รู้หรือไม่? สัตว์ป่าและพืชป่ามากกว่า 8,400 สายพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ในขณะที่อีกเกือบ 30,000 สายพันธุ์มีความเสี่ยงที่จะใกล้สูญพันธุ์เป็นลำดับถัดมา การส่งต่อความรู้ด้านการอนุรักษ์จึงถือเป็นพันธกิจหลักของ "วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก" ซึ่งตรงกับวันที่ 3 มีนาคมของทุกปี
1. วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก กำหนดขึ้นครั้งแรก 3 มีนาคม 2516
วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day) ตรงกับวันที่ 3 มีนาคมของทุกปี ซึ่งยึดตามวันที่ก่อตั้งภาคีอนุสัญญาไซเตส เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2516 เพื่อสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มประเทศภาคีอนุสัญญาไซเตส 178 ประเทศ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเพื่อประโยชน์แห่งมวลมนุษยชาติ
โดยเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ได้มีมติประกาศให้ 3 มีนาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นวันลงนาม "อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)" ให้เป็นวันสำคัญในฐานะ UN World Wildlife หรือ World Wildlife Day เพื่อเฉลิมฉลองให้แก่สัตว์ป่าและพืชป่าโลก
อีกทั้ง ตามมติของ UNGA ยังกำหนดให้สำนักเลขาธิการ CITES เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติตามวันพิเศษตามปฏิทินของสหประชาชาติ วันสัตว์ป่าโลกได้กลายเป็นงานประจำปีที่สำคัญที่สุดในโลกที่อุทิศให้กับสัตว์ป่า 2. สิ่งมีชีวิต 8,400 สายพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง!
จากข้อมูลของ International Union for Conservation of Nature (IUCN) Red List of Threatened Species ระบุว่า สัตว์ป่าและพืชป่ามากกว่า 8,400 สายพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ในขณะที่อีกเกือบ 30,000 สายพันธุ์ก็มีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ตามมาติดๆ
จากการประมาณการเหล่านี้ สรุปได้ว่ามีสิ่งมีชีวติมากกว่า 1,000,000 ชนิดถูกคุกคามจากการสูญพันธุ์ และการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยและระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง (จากฝีมือมนุษย์และภัยธรรมชาติ) ยังคงคุกคามทุกชีวิตบนโลก รวมทั้งมนุษย์ด้วย
3. มนุษย์ต้องพึ่งพาธรรมชาติ "ความยั่งยืน" จึงจำเป็น
ประชากรมนุษย์ทั่วโลกต้องพึ่งพาทรัพยากรจากสัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการ ตั้งแต่อาหาร เชื้อเพลิง ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย และเสื้อผ้า มีผู้คนนับล้านที่ยังพึ่งพาธรรมชาติเป็นแหล่งทำมาหากิน และโอกาสทางเศรษฐกิจ
ดังนั้นในปี พ.ศ. 2565 วันสัตว์ป่าโลก จะขับเคลื่อนการอภิปรายถึงความจำเป็นที่จะต้องกู้คืนชะตากรรมของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งยวด เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยและระบบนิเวศของพวกมัน และเพื่อส่งเสริมการพึ่งพาธรรมชาติอย่างยั่งยืน
4. แคมเปญปีนี้ "Recovering key species for ecosystem restoration"
วันสัตว์ป่าโลกในปี พ.ศ. 2565 จะมีการเฉลิมฉลองภายใต้หัวข้อ "Recovering key species for ecosystem restoration" หรือแปลความได้ว่า "การกู้คืนสายพันธุ์ที่สำคัญสำหรับการฟื้นฟูระบบนิเวศของโลก"
โดยจะเน้นไปที่สถานะการอนุรักษ์ของสัตว์ป่าและพันธุ์ไม้ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งยวด และเพื่อขับเคลื่อนการอภิปรายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาด้านการอนุรักษ์และความยั่งยืน โดยจะมีการร่วมกันอภิปรายในหลากหลายหัวข้อย่อย ได้แก่
กิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นทางออนไลน์ โดยมีการรวบรวมผู้แทนของประเทศสมาชิก UN, องค์กรย่อยอื่นๆ ของ UN, กลุ่มพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม, ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เพื่ออภิปรายกันในหัวข้อต่างๆ ดังกล่าว และจะมีการถ่ายทอดสดบนช่องทาง YouTube ในวันที่ 3 มีนาคม 2565 อีกด้วย คลิกที่นี่
5. วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลกในไทย
สำหรับประเทศไทยนั้น เริ่มจัดงาน "วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก" อย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2557 โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่า เพื่อให้เยาวชนและผู้ที่สนใจได้เข้าร่วม
ล่าสุด.. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีถ้อยแถลงเนื่องในวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก หรือ World Wildlife Day ประจำปี พ.ศ. 2565 ระบุว่า
ขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยร่วมเฉลิมฉลองให้กับความสวยงามของธรรมชาติและร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับกระทรวงฯ ด้วยการตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ของสัตว์ป่าและพืชป่า ช่วยกันปลูกป่า ลดการสร้างมลพิษ ไม่สนับสนุนการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย
ตลอดจนไม่ละเลยและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์หรือพืชดังเดิม รวมถึงช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องดูแล ซึ่งหากพบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า สามารถแจ้งสายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
อีกทั้ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อนำเสนอความรู้ และสร้างความตระหนักถึงคุณค่าความสวยงามและประโยชน์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่มีต่อมนุษย์ อย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 9 และปีนี้ก็สามารถร่วมกิจกรรมได้เช่ยเคยที่ World Wildlife Day Thailand Cr. www.bangkokbiznews.com