1 ก.ค. 2565 เป็นวันคล้าย วันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ ครบรอบ 111 ปี ซึ่งเมื่อถึงวันนี้ในแต่ละปีจะมีลูกเสือทั้งในส่วนกลางและปริมณฑลนับหมื่นคน มาร่วมเดินสวนสนาม ณ สนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ เพื่อแสดงความเคารพและกล่าวทบทวนคำปฏิญาณ ต่อองค์พระประมุขคณะลูกเสือแห่งชาติ เพื่อประกาศความเป็นลูกเสืออย่างแท้จริง
ย้อนกลับไปมองเส้นทาง การก่อกำเนิดลูกเสือไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อพระชนมายุ 13 พรรษา ซึ่งระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้ทรงรับทราบเรื่องการสู้รบเพื่อรักษาเมืองมาฟิคิง (Mafeking) ของลอร์ด เบเดน โพเอลล์ (Lord Baden Powell) ซึ่งได้ตั้งกองทหารเด็กเป็นหน่วยสอดแนมช่วยรบในการรบกับพวกบัวร์ (Boar) จนประสบผลสำเร็จ และได้ตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกที่ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2450 ด้วยจุดประสงค์เพื่อเตรียมคนไว้เป็นทหาร หลายประเทศที่ไม่มีพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร จึงได้จัดให้มีลูกเสืออย่างประเทศอังกฤษบ้าง หลังจากนั้นไม่นานกิจการลูกเสือก็ได้แพร่หลายเข้าไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา
ความหมายของ "Scout"
หนึ่งปีถัดมา (พ.ศ.2451) ลอร์ด เบเดน โพเอลล์ ได้แต่งหนังสือคู่มือการฝึกอบรมลูกเสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง มีชื่อว่า Scouting For Boys ซึ่งคำว่า “Scout” นั้น ได้ถูกนำมาใช้เป็นคำเรียกผู้ที่เป็นลูกเสือ ซึ่งมีความหมายมาจาก
S ย่อมาจาก Sincerity แปลว่า ความจริงใจ
C ย่อมาจาก Courtesy แปลว่า ความสุภาพอ่อนโยน
O ย่อมาจาก Obedience แปลว่า การเชื่อฟัง
U ย่อมาจาก Unity แปลว่า ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
T ย่อมาจาก Thrifty แปลว่า ความประหยัด ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า
กิจการลูกเสือได้แพร่หลายอย่างรวดเร็ว โดยประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีการก่อตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นประเทศที่สอง รองจากอังกฤษ
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทย จึงได้ทรงจัดตั้ง กองอาสาสมัครเสือป่า (Wild Tiger Corps) ขึ้น เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2454 มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกหัดให้ข้าราชการและพลเรือนได้เรียนรู้วิชาทหาร เพื่อเป็นคุณประโยชน์ต่อบ้านเมือง รู้จักระเบียบวินัย มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทรงฝึกอบรมสั่งสอนเสือป่าด้วยพระองค์เอง (สถานที่ฝึกหัดอบรมเสือป่า คือ สโมสรเสือป่าพระราชวังดุสิต และพระลานพระราชวังดุสิต จึงเรียกกันว่าสนามเสือป่า มาจนถึงทุกวันนี้)
การฝึกหัดเสือป่า คือ การฝึกอบรมจิตใจ ในเรื่องการรักชาติบ้านเมือง ฝึกอบรมทางกาย คือ การฝึกอบรมการใช้อาวุธ และการฝึกหัดท่าทหาร โดยที่ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ไม่มีกำลังทหารเพียงพอแก่การรักษาประเทศ จึงได้ทรงฝึกให้ราษฎร ใช้อาวุธปืน เพื่อสามารถช่วยทหารได้ในเวลาคับขัน ทรงนำกองอาสาสมัครเสือป่าซ้อมรบยุทธวิธีด้วยพระองค์เอง
หลังจากนั้น 2 เดือน ก็ได้พระราชทานกำเนิด “ลูกเสือไทย” ขึ้นเมื่อ วันที่ 1 กรกฎาคม 2454 ด้วยทรงมีพระราชปรารภว่า เมื่อฝึกผู้ใหญ่เป็นเสือป่า เพื่อเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือชาติบ้านเมืองแล้ว ก็เห็นควรที่จะมีการฝึกเด็กชายปฐมวัยให้มีความรู้ทางเสือป่าด้วย เมื่อเติบโตขึ้นจะได้รู้จักหน้าที่และประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง
ต่อมาจากนั้น ทรงตั้งกองลูกเสือกองแรกขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ซึ่งก็คือ โรงเรียนวชิราวุธ ในปัจจุบัน) และจัดตั้งกองลูกเสือตามโรงเรียน ต่าง ๆ ให้กำหนดข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือขึ้น รวมทั้งพระราชทานคำขวัญให้ลูกเสือว่า “เสียชีพ อย่าเสียสัตย์ ” มีการจัดตั้งสภากรรมการกลางจัดการลูกเสือแห่งชาติ ขึ้น โดยพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งสภานายก และหลังจากนั้นพระมหากษัตริย์องค์ต่อมาทรงเป็นสภานายกสภาลูกเสือแห่งชาติสืบมา
