Main Menu
BANGKOK PORTAL

วันนี้มีที่มา

วันมหิดล


     "หม่อมฉันรู้สึกอยู่เสมอว่า การสาธารณสุขนั้นเปนการสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งเปนเครื่องบำรุงกำลังของชาติไทย และเปนสาธารณประโยชน์แก่มนุษยชาติทั่วไปด้วย เพราะฉนั้นเมื่อมีโอกาสอันใดซึ่งหม่อมฉันพอที่จะช่วยออกกำลังกายและสติปัญญา หรือทรัพย์อันเปนผลที่จะทำนุบำรุงให้การนั้นเจริญขึ้นแล้ว หม่อมฉันยินดีปฏิบัติได้เสมอ"

     ลายพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ กราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร อธิบดีกรมสาธารณสุข เมื่อ 19 มิ.ย. 2468 ครั้งทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการสาธารณสุข จากประเทศอังกฤษ

     คุณูปการที่พระองค์ทรงสร้างไว้นับตั้งแต่เป็นเจ้าฟ้าฯ จนประชวรจนสิ้นพระชนม์ในวันที่ 24 ก.ย. 2472 ทำให้คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และบรรดาศิษย์เก่า ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้ร่วมใจกันสร้างพระราชาอนุสาวรีย์ขึ้น ณ ใจกลางโรงพยาบาลศิริราช  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิด พระราชอนุสาวรีย์เมื่อ 27 เม.ย. 2493

     สำหรับพระราชานุสาวรีย์นั้น ตั้งอยู่บริเวณลานหน้าศาลาศิริราชร้อยปี โรงพยาบาลศิริราช มีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบ นายสนั่น ศิลากรณ์ เป็นประติมากร มีลักษณะเป็นพระรูปหล่อโลหะสัมฤทธิ์ ความสูง 2 เมตร โดยประมาณ ประทับพระเก้าอี้ ฉลองพระองค์ครุย พระหัตถ์วางบนตำราแพทย์ซึ่งตั้งบนพระเพลา

     นับแต่นั้นเป็นต้นมา ทุกวันที่ 24 ก.ย. วันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ของทุกปี จึงเป็นวัน "วันมหิดล"

เจ้าฟ้าต้นราชสกุลมหิดล

     ตามจดหมายเหตุพระราชประวัติ ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือที่บุคลากรทางการแพทย์เรียกขานกันติดปากว่า "พระบิดา" นั้น พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 69 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ 7 ในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

     พระองค์ประสูติเมื่อ 2 ม.ค. 2434 ณ พระตำหนักสมเด็จพระบรมราชเทวีในพระบรมมหาราชวัง ทรงพระนามลำลองว่า "ทูลกระหม่อมแดง"

     ปี 2446 ภายหลังโสกันต์ ในหลวงรัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหิดลอดุลยเดชฯ ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช นเรศวรมหาราชาธิบดินทร์ จุฬาลงกรณทราชาวรางกูร สมบูรณ์เบญจพรศิริสวัสดิ์ ขัติยวโรภโตสุชาติ คุณสังกาศเกียรติประกฤษฐ์ ลักษณวิจิตรพิสิฏฐ์บุรุษ ชนุดมรัตรพัฒนศักดิ์ อัครราชวรกุมาร กรมขุนสงขลานครินทร์"

     ครั้งทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาเบื้องต้น ณ โรงเรียนราชกุมาร ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมา รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าพระราชทานพระสุพรรณบัฏสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหิดลอดุเดชขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์

     เดือน พ.ค. 2447 ทรงเข้าศึกษา ณ โรงเรียนแฮร์โรว์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ศึกษาวิชาการทหารบก ที่ประเทศเยอรมนี ก่อนที่จะพระราชทานยศนายร้อยตรีทหารบกให้ในเวลาต่อมา ทรงปฏิบัตพระราชกรณียกิจทางการทหาร และกลับมาทรงรับตำแหน่งในกองอาจารย์ทหารเรือ แผนกแต่งตำรา กรมยุทธศึกษาทหารเรือ

พบรักระหว่างศึกษาวิชาแพทย์

     "ฉันจะไปเรียนหมอละ เพราะว่าเป็นวิชาที่สนุกดี เรามีโอกาสรักษาคนได้ทั้งจนคนมั่งมี และเจ้านายต่าง ๆ ได้เต็มที่ หมอทำการกุศลในการรักษาพยาบาลได้ดี"

     พระราชดำรัสสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ครั้งตัดสินพระทัยไปศึกษาต่อด้านการแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในฐานะนักศึกษาพิเศษ และทรงลงทะเบียนเป็นนักศึกษาแพทย์ของคณะ ถูกบันทึกไว้ในจดหมายเหตุ

     ในขณะเดียวกัน ในปี 2459 คณะกรรมการโรงเรียนสาธารณสุข Harvard-MIT School of Health Officers ก็ลงมติให้พระองค์มีสิทธิเข้าเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรสาธารณสุข

     นี่เองเป็นช่วงเวลาที่พระองค์ได้พบกับนางสาวสังวาล ตะละภัฏ หรือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งในขณะนั้นเป็นนักเรียนทุนพยาบาลเดินทางไปศึกษาต่อ

     ในปี พ.ศ. 2463 เสด็จกลับประเทศไทย และรัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ในพิธีอภิเษกสมรส ซึ่งทั้งสองพระองค์ ได้มีพระราชโอรสพระราชธิดาด้วยกัน 3 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร  และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

     ตลอดระยะเวลาของการพำนักในต่างประเทศ พระองค์ได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางการแพทย์มากมาย เช่น การเจรจากับ ดร. จอร์จ เอดการ์ วินเซนต์ (Dr. George Edgar Vincent) ประธานมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ครั้งแรก เพื่อจัดทำข้อตกลงปรับปรุงการศึกษาแพทย์ เป็นต้น

     ขณะเดียวกันช่วงเวลาหนึ่งระหว่างการศึกษาและเดินทางกลับประเทศไทย พระองค์ยังได้รับตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย ทรงสอนวิชาชีววิทยาให้กับนิสิตเตรียมแพทย์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นคณะกรรมการโรงพยาบาลศิริราช ทั้งทรงเปิดโรงพยาบาลที่ จ.สงขลา พระราชทานนามว่า สงขลาพยาบาล

หมอเจ้าฟ้า

     เมื่อเดินทางกลับไปศึกษาต่อจนสำเร็จ ได้ปริญญาแพทย์ศาสตร์ เกียรตินิยม ในเวลาต่อมาครอบครัวมหิดล ก็เสด็จกลับมาพำนักถาวรยังประเทศไทย และในช่วงเวลาหนึ่งก็เป็นแพทย์ประจำการในโรงพยาบาลแมคคอร์มิค จ.เชียงใหม่

     พระองค์ทรงพระราชกรณียกิจทรงบำเพ็ญแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุขของประเทศไทย เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่โรงเรียนแพทย์ และพัฒนาการเรียนการสอนตลอดจนการผลิตแพทย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอันเป็นการวางรากฐานแก่การแพทย์ และการสาธารณสุขให้เจริญพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมอารยะประเทศ จนได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์ และประชาชนทั่วไปว่า "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย"

     ต่อมาพระองค์ประชวรด้วยโรคตับอักเสบ ทรงเป็นฝีบิดในตับ อาการโรคพระวักกะ (ไต) พิการกำเริบ ประชวรอยู่นานกว่า 4 เดือน และในวันที่ 24 ก.ย. มีพระอาการน้ำท่วมพระปัปผาสะ (ปอด) แล้วสิ้นพระชนม์

     ซึ่งขณะนั้นพระปกเกล้าเจ้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล มหิดล ณ อยุธยา สำหรับสืบเชื้อพระวงศ์แก่ผู้สืบสายราชตระกูล

     เมื่อรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระโอรสขึ้นครองราชย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเฉลิมพระนามเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลเดชวิกรม พระบรมราชชนก นับแต่นั้นวัน 24 ก.ย. จึงกลายเป็น"วันมหิดล" ซึ่งเป็นวันที่บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน ร่วมใจระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่มีต่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย ซึ่งครั้งหนึ่งพระองค์ได้พระราชทานพระราโชวาทว่า

     "การที่จะได้ความไว้วางใจของคนไข้ ขอท่านถือสุภาษิตว่า 'ใจเขาใจเรา' ท่านคงจะคิดได้ว่า ท่านอยากได้ความสบายแก่ตัวท่านอย่างไร ก็ควรพยายามให้ความสบายแก่คนไข้อย่างนั้น"

Cr. www.bbc.com