Main Menu
BANGKOK PORTAL

วันนี้มีที่มา

วันพระราชทานธงชาติไทย

     วันที่ 28 กันยายน ของทุกปีถือเป็นวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) และเป็นวันที่ระลึกถึงโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2460 โดยมีสาระสำคัญคือ การประกาศให้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ภายหลังจากมีการประกาศไว้ ณ วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2460

     ทั้งนี้ ธงชาติ ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญอันแสดงถึงความเป็นชาติของประเทศนั้น ๆ ซึ่งประเทศไทยมีการใช้ธงชาติมานานนับร้อยปีแล้ว โดยมีวิวัฒนาการเรื่อยมา กระทั่งเป็น “ธงไตรรงค์” สีแดง ขาว น้ำเงิน ดังเช่นปัจจุบัน กล่าวได้ว่า ธงชาติไทย ในแต่ละยุคสมัยมีบทบาทสำคัญต่อเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในยุคนั้นที่คนรุ่นหลังควรศึกษาและเรียนรู้ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงมีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปี เป็น “วันพระราชทานธงชาติไทย” (Thai National Flag Day) เพื่อระลึกถึงความเป็นมาของธงชาติไทย โดยเริ่มปีแรกในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560

     ตามหลักฐานต่าง ๆ รวมทั้งจดหมายเหตุของฝรั่งเศส ทำให้เราทราบข้อมูลว่า ธงชาติไทยผืนแรกถือกำเนิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยใช้เป็นสัญลักษณ์ในการค้าขายทางเรือในช่วงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งธงชาติไทยผืนแรกนั้นเป็นธงผ้าสีแดงเกลี้ยง โดยมีเรื่องเล่าว่า มีเรือสินค้าของฝรั่งเศสแล่นเข้ามาถึงป้อมของไทย แต่ไทยชักธงชาติฮอลันดาขึ้นรับ เพราะว่าไทยไม่มีธงชาติเป็นของตัวเอง ด้วยความที่ฮอลันดากับฝรั่งเศสไม่ค่อยจะลงรอยกัน เรือฝรั่งเศสก็เลยไม่ยอมยิงสลุตรับธงฮอลันดา (ยิงสลุต คือ การยิงดินปืนออกจากปืนใหญ่ทั้งหมด เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่ามาอย่างเป็นมิตร) ฝ่ายไทยจึงต้องแก้ด้วยการนำธงสีแดงเกลี้ยงขึ้นแทนธงชาติ เรือฝรั่งเศสจึงยอมยิงสลุต ตั้งแต่นั้นไทยจึงถือว่าธงสีแดงเป็นธงชาติ

     ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ ก็มีธงพื้นแดงที่มีรูปจักรสีขาวติดไว้กลางธงแดงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งผืน ซึ่งธงชาติผืนนี้จะใช้เฉพาะเรือหลวงเท่านั้น ทว่าสำหรับเรือค้าขายของราษฎรทั่วไปยังคงใช้ธงสีแดงเกลี้ยงกันอยู่ และยังคงใช้ต่อไปจนถึงสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

     โดยในยุคนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงธงเรือหลวงเพิ่มขึ้นด้วยการนำรูปช้างเผือกไว้กลางวงจักร เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงได้ช้างเผือกมา 3 เชือก ซึ่งตามประเพณีไทยถือว่าเป็นเกียรติยศอย่างยิ่ง จึงนับว่าธงชาติไทยผืนที่ 3 คือธงพื้นแดง มีรูปจักรและช้างเผือกอยู่ตรงกึ่งกลาง

     จนกระทั่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้มีการทำหนังสือสัญญาค้าขายกับชาวตะวันตกในปี พ.ศ. 2398 พระองค์ท่านจึงมีพระราชดำริให้ใช้ธงเรือหลวงเป็นธงชาติ แต่โปรดเกล้าฯให้นำเอารูปจักรออกเสีย เพราะเป็นเครื่องหมายเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน คงไว้แต่รูปช้างเผือกอยู่กลางธงแดง และยกเลิกการใช้ธงสีแดงเกลี้ยงอีกต่อไป จนถึงช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริให้แก้ไขธงชาติไทย โดยเปลี่ยนให้ใช้ธงพื้นแดง ตรงกลางเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หันหลังเข้าเสา และออกประกาศบังคับใช้ธงชาติผืนนี้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2459 เป็นต้นไป

