“วันสันติภาพไทย” เป็นอีกวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งน่าเสียดายที่มันไม่ได้เป็นรู้จักกว้างขวางนัก คนทั่วไปยังไม่ทราบกันเลยว่า เรามีวันสันติภาพไทยนี้อยู่ด้วย มิพักกล่าวถึง ความหมาย ความสำคัญ และที่มาที่ไปของวันดังกล่าว
วันสันติภาพไทย คือ วันที่ 16 สิงหาคมของทุกปี ซึ่งเมื่อย้อนไปในปี พ.ศ. 2488 ก็เป็นวันที่รัฐบาลไทยออก “ประกาศสันติภาพ” อันมีใจความสำคัญส่วนหนึ่งว่า
การประกาศสงครามเมื่อวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2485 ต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ตลอดทั้งการกระทำทั้งหลายซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อสหประชาชาตินั้น เป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชาวไทย และฝ่าฝืนขืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง ประชาชนชายไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศ . . . ได้กระทำการทุกวิถีทางที่จะช่วยเหลือสหประชาชาติดังที่สหประชาชาติส่วนมากย่อมทราบอยู่แล้ว ทั้งนี้เป็นการแสดงเจตจำนงของประชาชนชาวไทยอีกครั้งหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยต่อการประกาศสงคราม และการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสหประชาชาติดังกล่าวมาแล้ว
ผลคือ ประเทศไทยยุติความเป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายสัมพันธมิตร พร้อมให้ความร่วมมือ และสนับสนุนการหวนคืนมาของสันติภาพ โดยตัวประกาศมีผู้ลงนามคือ นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการคือ นายทวี บุณยเกตุ นายกรัฐมนตรีที่เข้ามาต่อจาก นายควง อภัยวงศ์ ประกาศสันติภาพนั้นมีส่วนสำคัญในการช่วยไม่ให้ประเทศไทยต้องตกเป็นชาติผู้แพ้สงคราม เพราะประเทศไทยได้ลงนามร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก็ไปนั่งลงนามกันถึงกลางพระอุโบสถของวัดพระแก้ว นอกจากนี้ ประเทศไทยยังประกาศสงครามกับสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2485 นำไปสู่การยึดทรัพย์สิน และการจับกุมเชลยศึกของประเทศเหล่านี้ มันจึงดูเป็นเรื่องยากที่ประเทศไทยจะไม่กลายเป็นผู้แพ้สงครามหลังฝ่ายสัมพันธมิตรมีชัย ซึ่งหากเราต้องตกอยู่ในสถานะดังกล่าว ก็ย่อมเท่ากับว่า เราจะเสียผลประโยชน์ไปมหาศาล อาจถูกยึดครองเป็นแรมปี เหมือนกับประเทศญี่ปุ่น และประเทศเยอรมนี อาจถูกปลดอาวุธ ถูกเรียกค่าปฏิกรรมสงคราม หรือแม้แต่ถูกยึดพื้นที่บางส่วนไป อย่างไรก็ดี ประกาศสันติภาพช่วยยืนยันต่อชาวโลกว่า “การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย” เพราะขัดกับความต้องการของปวงชน และขัดต่อรัฐธรรมนูญ ประกาศสันติภาพเป็นก้าวสำคัญก้าวแรกในการจูงใจประชาคมโลก โดยเฉพาะชาติฝ่ายสัมพันธมิตร ว่า ประเทศไทยไม่ได้ต้องการเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะตั้งแต่ต้นเลย ซึ่งนี่เป็นการเดินเกมการเมืองระหว่างประเทศอันชาญฉลาด และท้ายที่สุดก็พิสูจน์ว่า สามารถช่วยกอบกู้สถานะของประเทศไทยบนเวทีโลก สภาวะสงครามยุติลง และเราได้เข้าร่วมในองค์การสหประชาชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2489 (กว่าประเทศญี่ปุ่นจะเข้าร่วมได้ก็ต้องรอถึงปี พ.ศ. 2499)
ในอดีตมีการจัดงานรำลึกถึงวันที่ 16 สิงหาคมขึ้นบ้าง แต่ก็เป็นการดำเนินการโดยภาคประชาสังคม จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2538 อันเป็นวาระครบรอบ 50 ปีแห่งการประกาศสันติภาพ คณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งมี นายชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้า ได้ลงมติเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2538 ประกาศให้วันที่ 16 สิงหาคมของทุกปีเป็น “วันสันติภาพไทย” โดยมีฐานะเป็นวันสำคัญของชาติประเภทที่ไม่ใช่วันหยุดราชการ และได้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าของเรื่อง สำหรับรูปแบบนั้นให้ “เน้นเรื่องสันติภาพ ส่งเสริมและสร้างสรรค์ความสามัคคี โดยมีรูปแบบที่เรียบง่าย ประหยัด และมีลักษณะในทางวิชาการ”
คณะรัฐมนตรีมีแผนจัดงานรำลึก และได้ให้ผลิตเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในราคา 20 บาทออกมาด้วย ต่อมา วันสันติภาพไทยก็ยังคงได้รับการสนับสนุน แม้มีการยุบสภาเพียงหนึ่งเดือนให้หลัง และมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายใต้การนำของนายบรรหาร ศิลปอาชา ขึ้นมาแทน แต่ถึงกระนั้น เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จสวรรคตในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 หรือเพียงไม่ถึงเดือนก่อนวันสันติภาพไทย เมื่อเป็นเช่นนี้ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติในวันที่ 8 สิงหาคม ให้ภาคเอกชนเป็นผู้นำในการจัดงานวันสันติภาพไทยแทน โดยภาครัฐลดบทบาทเป็นผู้ร่วมสนับสนุน ทั้งนี้เพื่อความเหมาะสมในยามที่ภาครัฐไม่ควรเป็นเจ้าภาพจัดงานเฉลิมฉลองทุกประเภท
หลังจากนั้นมา ก็มีการจัดงานรำลึกถึงวันสันติภาพไทยเกิดขึ้นทุกปี โดยรูปแบบงานย่อมแตกต่างกันไป บางปีมีการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกเป็นชุดแจกจ่าย บางปีมีการเปิดอาคารเสรีไทยอนุสรณ์ หรืออย่างปีที่แล้วก็มีการแสดงละครเวที ผู้จัดงานมีทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน แยกย่อยกันไป อย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้ประกาศให้วันสันติภาพไทยเป็นวันสำคัญของมหาวิทยาลัย และมีนโยบายจัดกิจกรรมขึ้นทุกปี Cr. http://www.polsci.tu.ac.th/