ผู้ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นลูกเสือไทยคนแรก คือ นายชัพน์ บุนนาค ซึ่งต่อมา ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “นายลิขิตสารสนอง”
ในปี พ.ศ. 2463 ได้มีการจัดส่งผู้แทนคณะลูกเสือไทย จำนวน 4 คน ไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 1 (1st World Scout Jamboree) ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกของโลก ณ อาคารโอลิมเปีย กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จากนั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2465 คณะลูกเสือไทย ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมัชชาลูกเสือโลก ซึ่งขณะนั้นมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 31 ประเทศ ประเทศทั้ง 31 ประเทศนี้ นับเป็นสมาชิกรุ่นแรก หรือสมาชิกผู้ก่อการจัดตั้ง (Foundation Members) สมัชชาลูกเสือโลกขึ้นมา
ความเป็นมาลูกเสือไทย อาจแบ่งเป็น 5 ยุค ดังนี้
1. ยุคก่อตั้ง (พ.ศ. 2454 – 2468) รวม 14 ปีอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 6
2. ยุคส่งเสริม (พ.ศ. 2468 – 2482) สมัยรัชกาลที่ 7 จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคนี้แบ่งออกเป็น 2 ตอน คือก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัชการที่ 7 ยังทรงเป็นสภานายกสภากรรมการกลางจัดการลูกเสือแห่งชาติอยู่ และภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเป็นสมัยรัชกาลที่ 7 ก่อนสละราชสมบัติและรัชกาลที่ 8 จนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพ.ศ. 2475 มีการจัดตั้ง “ลูกเสือสมุทรเสนา” ขึ้นอีกหนึ่งเหล่า ในจังหวัดแถบชายทะเลเพื่อให้เด็กในท้องถิ่นมีความรู้ ความสามารถในวิทยาการทางทะเล
อีก 2 ปีถัดมาในพ.ศ. 2476 มีการจัดตั้งกรมพลศึกษาขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีกองลูกเสืออยู่ในกรมพลศึกษา และส่งผู้แทนไปร่วมชุมนุมลูกเสือโลกครั้งที่ 4 ณ ประเทศฮังการี โดยมีนายอภัย จุนทวิมล เป็น หัวหน้า
ยุคนี้ยังมีเหตุการณ์สำคัญ คือ มีการจัดทำ ตราคณะลูกเสือแห่งชาติ ขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล ที่คณะลูกเสือต่างๆ ทั่วโลก ต่างก็มีตราคณะลูกเสือของตนเองทั้งสิ้น โดยของไทยจัดทำตราเป็นรูป Fleur de lis กับ รูปหน้าเสือประกอบกัน และมีตัวอักษรคำขวัญอยู่ภายใต้ว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” และประกาศใช้เป็นตราประจำคณะลูกเสือแห่งชาติ พร้อมกฎลูกเสือ 10 ข้อ
3. ยุคประคับประคอง (พ.ศ. 2483 – 2489) ระยะนี้ลูกเสือซบเซาลงมาก เนื่องจากอยู่ภาวะสงคราม
ในพ.ศ. 2485 มีการออกพระราชบัญญัติลูกเสือ (ฉบับปี พ.ศ. 2485) มีสาระสำคัญคือ กำหนดให้พระมหากษัตริย์ ทรงดำรงตำแหน่งบรมราชูปถัมภ์คณะลูกเสือแห่งชาติ ต่อมาพ.ศ. 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง การลูกเสือเริ่มฟื้นฟูทั่วโลก รัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัติสู่พระนคร
4. ยุคก้าวหน้า (พ.ศ. 2489 – 2514) เริ่มต้นในรัชกาลที่ 9 แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ
4.1 ระยะเริ่มก้าวหน้า (พ.ศ. 2489 – 2503) มีเหตุการณ์สำคัญ คือ
พ.ศ. 2496 เริ่มดำเนินการสร้างค่ายลูกเสือวชิราวุธ ที่ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
พ.ศ. 2497 มีการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 3 ณ สนามกีฬาแห่งชาติ
พ.ศ. 2500 ไทยส่งผู้แทนเข้าร่วมชุมนุมลูกเสือโลกครั้งที่ 9 ณ ประเทศอังกฤษ เพื่อเฉลิมฉลองอายุครบ 100 ปี ของลอร์ด เบเดน โพเอลล์ ผู้ให้กำเนิดลูกเสือโลก
พ.ศ. 2501 เปิดการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือสำรอง ขั้นความรู้เบื้องต้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และจากนั้นมีการจัดตั้งกองลูกเสือสำรองกองแรกขึ้นในประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2501
4.2 ระยะก้าวหน้า (2504 – 2514) มีเหตุการณ์สำคัญคือ
พ.ศ. 2504 มีการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ณ สวนลุมพินี พระนคร เพื่อเฉลิมฉลองที่คณะลูกเสือไทยมีอายุครบ 50 ปี
พ.ศ. 2505 พลเอกถนอม กิตติขจร รองนายกรัฐมนตรี เปิดค่ายลูกเสือวชิราวุธ
