Main Menu
BANGKOK PORTAL

วันนี้มีที่มา

วันอานันทมหิดล


     ประวัติวันอานันทมหิดล

     วันอานันทมหิดล ตรงกับวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันที่มีความสำคัญ กล่าวคือเป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระผู้พระราชทานกำเนิดคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงดำริที่จะจัดงาน วันอานันทมหิดลขึ้นเป็นประจำทุกปี ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ซึ่งได้สร้างคุณูปการต่อวงการแพทย์และการศึกษา เพื่อเป็นการเผยแผ่พระเกียรติคุณให้เป็นที่ประจักษ์ ตลอดจนเป็นการเฉลิมพระเกียรติล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 8 ให้พสกนิกรได้ร่วมน้อมรำลึกถึงพระองค์สืบไป

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ก่อตั้ง "มูลนิธิอานันทมหิดล" ขึ้น เพื่อสนับสนุนนักเรียนไทย ผู้มีความสามารถทางวิชาการอย่างยอดเยี่ยม มีคุณธรรมสูง ได้มีโอกาสไปศึกษาวิทยาการ จนถึงขั้นสูงสุดในต่างประเทศ เพื่อนำความรู้กลับมาทำคุณประโยชน์ พัฒนาบ้านเมืองให้ก้าวหน้าต่อไป โดยมูลนิธินี้ไม่มีการสอบคัดเลือก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะสรรหา ผู้สมควรได้รับพระราชทานทุน นำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยชี้ขาด

     นอกจากนี้ในวันอานันทมหิดลยังได้ถือเป็นวันสำคัญของโรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งมีกิจกรรมได้แก่ พิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์และพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์เช่นเดียวกัน

     พระราชประวัติขณะทรงพระเยาว์

     พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เป็นพระโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดิลแบร์ค สาธารณรัฐไวมาร์ (ปัจจุบันคือประเทศเยอรมนี) ขณะที่สมเด็จพระราชชนกทรงศึกษาการแพทย์ที่ประเทศเยอรมนี โดยได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า หม่อมเจ้าอานันทมหิดล มหิดล หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล โดยสมเด็จพระราชชนนีทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า นันท พระองค์ทรงมีสมเด็จพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระอนุชา 1 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

     เมื่อทรงพระเยาว์ได้ตามเสด็จสมเด็จพระราชชนกและสมเด็จพระราชชนนีไปยังประเทศต่าง ๆ ทั้งประเทศฝรั่งเศส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐ ซึ่งสมเด็จพระราชชนกทรงเข้าทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐ ในระหว่างปี พ.ศ. 2469 - 2471 แล้วจึงเสด็จกลับประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อพระชนมายุได้ 3 พรรษา ประทับ ณ วังสระปทุม ในระหว่างนั้นสมเด็จพระราชชนกทรงพระประชวรและสิ้นพระชนม์ ดังนั้น พระองค์จึงอยู่ในความดูแลของสมเด็จพระราชชนนีเพียงพระองค์เดียว

     พระองค์ทรงเริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอี และเข้าทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ แต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 สมเด็จพระราชชนนีได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการที่จะทรงนำพระโอรสและพระธิดาไปประทับที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยพระองค์ได้เข้าทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนมีเรมองต์ ต่อมาย้ายไปทรงศึกษาที่โรงเรียน "เอกอลนูแวลเดอลาซืออิสโรมองต์" และทรงศึกษาภาษาไทย ณ ที่ประทับ โดยมีพระอาจารย์ตามเสด็จไปจากกรุงเทพ

     การเสด็จสวรรคต

     ระหว่างที่พระองค์ประทับอยู่ในพระนคร เมื่อคราวเสด็จนิวัติเมืองไทยครั้งที่ 2 นั้น พระองค์เสด็จสวรรคต เนื่องจากถูกพระแสงปืน ณ พระแท่นบรรทมในพระที่นั่งบรมพิมาน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 หลังจากเสวยราชสมบัติอยู่เป็น เวลา 12 ปีเท่านั้น
ปวงชนชาวไทยต่างรำลึกถึงพระเมตตาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณ อันมีเป็นอเนกประการจึงร่วมใจน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน โดยถือเอาวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี เป็น "วันอานันทมหิดล" ในปี พ.ศ. 2528 สมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาลงกรณ์ ได้รวบรวมทุนจากเงินบริจาคของศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ ทุกรุ่นจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้นไว้ หน้าตึกอานันทมหิดลคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อเป็นการรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงบันดาลให้เกิดคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศ ให้ประชาชนได้รำลึกถึงพระองค์ท่านสืบไป

Cr. www.
news.trueid.net