื่น ๆ อาทิ ศาลสูงและธนาคารกลางร่วมกัน ส่วนเขตปกครองพิเศษ (Brcko district) อยู่ภายใต้การปกครองของกองกำลังของสหภาพยุโรป (EU Force – EUFOR) ตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๔๗
     ๑.๓สหประชาชาติได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการควบคุมให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพ Dayton โดยส่งกองกำลังรักษาสันติภาพของนาโต (Stabilization Force or SFOR) ไปยังบอสเนียฯ แต่ความพยายามดังกล่าวยังไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างเต็มที่เนื่องจากความพยายามของพรรคการเมืองแต่ละพรรคในการสร้างฐานทางการเมืองโดยการแบ่งแยกชนชาติและสร้างกระแสชาตินิยมให้แก่ประชาชน
     ๑.๔เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ บอสเนียฯ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเป็นครั้งที่ ๕ นับตั้งแต่มีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพเดย์ตันเมื่อปี ๒๕๓๘ โดยเป็นการเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดี สมาชิกสภา และในระดับรัฐบาลท้องถิ่น ทั้งนี้ โครงสร้างทางการเมืองของบอสเนียฯ ยังคงแบ่งตามกลุ่มเชื้อชาติอยู่ โดยมีคณะประธานาธิบดีประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายเซิร์บ ฝ่ายมุสลิม และฝ่ายโครอัท มาจากการเลือกตั้ง หมุนเวียนกันดำรงตำแหน่งประธานคณะประธานาธิบดี
     ๑.๕ผลการเลือกตั้งคณะประธานาธิบดีสำหรับช่วงระหว่างปี ๒๕๔๙-๒๕๕๓ ปรากฏว่า Dr. Haris Silajdzic ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนคณะประธานาธิบดีฝ่ายมุสลิม โดยมีนโยบายผนวกเขตดินแดนปกครองตนเอง ๒ เขต เข้าด้วยกันซึ่งได้แก่ เขตสหพันธรัฐบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนาที่อยู่ภายใต้การปกครองของชาวบอสเนียน-โครอัท และเขตสาธารณรัฐเซิร์บ สำหรับผู้แทนคณะประธานาธิบดีฝ่ายเซิร์บเป็นของนาย Nebojsa Radmanovic โดยผู้แทนคณะประธานาธิบดีฝ่ายโครอัทได้แก่ นาย Zeljko Komsic จากพรรคฝ่ายค้านทั้งนี้ ประเด็นเรื่องเชื้อชาติและความเป็นชาตินิยมได้เป็นหัวข้อสำคัญในการรณรงค์หาเสียงในครั้งนี้ แม้ว่าอัตราการว่างงานที่สูงและความยากจนเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศก็ตาม
     ๑.๖เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๐ คณะประธานาธิบดีได้แต่งตั้งนาย Nikola Spiric จากพรรค Alliance of Independent Social Democrats (SNSD) ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (Chairman of the Council of the Ministers) ซึ่งมีนโยบายเพิ่มมาตรฐานการครองชีพของประชาชน และเน้นการนำบอสเนียฯเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Euro-Atlantic
     ๑.๗เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๐ นาย Nikola Spiric ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยได้ให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการประท้วงต่อการเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของบอสเนียฯ จากต่างชาติจนเกินขอบเขต ซึ่งมีนัยพาดพิงถึงมาตรการล่าสุดที่เสนอโดยนาย Miroslav Lajcak ผู้แทนพิเศษของสหภาพยุโรป และผู้แทนระดับสูงของประชาคมระหว่างประเทศ โดยต่อมาผู้นำพรรคการเมืองสำคัญ ๖ พรรคได้พยายามแก้ไขวิกฤตการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น โดยได้ประชุมร่วมกันและมีมติเสนอชื่อนาย Nikola Spiric ให้กลับเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในที่สุด เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๐ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้ความเห็นชอบให้นาย Nikola Spiric ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามที่เสนอ
     ๒.นโยบายต่างประเทศ
     นโยบายต่างประเทศของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและคงไว้ซึ่งสันติภาพ ความมั่นคง และประชาธิปไตย โดยเน้นความโปร่งใสควบคู่ไปกับเป้าหมายหลักในเรื่องต่างๆ ดังนี้
     ๒.๑ ด้านพหุภาคี
     รักษาและปกป้องความเป็นอธิปไตย และดินแดนของบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาในพรมแดนที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากล และปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพ (General Peace Agreement - GPA)
     การรวมบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาเข้าในกระบวนการต่างๆ ที่จะผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของยุโรป (European integration)
     เข้าร่วมในกิจกรรมพหุภาคีต่างๆ กล่าวคือ เป็นส่วนหนึ่งในระบบของสหประชาชาติ สภายุโรป (Council of Europe) องค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe – OSCE) องค์การการประชุมอิสลาม (Organization of Islamic Conference – OIC)
     ส่งเสริมให้บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาเป็นหุ้นส่วนในความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ที่มุ่งเน้นให้บอสเนีย ฯ ได้เข้าสู่การเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization - WTO)
     ๒.๒ ด้านทวิภาคี
     ส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สาธารณรัฐโครเอเชีย และเซอร์เบียและมอนเตเนโกร บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน และหลักความเท่าเทียมกัน รวมทั้งให้ความเคารพต่ออธิปไตยและดินแดนซึ่งกันและกัน
     จะพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศสมาชิกของ PeaceImplementation Council Steering Board และกับสหรัฐอเมริกา สหพันธรัฐรัสเซีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส จีน และประเทศสมาชิกอื่นๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป ประเทศในภูมิภาค ประเทศสมาชิกของ OIC และประเทศอื่นๆ ที่เป็นกำลังสำคัญในการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูและบูรณะประเทศบอสเนีย ฯ
     ส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีผ่านทางการจัดทำความตกลงในเรื่องที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศ พัฒนาความร่วมมือทวิภาคีในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วัฒนธรรม การศึกษา และการกีฬา

