การศึกษาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยเริ่มต้นจากงานออกแบบก่อสร้าง และทำผังเมืองด้วยการดูทิศทางแสงของพระอาทิตย์ ยุคอยุธยาพบการนำกล้องโทรทรรศน์เข้ามาจากต่างประเทศ ถวายแด่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงทอดพระเนตรจันทรุปราคาในปี พ.ศ. 2228 และในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็มีการใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรสำหรับการพิมพ์ การถ่ายภาพ และทำยาสมุนไพร
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ก็ทรงใช้กล้องโทรทรรศน์คำนวณวันเกิดสุริยุปราคาได้อย่างแม่นยำ ส่วนการระบุวิชา “วิทยาศาสตร์” ไว้ในระบบการศึกษาอย่างมีแบบแผนนั้น กำหนดในหลักสูตรครั้งแรกในปี พ.ศ. 2464 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) และ “วิทยาศาสตร์” ได้ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ว่า “รัฐต้องเร่งรัดและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาประเทศ” เพื่อสู่เป้าหมายจัดการการศึกษาวิทยาศาสตร์ให้อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนการศึกษาแห่งชาติ
18 สิงหาคม ของทุกปี คือวันรำลึกถึงเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปถึงบ้านหว้ากอ เนื่องจากทรงคำนวณแล้วว่าในประเทศเราจะมองเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงที่นั่น และทรงรับสั่งให้สร้างค่ายหลวงและพลับพลา เพื่อต้อนรับคณะนักดาราศาสตร์และนักการทูตจากต่างประเทศมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย
ในครั้งนั้นแม้กระทั่งโหราจารย์ฝั่งไทยก็ยากที่จะเชื่อ เพราะไม่เคยมีปรากฏในตำราโหรว่าเคยพบสุริยุปราคาเต็มดวงในประเทศไทย และครั้งนี้ได้ทรงเชิญนักการทูต อาทิ เซอร์แฮรี เซนต์ ยอช ออด ผู้สำเร็จราชการมลายูของอังกฤษประจำเมืองสิงคโปร์ และนักวิทยาศาสตร์ชาวต่างประเทศอีกจำนวนมาก ร่วมสังเกตการณ์ด้วย
จากประชุมจดหมายเหตุ เรื่องสุริยุปราคาในรัชกาลที่ 4 ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียงไว้ เผยแพร่โดยกรมศิลปากร ได้ระบุว่า จากคำบอกเล่าของผู้อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้น เมื่อถึงเวลาที่ทรงคำนวณไว้ก็ปรากฏสุริยุปราคาเต็มดวง
สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มีแนวคิดว่าน่าจะถือเอาวันที่ 18 สิงหาคม เป็นวันเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามมติคณะรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2525 และภายหลังได้สร้าง “อุทยานวิทยาศาสตร์” ที่บ้านหว้ากอ ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า "อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
Copyright © 2020 Bangkok.go.th All rights reserved. ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ทุ่งครุ ส่วนห้องสมุดและการเรียนรู้ สำนักงานนันทนาการและส่งเสริมการเรียนรู้
สํานักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว โทร. ๐ ๒๔๒๖ ๕๒๕๗ e-mail : thungkhrulibrary024265257@gmail.com