เดิมทีคณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทยเสนอให้วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำยุทธหัตถีมีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา หรือวันที่ 18 มกราคมของทุกปีเป็นวันช้างไทย แต่วันดังกล่าวถูกใช้เป็นวันกองทัพไทย จึงได้พิจารณาวันอื่น และเห็นว่าวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติมีมติให้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย จึงได้นำเสนอมติตามลำดับเข้าสู่คณะรัฐมนตรี โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ 26 พฤษภาคม 2541 เห็นชอบให้วันที่ 13 มีนาคมของทุกปีเป็นวันช้างไทย
แม้จะมีวันช้างไทย แต่ปัญหาระหว่างคนไทยกับช้างไทยยังคงน่ากังวล จากงานศึกษาของ พิเชฐ นุ่นโต ภายใต้โครงการของสำนักงานสนับสนุนการวิจัย ระบุว่าระหว่างปี 2555-2561 พบเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ซึ่งเป็นเหตุการณ์ระดับรุนแรง คือมีคนและช้างบาดเจ็บหรือเสียชีวิตรวม 107 เหตุการณ์ มีผู้บาดเจ็บ 30 คน เสียชีวิต 45 คน และช้างป่าบาดเจ็บ 7 ตัว ตาย 25 ตัว เท่ากับมีคนหรือช้างป่าบาดเจ็บหรือเสียชีวิต 1.6 เหตุการณ์ต่อเดือน
ขณะที่สาเหตุหลักที่ช้างป่าตายจากความขัดแย้งคือรั้วไฟฟ้า คิดเป็น 72% ส่วนสาเหตุอื่นมาจากรถยนต์ชนในเขตชุมชน คนตอบโต้กลับรุนแรงขณะเข้าผลักดันช้างป่า ช้างป่าถูกยิงจากการไล่ช้าง ถูกสารพิษที่คาดว่าน่าจะเป็นยาฆ่าหญ้า ถูกบ่วงแร้วใกล้กับเขตชุมชน และถูกสายไฟฟ้าในสวนหรือตามท้องถนน ขณะที่สาเหตุหลักที่ช้างป่าบาดเจ็บ 57% คือรถยนต์ชนขณะช้างป่าเดินข้ามถนน สาเหตุอื่น เช่น ถูกน้ำกรดรดลงลำตัว เป็นต้น ส่วนสาเหตุหลักที่คนเสียชีวิตคือช้างป่าเข้าชาร์จขณะทำการเฝ้าระวังผลักดัน คิดเป็น 25% และสาเหตุที่ทำให้คนบาดเจ็บ 24% คือพบช้างป่าขณะสัญจรบนท้องถนน Cr. www.thestandard.co