     และในปี พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้เปลี่ยนแปลงธงชาติไทยอีกครั้ง เพื่อเพิ่มความก้าวหน้า เนื่องจากเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร และต้องการให้ธงชาติไทยมีลักษณะคล้ายๆ กับธงชาติของประเทศอื่นๆ ในช่วงนั้น โดยเป็นธงพื้นริ้วขาว แดง แต่ก็ได้เพิ่มสีน้ำเงินเข้าไปด้วยอีกสีหนึ่ง เพราะสีน้ำเงินถือเป็นสีประจำพระองค์ ซึ่งธงในปี พ.ศ. 2460 ก็คือธงไตรรงค์ที่เราใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง (มีการปรับขนาดเล็กน้อยในสมัยรัชกาลที่ 8)

     สำหรับธงชาติไทย หรือธงไตรรงค์ เป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน แบ่งด้านยาวออกเป็น 5 แถบ แถบตรงกลางเป็นสีน้ำเงินแก่ กว้าง 2 ส่วน ถัดจากแถบสีน้ำเงินแก่ทั้ง 2 ข้าง เป็นสีขาว กว้างข้างละ 1 ส่วน และต่อจากแถบสีขาวทั้ง 2 ข้าง เป็นแถบสีแดง กว้างข้างละ 1 ส่วน โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงกำหนดความหมายของสีธงไตรรงค์แบบไม่เป็นทางการในพระราชนิพนธ์ เรื่อง เครื่องหมายแห่งไตรรงค์ ไว้ว่า
สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ
สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งธรรมะอันเป็นหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา
สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์

     ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้มีบันทึกเรื่องธงชาติ โดยให้ยึดเอาธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทยตั้งแต่นั้นมา เพื่อจะได้ไม่ต้องเกิดความสับสนกับต่างประเทศ และจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงธงชาติบ่อยๆ จึงได้กำหนดความหมายของธงไตรรงค์ให้ชัดเจน แต่ก็ครอบคลุมอุดมการณ์เดิมของรัชกาลที่ 6 เอาไว้ด้วย ดังนี้
สีแดง หมายถึง ชาติ (ประชาชน)
สีขาว หมายถึง ศาสนา (ไม่ได้เน้นศาสนาใดโดยเฉพาะ)
สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์

     ธงชาติไทย กับวิวัฒนาการในแต่ละยุคสมัย
     1.ธงพื้นแดงเกลี้ยง (สมัยอยุธยา – พ.ศ. 2398)
จากข้อมูลที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ที่เชิงอรรถแห่งหนึ่งของหนังสือพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 จะเห็นได้ว่า ธงชาติไทยผืนแรกเป็นธงพื้นสีแดงเกลี้ยง ซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์ในการติดต่อค้าขายทางเรือกับต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยเริ่มใช้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา กระทั่งถึงปี พ.ศ. 2398


     2.ธงพื้นแดง มีรูปวงจักรสีขาวตรงกลาง (พ.ศ. 2325-2360)
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระราชดำริว่าเรือหลวงกับเรือราษฎรเป็นสีแดงเหมือนกัน จึงให้เพิ่มรูปจักรสีขาว อันเป็นเครื่องหมายแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ลงบนธงสีแดงสำหรับปักเรือหลวง และใช้ธงแบบนี้กระทั่งปี พ.ศ. 2360


     3.ธงพื้นแดง มีรูปช้างเผือกอยู่ข้างในวงจักรสีขาวตรงกลาง (พ.ศ. 2360-2398)
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มีพระบรมราชโองการให้นำรูปช้างเผือกไปเพิ่มไว้ข้างในวงจักรสีขาวด้วยของเรือหลวงด้วย โดยใช้ธงนี้จนถึงปี พ.ศ. 2398


