ทุกวันที่ 20 พฤษภาคมเป็น “วันผึ้งโลก” ซึ่งก่อตั้งโดยองค์การสหประชาชาติ ที่ต้องการให้เห็นถึงความสำคัญของผึ้งและเพื่อให้ประชาชนช่วยกันดูและผึ้งที่มีจำนวนลดลง โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผึ้งมีจำนวนลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องมาจากภัยคุกคามจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช นอกจากนี้เมื่อพื้นที่ป่าลดน้อยลง ก็ทำให้ผึ้งตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ผึ้ง คืออะไร ผึ้ง เป็นแมลงสังคมและจัดเป็นแมลงเศรษฐกิจที่ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นระยะเวลานานได้ โดยขาดความสัมพันธ์กับผึ้งวรรณะอื่นภายในสังคมเดียวกัน และมีระบบสังคมมาเป็นเวลานานถึงกว่า 30 ล้านปี ผึ้งแต่ละรังเปรียบเสมือนหนึ่งครอบครัว
โดยผึ้งที่เลี้ยงเป็นอุตสาหกรรมโดยทั่วไป นิยมเลี้ยงผึ้งพันธุ์ Apis mellifera ซึ่งสามารถแบ่งวรรณะตามหน้าที่ได้ 3 วรรณะ ดังนี้
1. ผึ้งนางพญา (The Queen)
เป็นผึ้งที่มีลำตัวใหญ่ที่สุด มีอายุขัยมากกว่า 1 ปี มีปีกสั้นเพียงครึ่งลำตัว ท้องเรียวยาว ลำตัวสีดำออกหม่น ท้องมีสีน้ำตาล ก้นแหลม ขาหลังไม่มีที่เก็บเกสร ไม่มีต่อมผลิตไขผึ้ง มีหน้าที่ผสมพันธุ์ วางไข่ ควบคุมประชากรผึ้งวรรณะอื่นด้วยฟีโรโมนส์ไปทั่วรัง โดยใน 1 รังจะมีผึ้งนางพญา 1 ตัวเท่านั้น ยกเว้นบางรังที่มีขนาดใหญ่ อาจพบได้ 2-3 ตัว ในระยะเติบโต แต่เมื่อถึงวัยผสมพันธุ์จะแยกออกเหลือเพียง 1 ตัวต่อรังเหมือนเดิม เมื่ออายุได้ 3-5 วัน จะผสมพันธุ์กับตัวผู้ โดยการผสมพันธุ์ 1 ครั้งสามารถผสมกับตัวผู้ได้ 7-10 ตัว หรืออาจมากถึง 20 ตัวก็ได้ หลังจากนั้นจะวางไข่ โดยจะได้ไข่ประมาณ 1,500-2,000 ฟอง และจะสามารถผสมพันธุ์ได้เพียงครั้งเดียวในช่วงชีวิต ผึ้งนางพญามีเหล็กไนใช้สำหรับต่อสู้กับผึ้งนางพญาตัวอื่น ผึ้งนางพญาจะอาศัยบนรัง ไม่ออกหาอาหาร และถูกห้อมล้อมด้วยผึ้งงาน โดยที่ผึ้งงานจะใช้หนวดแตะ หรือใช้ลิ้นเลียตามลำตัวผึ้งนางพญาเพื่อทำความสะอาด และนำของเสียจากนางพญาไปปล่อยทิ้ง
2. ผึ้งตัวผู้ (The Drone)
เป็นผึ้งที่มีขนาดใหญ่รองลงมาจากผึ้งนางพญา อ้วนสั้นกว่าผึ้งนางพญา มีอายุขัย 4-6 สัปดาห์ เป็นผึ้งที่ไม่มีเหล็กไน มีลิ้นสั้นสำหรับเลียรับอาหารจากผึ้งงาน ผึ้งตัวผู้จะอยู่บนรัง ไม่ออกหาอาหาร มีหน้าที่เพียงอย่างเดียว คือ คอยผสมพันธุ์กับผึ้งนางพญา ผึ้งตัวผู้ เป็นผึ้งที่เจริญมาจากไข่ที่ไม่ได้รับการผสม หลังฟักออกจากดักแด้ 16 วัน จะสามารถผสมพันธุ์ได้
3. ผึ้งงาน (The Worker)
เป็นผึ้งเพศเมีย มีขนาดเล็กที่สุด แต่มีปริมาณมากที่สุด 5,000-30,000 ตัว/รัง มีอายุขัย 6-8 สัปดาห์ เนื่องจากในระยะที่เป็นตัวอ่อน ได้รับอาหารพิเศษคือ นมผึ้ง หรือรอยัลเยลลี (royal jelly) เพียง 3 วัน หลังจากนั้น ตัวอ่อนผึ้งงานที่มีอายุมากขึ้น จะได้กินแต่เกสรและน้ำผึ้ง ทำให้ขบวนการพัฒนาแตกต่างไปจากผึ้งนางพญามาก ในขณะที่ผึ้งนางพญาได้กินนมผึ้งตั้งแต่เป็นตัวอ่อนอายุ 1 วัน และได้กินต่อไปจนตลอดชีวิต ผึ้งงานมีหน้าที่หลักในการทำงาน เช่น ทำความสะอาดรัง เลี้ยงดูป้อนอาหารให้ผึ้งตัวอ่อน สร้างและซ่อมแซมรัง เป็นทหารเฝ้ารัง ป้องกันศัตรู และหาอาหาร Cr.www.tnnthailand.com