Main Menu
BANGKOK PORTAL

วันนี้มีที่มา

วันยิ้มโลก

     วันศุกร์แรกของเดือนตุลาคมได้รับการประกาศให้เป็นวันยิ้มโลก หรือ World Smile Day โดยจัดครั้งแรกเมื่อปี 1999

     ผู้ริเริ่มวันยิ้มโลก คือ ฮาร์วีย์ บอลล์ (Harvey Ball) ศิลปินชาวอเมริกันที่วาดรูปวงกลมอมยิ้มสีเหลืองที่รู้จักกันในชื่อ สมายลี่ย์ เฟซ (Smiley Face) เมื่อปี 1963 และเป็นรูปที่โด่งดังไปทั่วโลกรวมถึงเมืองไทยด้วย

     เมื่อประมาณยี่สิบปีก่อนเสื้อยืดยี่ห้อช็อกโกแลตของไทย พิมพ์ลาย Smiley Face ขายดีมาก

     สโลแกนของ World Smile Day คือ Do an act of kindness, help one person SMILE! แปลว่า “การให้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยให้คนหนึ่งคนได้ยิ้ม”

     พูดถึงเรื่องยิ้ม…เมื่อเดือนสิงหาคมมีหนังสือที่เขียนเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการยิ้ม ชื่อ Lip Service

     คำว่า Lip Service ไม่ได้แปลว่ายิ้ม แต่มีความหมายว่าพูดในสิ่งที่คนฟังอยากได้ยิน แต่ใจของคนพูดไม่ได้เห็นด้วยตามนั้น

     หนังสือเล่มนี้ เขียนโดย มาริแอนน์ ลาฟร้านซ์ อาจารย์แห่งคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเยล

     อาจารย์มาริแอนน์ ลาฟร้านซ์ บอกว่าสนใจเรื่องการยิ้มเพราะยิ้มเป็นการแสดงออกที่เหมือนกันทั่วโลก ไม่มีคนชาติไหนไม่รู้จักการยิ้ม

     แต่รอยยิ้มของคนแต่ละชาติแต่ละวัฒนธรรมมีการตีความหมายแตกต่างกันออกไป และมีวิธีการยิ้มที่ต่างกันเหมือนภาษาพูดที่มีแอ๊กเซ่นหรือสำเนียงเป็นแบบฉบับของแต่ละชาติ

     ยกตัวอย่างเช่น คนอังกฤษเวลายิ้มจะเห็นฟันล่างมากกว่าคนอเมริกัน

นอกจากนี้ การศึกษาของอาจารย์ลาฟร้านซ์ ได้ทดสอบคนออสเตรเลียให้ดูภาพถ่ายรูปหน้าปกติของคนออสเตรเลียกับคนอเมริกัน และให้บอกว่าคนในรูปคนไหนเป็นออสเตรเลียน คนไหนเป็นอเมริกัน

     ผลปรากฏว่าคนออสเตรเลียส่วนใหญ่ตอบไม่ถูกว่าคนในภาพเป็นคนชาติไหน

     แต่เมื่อให้ดูภาพที่คนเหล่านั้นยิ้ม คนออสเตรเลียนส่วนใหญ่ตอบได้ถูกต้องว่าคนในภาพเป็นอเมริกัน หรือออสเตรเลียน

     อาจารย์ลาฟร้านซ์ยังบอกด้วยว่า แววตาเป็นเครื่องบ่งบอกว่ายิ้มนั้นๆ เป็นยิ้มจริงใจหรือยิ้มเสแสร้ง

ยิ้มที่จริงใจ และยิ้มที่คนยิ้มมีความสุขจริงๆ จะมีรอยย่นรอบๆ ตา ส่วนยิ้มเสแสร้งจะยิ้มเร็ว และหุบยิ้มเร็ว ผิดกับยิ้มจริงใจที่อยู่บนใบหน้านานกว่าและจะค่อยๆ หุบลง

     การยิ้มเป็นการแสดงออกที่ซับซ้อนกว่าที่คนส่วนใหญ่คิด มนุษย์เรายิ้มในหลายอารมณ์ที่ต่างกัน เวลามีความสุข เวลาตื่นเต้น ประหม่า อับอาย หรือโกรธ เราแสดงการยิ้มที่ต่างกันไป

     จากการศึกษาพบว่า ผู้หญิงยิ้มบ่อยกว่าผู้ชาย ซึ่งคาดว่าเป็นเพราะผู้หญิงมีการตอบสนองต่อสิ่งรอบตัวไวกว่าผู้ชาย ซึ่งการยิ้มก็เป็นรูปแบบการตอบสนองต่อสิ่งรอบตัววิธีหนึ่ง นอกจากนี้ สังคมมีทัศนคติว่าผู้หญิงควรยิ้มบ่อยกว่าผู้ชาย และผู้หญิงมักทำงานในด้านการให้บริการซึ่งถูกคาดหวังว่าต้องยิ้มบ่อย นอกจากนั้น มีผู้วิเคราะห์ว่าผู้หญิงมักมีสถานภาพทางสังคมที่ยังด้อยกว่าผู้ชาย การยิ้มจึงเป็นการแสดงออกถึงความยอมรับว่าตัวเองอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่า

     เด็กทารกเกิดมาก็รู้จักการยิ้มโดยที่ไม่ต้องมีคนสอน ซึ่งอาจารย์ลาฟร้านซ์วิเคราะห์ว่าเป็นสัญชาตญาณของการเอาชีวิตรอด เพราะทารกต้องการทำให้พ่อแม่ หรือคนเลี้ยงรักใคร่ ซึ่งการยิ้มจะทำให้ใครเห็นใครก็รักใคร่เมตตา

     ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีระบอกว่าการยิ้มทำง่ายกว่าการทำหน้าบึ้ง เพราะการยิ้มใช้กล้ามเนื้อ 17 จุด ส่วนการทำหน้าบึ้งใช้กล้ามเนื้อถึง 73 จุด และยังบอกด้วยว่าการยิ้มมีประโยชน์ต่อเจ้าของรอยยิ้มดังนี้

     1. การยิ้มช่วยให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขที่เรียกว่าเอ็นโดฟินส์ ช่วยให้ผ่อนคลาย ลดความเครียด ซึ่งสารนี้โดยปกติจะหลั่งเมื่อเวลาออกกำลังกาย ทำสมาธิ และยิ้ม

     2. การยิ้มช่วยลดอาการเจ็บปวด มีการทดลองพบว่าเวลาคนไข้เข้ารับการรักษาที่มีความเจ็บปวดอยู่บ้าง คนที่ยิ้มจะรู้สึกเจ็บน้อยกว่าคนที่ทำหน้าเหยเก เพราะการแสดงออกทางใบหน้ามีผลต่อประสาทสัมผัสความรู้สึก

     3. คนที่ยิ้มบ่อย ภูมิต้านทานโรคจะดี จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยโอซาก้าพบว่าคนที่ยิ้มและหัวเราะเวลาดูหนังตลก ระดับภูมิต้านทานโรคจะสูงขึ้น

     4. จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ ที่อเมริกาพบว่าการยิ้มและหัวเราะเป็นเวลา 10 ถึง 15 นาที เผาผลาญพลังงาน 50 แคลอรี

     มีคนเคยกล่าวว่า การยิ้มนั้นไม่ต้องเสียเงินในการสร้าง แต่มีผลมหาศาล ทำให้ผู้ได้รับรอยยิ้มมีความสุข แม้จะยิ้มเแป๊บเดียว แต่อยู่ในความทรงจำของผู้ได้รับตลอดไป

Cr. www.matichonweekly.com