วันที่ 21 เมษายนของทุกปีเป็น “วันสถาปนากรุงเทพมหานคร” โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเมื่อวันที่ 6 เมษายนในปีเดียวกัน และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรีมาที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจัดพิธียกเสาหลักเมืองที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้มีการก่อสร้างพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้วขึ้น พร้อมทั้งพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”
โดยชื่อกรุงเทพมหานคร ถือเป็นชื่อเมืองที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งมีความหมายว่า “พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร อันเป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครที่ไม่มีใครสามารถรบชนะ มีความงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้ว 9 ประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้
อย่างไรก็ตาม ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงเปลี่ยนจาก “บวรรัตนโกสินทร์…” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์” จากนั้นในปี พ.ศ. 2425 ซึ่งปีที่กรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบหนึ่งศตวรรษ หรือ 100 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าให้จัดงานสมโภชพระนครครบรอบศตวรรษอย่างยิ่งใหญ่ โดยทรงมีพระราชประสงค์ให้จัดงานแสดงสินค้าแห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ณ ท้องสนามหลวง หรือที่เรียกว่า “National Exhibition”
นอกจากนี้ ยังทรงให้จัดทำเหรียญที่ระลึก สำหรับพระราชทานให้แก่ผู้ที่นำสินค้าแปลก ๆ มาจัดแสดงในงานสมโภชพระนคร โดยทรงมีพระราชประสงค์ให้บูรณะวัดพระศรีรัตนศาสดารามที่เริ่มทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลาให้กลับมาสวยงามดั้งเดิมพร้อมกับงานฉลองพระนคร โดยพระองค์ได้พระราชทานเหรียญที่ระลึกให้แก่ผู้ที่ร่วมบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามจนแล้วเสร็จในครั้งนี้ด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ.2525 ได้เกิดงานเฉลิมฉลองสมโภชพระนครอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งเป็นปีที่กรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปี หรือสองศตวรรษ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งในปีนั้น ทางราชการได้จัดประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์เป็นครั้งแรก และตั้งชื่อว่า “ตราสัญลักษณ์งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี”
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ยังได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมทั้งประกอบพระราชพิธีบวงสรวงบูรพกษัตริย์ พระสยามเทวาธิราช พระเทพารักษ์ และพระราชพิธีสมโภชหลักเมืองเพื่อเป็นสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลแก่พระมหานครรัตนโกสินทร์ Cr.www.tnnthailand.com