     เศรษฐกิจการค้า

     ๓. เศรษฐกิจและสังคม
     ๓.๑ ในบรรดาประเทศอดีตยูโกสลาเวียทั้งหมด บอสเนียฯ เป็นประเทศยากจนเป็นอันดับสองรองจากมาซิโดเนีย ในอดีตบอสเนียฯ เป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมทางทหารของยูโกสลาเวีย ปัจจุบันบอสเนียฯ ต้องนำเข้าอาหาร โดยเฉพาะเขตมุลลิมโครอัตยังต้องอาศัยความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากองค์การระหว่างประเทศเป็นหลัก
     ๓.๒ ภาคการเกษตรส่วนใหญ่แม้จะเป็นของเอกชนแล้วแต่ขนาดของกิจการค่อนข้างเล็กและไม่มีประสิทธิภาพ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีการจ้างงานเกินความต้องการ สำหรับภาคเกษตรกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การผลิตข้าวสาลี ข้าวโพด ผลไม้ ผัก ปศุสัตว์ ส่วนภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมไม้ แร่และโลหะ เคมีภัณฑ์และยา ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องหนัง การแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม
     ๓.๓ หลังจากการสู้รบได้ยุติลง เศรษฐกิจบอสเนียฯ ได้รับการพัฒนาอย่างมาก อย่างไรก็ตาม อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงมีความผันผวน ภาระที่เร่งด่วนของรัฐบาลยังคงเป็นเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งจำเป็นต้องมีสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนของ และเป็นระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด ซึ่งปัจจุบัน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นไปอย่างล่าช้า อัตราการว่างงานยังคงสูง
     ๓.๔ สำหรับนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลบอสเนียฯ ชุดนี้ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ได้แก่ การเร่งเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปโดยพยายามสรุปความตกลง Stabilization and Association Agreement (SAA) ซึ่งนับเป็นความร่วมมือในขั้นแรกที่อาจนำไปสู่การเจรจาเข้าเป็นสมาชิกต่อไป ปรับปรุงระบบการเงินให้เข้มแข็ง ปฏิรูปการบริหารรัฐกิจ การเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก และคงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศโดย ทำให้ภาคเอกชนมีความสามารถในการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการดำเนินงานในเรื่องต่างๆ ข้างต้นเป็นไปอย่างไม่ต่อเนื่อง และไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ บอสเนียฯ ได้รับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากสหภาพยุโรปตามแผนงานความช่วยเหลือสำหรับภูมิภาคยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ (Stability Pact for Southeastern Europe) ซึ่งเป็นโครงการให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ควรต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความช่วยเหลือที่จะลดลงในอนาคต

     ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา

     ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
     ๑. ความสัมพันธ์ทั่วไป
     ไทยได้ให้การรับรองบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๓๕ และได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ ทั้งนี้ ไทยได้มอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ มีเขตอาณาครอบคลุมบอสเนีย ฯ และได้แต่งตั้งให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำบอสเนีย ฯ ด้วย สำหรับฝ่ายบอสเนีย ฯ ได้แต่งตั้ง นายมุสตาฟา มูจีซิโนวิก (Mustafa Mujezinovic) เป็นเอกอัครราชทูตบอสเนีย ฯ ประจำประเทศไทยคนแรก โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์
     ๑.๑ ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
ไทยและบอสเนียฯ มีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น แต่ยังไม่เป็นรูปธรรมมากนัก บอสเนียฯ มีความรู้สึกที่ดีกับไทยที่ได้ให้การสนับสนุนบอสเนียฯ โดยเป็นประเทศแรกๆ ที่ให้การรับรองและสถาปนาความสัมพันธ์กับบอสเนียฯ และได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมปฏิบัติการในกองกำลังของสหประชาชาติ

     ๑.๒ ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
การค้าระหว่างไทยกับบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา มีมูลค่า ๔.๒๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี ๒๕๕๒ ซึ่งแม้ว่าจะมีมูลค่าไม่มาก แต่ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๕๒๗.๖๐ โดยประเทศไทยส่งออกเป็นมูลค่า ๔.๑๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าเพียง ๐.๐๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้เนื่องจากการจัดเก็บสถิติของบอสเนียฯ ยังไม่เป็นระบบและล้าหลัง ประกอบกับการที่สินค้าไทยบางชนิด เช่น สินค้าอาหาร ผู้ค้ารายย่อยใช้วิธีเดินทางไปซื้อสินค้าจากประเทศข้างเคียง เช่น ฮังการี โครเอเชีย สโลวีเนีย ออสเตรีย และลักลอบหนีภาษีนำเข้าไปจำหน่าย จึงอาจทำให้สถิติมูลค่าการค้าคลาดเคลื่อนได้ ทั้งนี้ ได้มีสินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายในบอสเนียฯ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอ และผลไม้กระป๋อง และสินค้านำเข้าจากบอสเนียฯ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน แร่/ผลิตภัณฑ์จากแร่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และรองเท้า ซึ่งสินค้าจากประสินค้าไทยที่มีลู่ทางสูง ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า ของใช้จำเป็นในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์พลาสติก โดยเฉพาะสินค้าอาหารซึ่งปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อการบริโภค การขายสินค้าไทยในบอสเนียฯ โดยตรงอาจจะมีความเสี่ยง แต่ก็เป็นตลาดใหม่ที่มีความต้องการสินค้าสูง ทั้งนี้ บอสเนียฯ ได้รับความช่วยเหลือและความสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศและจากนานาประเทศเพื่อช่วยฟื้นฟูบูรณะประเทศ โดยเฉพาะจากสหภาพยุโรปตามแผนงานความช่วยเหลือสำหรับภูมิภาคยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ (Stability Pact for South Eastern Europe) ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจบอสเนียฯ ขยายตัวและเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพมากขึ้น
สำหรับสถิตินักท่องเที่ยวจากบอสเนีย ฯ เดินทางมาประเทศไทยในปี ๒๕๕๒ มีจำนวน ๔๖๘ คน ลดลงจากปี ๒๕๕๐ ซึ่งมีจำนวน ๔๘๒ คน

