Main Menu
BANGKOK PORTAL

วันนี้มีที่มา

วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ

     วันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ของทุกปี นับเป็นวันแรกที่มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุในประเทศไทย โดยกิจการวิทยุกระจายเสียง เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2471 จากดำริของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และการคมนาคม ในสมัยรัชกาลที่ 7 ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น "บิดาแห่งวงการวิทยุกระจายเสียงไทย" ซึ่งได้ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้นที่ตึกที่ทำการไปรษณีย์ปากคลองโอ่งอ่าง ตำบลวัดราชบูรณะ โดยใช้ชื่อสถานีว่า 4 พีเจ (4PJ) ซึ่งต่อมาได้มีการประกอบเครื่องส่งคลื่นขนาดกลาง 1 กิโลวัตต์ ขึ้น ทำการทดลองที่ ตำบลศาลาแดง "หนึ่ง หนึ่ง พีเจ" (11PJ) ซึ่งการใช้ชื่อสถานีว่า "พีเจ" ในยุคนั้น ย่อมาจากคำว่า "บุรฉัตรไชยากร" อันเป็นพระนามเดิมของพระองค์ท่านนั่นเอง

     หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีฉัตรมงคล ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเปิดการส่งวิทยุเป็นปฐมฤกษ์ โดยใช้ชื่อสถานีว่า "สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท" (Radio Bangkok at Phyathai) ตั้งอยู่ที่ วังพญาไท มีกำลังส่ง 2.5 กิโลวัตต์ โดยพิธีเปิดสถานีกระทำโดยอัญเชิญกระแสพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันพระราชพิธีฉัตรมงคล กระจายเสียงสู่พสกนิกร โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า "การวิทยุกระจายเสียงที่ได้ริเริ่มจัดตั้งขึ้น และทำการทดลองตลอดมานั้น ก็ด้วยความมุ่งหมายที่จะส่งเสริมการศึกษา การค้าขาย และการบันเทิงแก่พ่อค้าประชาชน" นับเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดเสียงทางวิทยุในประเทศไทย
     กระทั่ง พ.ศ. 2482 รัฐบาลได้ตั้ง "สำนักงานโฆษณาการ" ขึ้น และโอนสถานีวิทยุต่าง ๆ ให้อยู่ในการควบคุมดูแลของสำนักงานโฆษณาการ หรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน โดยเรียกสถานีวิทยุใหม่ว่า "สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย"

Cr. www.
arit.kpru.ac.th