วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของประเทศไทย เพราะคือ วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง นั่นเอง วันนี้คือวันที่คณะราษฎรได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเช่นทุกวันนี้
ประวัติความเป็นมาของวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ก่อนอื่นเรามารู้จัก คณะราษฎร กันก่อน คณะราษฎรเกิดจากการประชุมของคณะผู้ก่อการ ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและนักเรียนทหารที่ศึกษางานที่ทวีปยุโรป ที่หลายคนคุ้นชื่อก็จะมี ปรีดี พนมยงค์ ,ประยูร ภมรมนตรี ,แปลก ขีตตะสังคะ ทั้งหมดได้วางแผน ร่วมมือกันเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลง โดยตกลงว่าจะใช้วิธีการ ยึดอำนาจโดยฉับพลัน หลีกเลี่ยงการนองเลือดแบบที่เคยเกิดขึ้นที่ฝรั่งเศส
วันที่ 24 มิถุนายน 2475 แผนการก็ได้เริ่มขึ้น คณะราษฎรได้นำกองกำลังทหารบก ทหารเรือ มารวมตัวกันบริเวณรอบพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยอ้างว่าเป็นการสวนสนาม หลังจากนั้นให้ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา อ่านคำประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1
โดยเนื้อหาหลักก็เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ประโยคหนึ่งที่เรามักเห็นตามข่าวบ่อยๆก็มาจากเหตุการณ์นี้ ประโยคนั้นคือ
“ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่หลอกลวง”
โดยใจความหลักก็เป็นการอธิบายถึงหลักการของคณะราษฎรในครั้งนี้ ว่าทำเพื่ออยากให้บ้านเมืองดีขึ้น และให้บ้านเมืองบรรลุเป้าหมาย 6 ประการได้แก่
1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
2.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3.จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4.จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่
5.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
6.จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
หลังจากประกาศออกไปเหล่าทหารก็มีหลากหลายอารมณ์ บางทีก็ยินดี บางทีก็สับสน ต่อมาคณะราษฎรได้เชิญเจ้านาย พระราชวงศ์บางพระองค์มาคุมไว้ ที่สำคัญคือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เพราะพระองค์มีอำนาจมากที่สุดในการคุมกำลังทหารและพลเรือนของประเทศ พร้อมให้พระองค์ลงนามประทับ เหตุการณ์ต่างๆในพระนครก็ผ่านไปด้วยดี
คณะราษฎรเดินทางต่อเพื่อไป พระราชวังไกลกังวล ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่ และทำการยื่นหนังสืออัญเชิญ ใจความว่า
“ด้วยคณะราษฎร ข้าราชการ ทหาร พลเรือน ได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ได้แล้ว และได้เชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ มีสมเด็จพระพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นต้น ไว้เป็นประกัน ถ้าหากคณะราษฎรนี้ถูกทำร้าย ด้วยประการใด ๆ ก็จะต้องทำร้ายเจ้านายที่จับกุมไว้เป็นการตอบแทน คณะราษฎรไม่ประสงค์ที่จะแย่งชิงราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันใหญ่ยิ่งก็เพื่อจะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จกลับสู่พระนคร และทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป โดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ซึ่งคณะราษฎรได้สร้างขึ้น ถ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทตอบปฏิเสธก็ดี หรือไม่ตอบภายใน 1 ชั่วนาฬิกานับตั้งแต่ได้รับหนังสือนี้ก็ดี คณะราษฎรจะได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินโดยเลือกเจ้านายพระองค์อื่น ๆ ที่เห็นสมควรขึ้นเป็นกษัตริย์”
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นแก่ความสงบสุขของบ้านเมือง ของประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เกิดความเสียหาย และมีพระราชประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองอยู่แล้ว เลยไม่ขัดและทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
สัญลักษณ์วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ หมุดทองเหลือง ที่มีข้อความสลักไว้ว่า
“ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ”
Cr.www.innnews.co.th