Main Menu
BANGKOK PORTAL

วันนี้มีที่มา

วันคนพิการแห่งชาติ

     วันคนพิการแห่งชาติ ซึ่งเป็นเสาร์สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนที่กำหนดขึ้นให้ตระหนักในการให้ความสำคัญและช่วยเหลือหรือสนับสนุน ให้คุณภาพชีวิตคนพิการดีขึ้น วงการสุขภาพจิตถือว่าผู้พิการจำเป็นต้องปรับตัว เรียนรู้และฟื้นฟู ให้อยู่ในสังคมได้ด้วยตนเอง

     ตามที่สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กำหนดจัดขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการได้พบปะ สังสรรค์ แสดงความ สามารถในด้านต่างๆ และเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆ เกี่ยวกับการบำบัด รักษา การป้องกันและฟื้นฟู สมรรถภาพ รวมทั้งเพื่อให้คนทั่วไป ได้เห็น ถึงศักยภาพ ศักดิ์ศรีและคุณค่าของคนพิการของคนพิการ

     ความหมายตามประกาศกระทรวงการพัฒนา สังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 กำหนดไว้ดังนี้ "คนพิการ" หมายความว่า บุคคลซึ่งมีความสามารถถูกจำกัดให้ปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และการมีส่วนร่วมทางสังคมได้โดยวิธีการทั่วไป เนื่องจากมีความบกพร่องทางการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญาและการเรียนรู้และมีความต้องการจำเป็นพิเศษ ด้านต่างๆ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตและมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป

     ประเภทของความความพิการ จำแนกไว้โดยกำหนดลักษณะ ดังนี้

     1.1 พิการทางการมองเห็น คือ คนที่มีสายตาข้างที่ดีกว่าเมื่อใช้แว่นสายตาธรรมดา แล้วมองเห็นน้อยกว่า 6/18 หรือ 20/70 จนมองไม่เห็นแม้แต่แสงสว่าง หรือมีเลนส์สายตาแคบกว่า 30 องศา

     1.2 พิการทางการได้ยินและสื่อความหมาย การได้ยิน เด็กอายุน้อยกว่า 7 ปี ลักษณะความพิการ คือ หูตึงปานกลาง หูตึงมาก หูตึงรุนแรง หูหนวก ความดังเฉลี่ยเกิน 40 เดซิเบล จนไม่ได้ยิน ระดับความผิดปกติ 2 ถึง 5 เด็กอายุเกิน 7 ปี ถึงผู้ใหญ่ ลักษณะความพิการ คือ ความผิดปกติ หูตึงมาก หูตึงรุนแรง หูหนวก ความดัง 55 เดซิเบลขึ้นไป ระดับความผิดปกติ 2 ถึง 5 การสื่อสาร

     1.3 พิการทางกาย หรือการเคลื่อนไหว ลักษณะความพิการ คนที่มีความผิดปกติหรือความบกพร่องของร่างกายเห็นชัดเจน และคนที่สูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหว ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจวัตรในชีวิตประจำวันได้ ระดับความผิดปกติ 3 ถึง 5

     1.4 พิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม ลักษณะความพิการ คนที่มีความผิดปกติ ความบกพร่องทางจิตใจ หรือสมองในส่วนรับรู้ อารมณ์ ความคิด จนไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมที่จำเป็นในการดูแลตนเอง หรืออยู่ร่วมกับผู้อื่น ระดับความผิดปกติ ระดับที่ 1 และระดับที่ 2

     1.5 พิการทางสติปัญญาหรือการเรียนรู้ ลักษณะพิการ คือ คนที่มีความผิดปกติ หรือความบกพร่องทางสติปัญญาหรือสมอง จนไม่สามารถเรียนรู้ด้วยวิธีการศึกษาปกติได้

     1.6 พิการซ้ำซ้อน คือมีความพิการมากกว่า 1 ลักษณะขึ้นไป

รายละเอียดความพิการของผู้พิการแต่ละประเภทมีในกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534

     ดังนั้น การกำหนดวันนี้ขึ้น เพื่อให้ตระหนักในการให้ความสำคัญและช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้คุณภาพชีวิตคน พิการดีขึ้น สำหรับวงการสุขภาพจิตถือว่า ผู้พิการจำเป็นต้องปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้ด้วยตนเองมากที่สุด แม้น ผู้ที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนเป็นพลังและกำลังใจให้เขาเหล่านั้นได้ คือ ญาติมิตรและผู้ใกล้ชิดก็ตาม แต่พวกเขาเหล่านั้นมิสามารถจะอยู่กับผู้พิการได้ตลอด 

     ดังนั้นงานสุขภาพจิตจึงมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมความรู้ต่าง ๆ ในการดูแลสุขภาพจิตผู้พิการ แก่ญาติมิตร ผู้ใกล้ชิด นอกจากการฝึกทักษะต่าง ๆ ให้แก่ตัวผู้พิการเอง โดยเฉพาะกลุ่มความพิการที่ 1.4 - 1.5 ตามกฏหมาย

     งานสุขภาพจิตได้เข้าไปมีส่วนในการบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพ และส่งเสริมความรู้สุขภาพจิตแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการทั้งโดยตรงและ ทางอ้อม เฉกเช่นเดียวกับทางการศึกษา สิ่งที่งานสุขภาพจิตเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง การบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพและส่งเสริมความรู้สุขภาพจิตแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับ ผู้พิการทั้งโดยตรงและทางอ้อม

     ความพิการที่งานสุขภาพจิตต้องเข้าดำเนินการแก้ไขอาจจำแนกได้ 2 ประเภท คือ

     1. ความพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในสังคม เพื่อให้ผู้พิการสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคม

     2. ความพิการที่มีผลกระทบต่อความรับผิดชอบในตนเองและต่อสังคม เพื่อให้ผู้พิการสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับ ผู้อื่น

     “ดอกแก้วกัลยา ดอกไม้สัญลักษณ์ คนพิการ”

     ดอกแก้วกัลยา คือ ชื่อดอกไม้ชนิดหนึ่งซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามดอกไม้ประดิษฐ์โดยคนพิการของศูนย์ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคนพิการ ทั้งยั้งทรงพระราชทานพระอนุญาตให้ใช้เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ ของคนพิการ

     ดอกแก้วกัลยานั้นเป็นดอกไม้ในจินตนาการ มาจากดอกไม้ 2 ชนิดด้วยกันคือ ดอกแก้ว และดอกแก้วเจ้าจอม ที่มีกลีบดอกสีฟ้าคราม ซึ่งดอกแก้วทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นดอกไม้ยืนต้นที่แข็งแรง ใบสวยงาม ออกดอกเป็นพวง ให้ความหมายเปรียบเทียบประดุจคนเราทุกคนมีน้ำใจเป็นหนึ่งเดียว

     เพราะฉะนั้นความหมายโดยรวมของดอก แก้วกัลยานั้นคือ ดอกไม้จากนางแก้ว ที่มีน้ำพระหฤทัยสดใส ให้แสงสว่างอบอุ่นกับมวลหมู่คนพิการในแผ่นดินไทย ดั่งน้ำพระหฤทัยจากองค์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

Cr. www.prd.go.th