1 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 รัชกาลที่ 9 ทรงประกอบพิธีเปิดศาลาวชิราวุธ 1 ปีถัดมามีการเปิดฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือวิสามัญ ขั้นวูดแบดจ์ รุ่นที่ 1 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ และมีการจัดตั้งกองลูกเสือวิสามัญ ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2506
ในปีเดียวกันนั้น ได้มีการฝึกอบรม “ลูกเสือชาวบ้าน” ขึ้นครั้งแรก ณ อำเภอด่านช้าง จังหวัดเลย โดยกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯรัชกาลที่ 9 ทรงรับกิจการลูกเสือชาวบ้านไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ด้วยทรงเล็งเห็นว่าประชาชนชาวบ้านที่ไม่มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน หรือเว้นว่างจากการเรียนควรได้เข้าร่วมกิจกรรมที่แสดงถึงความรัก ความสามัคคี และการอาสา เพราะกิจกรรมลูกเสือเป็นกิจกรรมที่พัฒนาทั้งสุขภาพร่างกาย จิตใจ และสังคมได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ทรงเล็งเห็นว่ากิจกรรมลูกเสือนั้นสามารถพัฒนาคนให้เป็นคนดี มีคุณธรรมเพื่อเป็นพลเมืองดีของประเทศชาติได้อย่างดียิ่ง พระองค์ทรงให้กำลังใจ และส่งเสริมกิจกรรมลูกเสือทุกชนิดมาโดยตลอด ทรงเป็นองค์ประธานในงานลูกเสือแห่งชาติ โดยทรงเครื่องแบบลูกเสือชุดฝึก (พระสนับเพลาขาสั้น) พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณกำหนดให้วันที่ 1 กรกฎาคมของทุก ๆ ปีเป็นวันเฉลิมฉลองวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ
บทบาท “ลูกเสือไทย” ในปัจจุบัน
นิยามของลูกเสือไทย คือ เยาวชนชายและหญิงอายุระหว่าง 8 - 25 ปี ที่รับการฝึกอบรมตามหลักสูตรวิชาลูกเสือ โดยยึดมั่นในหลักการ (Principle) วิธีการ (Method) และวัตถุประสงค์ (Purpose) ของการลูกเสือ (Scouting) อย่างเคร่งครัดตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 และข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติว่าด้วยการปกครอง หลักสูตรและวิชาพิเศษลูกเสือ พ.ศ. 2509 ได้กำหนดประเภทและเหล่าลูกเสือว่า ลูกเสือมี 4 ประเภท คือ
นอกจากนี้ อาจจัดให้มีลูกเสือเหล่าสมุทร และลูกเสือเหล่าอากาศได้ สำหรับลูกเสือที่เป็นหญิง อาจใช้ชื่อเรียกว่า เนตรนารี หรือชื่ออื่นซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติให้หมายถึง ลูกเสือที่เป็นหญิงด้วย
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติลูกเสือ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2551 บังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 ประธานกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ คนปัจจุบันคือ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (มอบหมายให้นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่แทนตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการคนก่อน)
พระราชบัญญัติลูกเสือเริ่มด้วยองค์ประกอบ คณะลูกเสือแห่งชาติ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสภาลูกเสือไทย นายกรัฐมนตรีเป็นสภานายก รองนายกรัฐมนตรีเป็นอุปนายก คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติเป็นเลขานุการ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ มีรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการคนหนึ่งเป็นเลขาธิการ
ส่วนคณะกรรมการลูกเสือจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน สำนักงานลูกเสือจังหวัด ผู้อำนวยการเขตพื้นที่เป็นหัวหน้า คณะกรรมการลูกเสือเขตพื้นที่ สำนักงานลูกเสือเขตพื้นที่ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่เป็นประธานและหัวหน้า
วัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ คือ การพัฒนาลูกเสือทั้งทางกาย สติปัญญา จิตใจ และศีลธรรม ให้เป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบและช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสามัคคีและความเจริญก้าวหน้า ทั้งนี้ เพื่อความสงบสุขและความมั่นคงของประเทศชาติเป็นสำคัญ
Cr. www.thansettakij.com
Copyright © 2020 Bangkok.go.th All rights reserved. ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ทุ่งครุ ส่วนห้องสมุดและการเรียนรู้ สำนักงานนันทนาการและส่งเสริมการเรียนรู้
สํานักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว โทร. ๐ ๒๔๒๖ ๕๒๕๗ e-mail : thungkhrulibrary024265257@gmail.com