พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ถือเป็นพระมหากษัตริย์ ที่ทรงเป็น "ผู้พระราชธานกำเนิดการบินของไทย" โดยเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓ ในรัชสมัยของพระองค์ บริษัทการบินแห่งตะวันออกไกล ได้นำ นายชาร์ ว็อง แด็ง บอร์น นักบินชาวเบลเยี่ยม และเครื่องบินแบบอ็องรี ฟาร์ม็อง ๔ ชื่อ "แวนด้า" มาแสดงการบินให้ชาวสยามชมเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ ๓๑ มกราคม ถึงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๓ ที่สนามราชกรีฑาสโมสร หรือสนามม้าสระปทุม ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก จึงเพิ่มการแสดงการบินอีก ๑ วัน ในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๓
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราโชบายในการทำนุบำรุงกิจการทหารอย่างจริงจัง และด้วยความริเริ่มของ นายพลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ เสนาธิการทหารบกและจอทพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเด็ช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ซึ่งได้เสด็จดูกิจการทหารของยุโรปในช่วงต้นปี พ.ศ.๒๔๕๔ และได้เห็นความก้าวหน้าด้านการบินในประเทศฝรั่งเศส ดังนั้นทั้ง ๓ พระองค์ จึงทรงตระหนักถึงความจำเป็นที่ประเทศยามต้องมีเครื่องบินไว้เพื่อป้องกันประเทศ
ทั้งนี้ นายพลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ นับว่าทรงเป็นผู้วางรากฐานกิจการกองทัพอากาศในปัจจุบัน ด้วยทรงตระหนักถึงแสนยานุภาพทางการบิน ดังมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
"กำลังในทางอากาศเป็นโล่อันแท้จริงอย่างเดียวที่จะกันมิให้การสงครามมาถึงท่ามกลางประเทศของเราได้ ทั้งเป็นประโยชน์ใหญ่ยิ่งในการคมนาคมเวลาปกติ"
กองทัพอากาศ จึงได้ยกย่องพระอง์เป็น "พระบิดาแห่งกองทัพอากาศ"
ในวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๔๕๔ กระทรวงกลาโหม ได้ส่ง นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (สุนี สุวรรณประทีป) นายร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกร (หลง สินศุข) และนายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต ไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส ต่อมานายทหารทั้ง ๓ ท่าน ได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์ เป็น พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ และนาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต ตามลำดับ และกองทัพอากาศได้ยกย่องให้เป็น "บุพการีทหารอากาศ"
ระหว่างที่นายทหารทั้ง ๓ ท่าน ศึกษาวิชาการบินอยู่นั้น กระทรวงกลาโหมได้สั่งซื้อเครื่องบินจากประเทศฝรั่งเศส จำนวน ๗ เครื่อง คือ เครื่องบินนิเออปอรต์ปีกชั้นเดียว ๔ เครื่อง เครื่องบินเบรเกต์ปีก ๒ ชั้น ๓ เครื่อง และเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) บริจาคเงินซื้อเครื่องบินเบรเกต์ปีก ๒ ชั้น ให้อีก ๑ เครื่อง รวมเป็น ๘ เครื่อง นับเป็นเครื่องบิน ๒ แบบแรกของประเทศไทย
เมื่อนายทหารทั้ง ๓ ท่าน สำเร็จการศึกษามาแล้ว กระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งให้ขึ้นอยู่ในบังคับบัญชาของจเรทหารช่าง เมื่อเครื่องบินที่สั่งซื้อไว้เดินทางมาถึงในเดือนธันวาคม ๒๔๕๖ ก็ได้จัดสร้างโรงเก็บเครื่องบินชั่วคราวขึ้นที่บรเวณหลังโรงเรียนพลตระเวน ณ ตำบลปทุมวัน
ต่อมาในวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๔๕๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ไปยังโรงเก็บเครื่องบิน จากนั้นได้ทอดพระเนตรการแสดงการบิน ซึ่งนายทหารทั้ง ๓ ท่าน ได้บินถวายตัว และโปรยกระดาษถวายพระพรชัยมงคล การแสดงการบินของนักบินทั้งสามในวันนั้น เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก เมื่อเสร็จสิ้นการบินแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยาแก่ นายพันโทหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ และทางราชการได้ถือเอาวันนี้เป็น "วันการบินแห่งชาติ"
วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๔๕๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปยังโรงเก็บเครื่องบินที่ตำบลปทุมวันอีก ในคราวนั้นได้ทรงตรวจพลเครื่องบิน ณ สนามราชกรีฑาสโมสร และในโอกาศนั้น เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ได้นำเครื่องบินเบรเกต์ปีก ๒ ชั้น ที่บริจาคเงินซื้อในชุดแรกน้อมเกล้าฯ ถวาย และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเครื่องบินดังกล่าวให้ไว้ใช้ในราชการกองทัพบกต่อไป
กระทรวงกลาโหมเริ่มโครงการย้าย "สนามบิน" จากสนามราชกรีฑาสโมสร ตำบลปทุมวัน ซึ่งเป็นที่ลุ่มและคับแคบ มายังที่ตำบลดอนเมือง เสร็จสิ้นในวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๔๕๗ และมีคำสั่งให้ตั้งเป็น "กองบินทหารบก" เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๔๕๗ ซึ่งกองทัพอากาศถือเอาวันนี้เป็น "วันที่ระลึกกองทัพอากาศ" Cr. www.rtaf.mi.th