     ๑.๓ ท่าทีไทยต่อปัญหาบอสเนีย ฯ
          ๑.๓.๑ ไทยยึดถือและปฏิบัติตามนโยบายของสหประชาชาติเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในบอสเนียฯ มาโดยตลอด และไทยสนับสนุนข้อตกลงสันติภาพเดย์ตัน
          ๑.๓.๒ ไทยประสงค์ที่จะเห็นการสนับสนุนจากนานาชาติในการบูรณะฟื้นฟูบอสเนีย ฯ โดยในปี ๒๕๓๘ ไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่บอสเนียฯ ผ่านทางองค์การกาชาดสากล (ICRC) เป็นจำนวน ๑๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ และได้เพิ่มความช่วยเหลือในกรอบการทำงานภาคสนามของ ICRC ในบอสเนียฯ อีก ๒๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ได้บริจาคเงินเพื่อเป็นค่าบำรุงการปฏิบัติการของกองกำลัง UNPROFOR อีก ๑๖๗,๔๓๖ ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งล่าสุดในปี ๒๕๔๔ ไทยได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมแก่บอสเนีย ฯ เนื่องจากประสบภัยพิบัติจากธรรมชาติเป็นจำนวน ๑๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ
          ๑.๓.๓ ไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน ๕ นาย ไปปฏิบัติการในกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างประเทศของสหประชาชาติ (UNIPTF) ซึ่งอยู่ภายใต้ UN Mission in Bosnia-Herzegovina (UNMIBH) เมื่อปี ๒๕๔๑ โดยมีวาระการปฏิบัติหน้าที่ชุดละ ๑ ปี
          ๑.๓.๔ ไทยให้การสนับสนุนข้อมติทุกเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ในบอสเนียฯ ที่เสนอในที่ประชุมของสหประชาชาติ และเห็นด้วยกับการคงกองกำลังปฏิบัติการของสหภาพยุโรป (EU Force – EUFOR) ในบอสเนีย ฯ เพื่อดูแลการปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพเดย์ตัน ดูแลความสงบและเสริมสร้างสภาวะที่เป็นมิตรของเชื้อชาติต่างๆ ในบอสเนียฯ และกับประเทศเพื่อนบ้านต่อไป จนกว่าสถานการณ์ภายในบอสเนียฯ จะมีเสถียรภาพและความสงบสุขมากกว่านี้
     ๒. ความตกลงที่สำคัญๆ กับประเทศไทย
     ๒.๑ ความตกลงทางการค้า (อยู่ระหว่างการพิจารณา)
     ๒.๒ ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (อยู่ระหว่างการพิจารณา)
     ๒.๓ ความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (อยู่ระหว่างการพิจารณา)
     
๒.๔ ความตกลงเพื่อการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูต หนังสือเดินทางราชการ และหนังสือเดินทางพิเศษไทย-บอสเนียฯ (อยู่ระหว่างการพิจารณา)

     ๓. การเยือนที่สำคัญ
     ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนายังไม่เป็นรูปธรรมมากนัก นับตั้งแต่ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน สำหรับฝ่ายไทยนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เคยเสด็จ ฯ เยือนกรุงซาราเยโว เมื่อครั้งที่เสด็จฯ สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย อย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ ๒๑-๒๔ สิงหาคม ๒๕๓๒ โดยได้เสด็จ ฯ กรุงเบลเกรดด้วย สำหรับฝ่ายบอสเนียฯ นายสเวน อัลคาไล (Mr. Sven Alkalaj) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศบอสเนียฯ ได้เยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ซึ่งถือเป็นการเยือนในระดับสูงเป็นครั้งแรกจากฝ่ายบอสเนียฯ

Cr. www.mfa.go.th