     4.ธงพื้นแดง มีรูปช้างเผือกหันหน้าเข้าหาเสาธงอยู่ตรงกลาง (พ.ศ. 2398-2459)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริว่าธงสีแดงที่เรือราษฎรใช้นั้นไม่เป็นที่สังเกตและเหมือนกันธงชาติอื่น จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปลี่ยนรูปแบบธง โดยนำเอาจักรสีขาวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดินออก ธงที่ใช้สำหรับเรือสินค้าของราษฎรจึงเป็นธงพื้นแดง มีช้างเผือกอยู่ตรงกึ่งกลางธงเท่านั้น ส่วนธงของเรือหลวงก็เปลี่ยนเป็นธงสีขาบ (สีน้ำเงินอมม่วง) แทน ดังนั้น ธงสีแดงซึ่งมีช้างเผือกอยู่ตรงกลาง จึงเป็นธงชาติไทยนับแต่นั้น จนถึงรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ปี พ.ศ. 2459)


     5.ธงพื้นแดง มีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนบนแท่นหันหน้าเข้าหาเสาธงอยู่ตรงกลาง (พ.ศ. 2459-2460)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริให้แก้ไขรูปช้างเผือกธรรมดา เป็นช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าหาเสาธงแทน และใช้ธงผืนนี้จนกระทั่งปี พ.ศ. 2460


     6.ธงแดงขาว 5 ริ้ว (พ.ศ. 2459)
ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปยังเมืองอุทัยธานี ได้ทอดพระเนตรเห็นธงช้างที่ราษฎรติดไว้กลับหัว จึงมีพระราชดำริว่าธงชาติต้องมีรูปแบบที่สมมาตรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก นอกจากนี้ ยังมีพระราชดำริว่าธงชาติทำยาก ซึ่งที่ขายตามท้องตลาดนั้นเป็นธงที่ผลิตจากต่างประเทศ และเป็นประเทศที่ไม่รู้จักช้าง รูปร่างของช้างที่ปรากฏจึงไม่น่าดู จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำรูปช้างออกจากธงชาติ เปลี่ยนเป็นแถบยาวสีแดง 3 แถบ สลับกับสีขาว 2 แถบ เรียกว่า ธงแดงขาว 5 ริ้ว ใช้สำหรับเป็นธงค้าขาย ส่วนธงชาติที่ใช้ในราชการจะเป็นรูปช้างเผือกแบบทรงเครื่องยืนแท่น

     7.ธงไตรรงค์ (พ.ศ. 2460 – ปัจจุบัน)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้เปลี่ยนแปลงธงชาติไทยอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2460 เพื่อเพิ่มความก้าวหน้า เนื่องจากเข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร และต้องการให้ธงชาติไทยมีลักษณะคล้ายกับธงชาติของประเทศอื่น ๆ คือ มี 3 สี ฉะนั้นธงชาติไทยจึงเปลี่ยนเป็นรูปสี่เหลี่ยมรี มีแถบสีแดง สีขาว สีน้ำเงิน สีขาว และสีแดง เรียงกันลงไป โดยแถบสีแดงและสีขาวมีขนาดเท่ากัน ส่วนแถบสีน้ำเงินจะมีขนาดใหญ่กว่าสีทั้งสอง 1 ส่วน

     ต่อมาในปี พ.ศ. 2479 สมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ก็ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่ โดยอธิบายลักษณะธงชาติไว้ว่า ธงชาติเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีขนาดกว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้าง 2 ใน 6 ส่วน ตรงกลางเป็นสีขาบ ออกไปทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 1 ใน 6 ส่วน เป็นสีขาว ต่อจากสีขาวออกไปทั้ง 2 ข้างเป็นแถบสีแดง
     อย่างไรก็ดี ลักษณะของธงชาติไทยในปัจจุบันปรากฏตามความในหมวด 1 มาตรา 5 (1) แห่งพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 โดยกำหนดไว้ว่า ธงชาติมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้างแบ่งเป็น 5 แถบ ตลอดความยาวของผืนธง ตรงกลางเป็นสีน้ำเงินแก่ กว้าง 2 ส่วน ต่อจากแถบสีน้ำเงินแก่ออกไปทั้ง 2 ข้างเป็นแถบสีขาว กว้างข้างละ 1 ส่วน และต่อจากแถบสีขาวออกไปทั้ง 2 ข้าง เป็นแถบสีแดง กว้างข้างละ 1 ส่วน อย่างที่เราเห็นธงไตรรงค์แห่งชาติไทย ณ ปัจจุบันกันนั่นเอง

Cr. 
www.samyan-mitrtown.com