Main Menu
BANGKOK PORTAL

วันนี้มีที่มา

วันสิทธิผู้บริโภคสากล


     15 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล อีกหนึ่งวันสำคัญที่มีขึ้นเพื่อเตือนให้ผู้บริโภคทุกคนตระหนักถึงสิทธิของตนเอง

     นับเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญสากลที่จะว่าไปก็ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคทุกคนในโลกได้เป็นอย่างดี เพราะทุกวันที่ 15 มีนาคมของทุกปี จะเป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล ซึ่งหากใครยังไม่เคยได้ทำความรู้จักกับความสำคัญของวันสิทธิผู้บริโภคสากล

     วันสิทธิผู้บริโภคสากล และความสำคัญ

     วันสิทธิผู้บริโภคสากล หรือ World Consumer Rights Day ตรงกับวันที่ 15 มีนาคมของทุกปี โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้บริโภคตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเคารพและปกป้องสิทธิของผู้บริโภคทุกคนอย่างทั่วถึงทั้งโลก

     ประวัติความเป็นมา
     วันสิทธิผู้บริโภคสากลเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1962 โดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็นผู้บัญญัติวันสำคัญสากลนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อว่า Consumer Right Day โดยได้รับการรับรองจากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International)

     ทว่ามาเริ่มจัดกิจกรรมและรณรงค์ให้ประชาชนรู้จักวันนี้จริง ๆ ก็เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ปี ค.ศ. 1983 โดยจัดแคมเปญให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรม และเผยแพร่ความสำคัญของวันสิทธิผู้บริโภคสากลตามสื่อต่าง ๆ เท่าที่จะทำได้ และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วันที่ 15 มีนาคมของทุกปี ก็เป็นวันที่ผู้บริโภคทั่วโลกจะได้ตื่นตัวและตระหนักรู้ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเองเรื่อยมา

     ทั้งนี้สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากลก็ได้บัญญัติสิทธิผู้บริโภคสากลขั้นพื้นฐานไว้ 8 ประการ ดังนี้...

     วันสิทธิผู้บริโภคสากล

     สิทธิผู้บริโภคสากล 8 ประการ

     1. สิทธิที่จะได้รับสินค้าและบริการที่จำเป็นในการดำรงชีวิต อันได้แก่ อาหารปลอดภัย ที่อยู่อาศัย การเข้าถึงบริการการศึกษาและสาธารณสุข

     2. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์ กรรมวิธีผลิต และบริการที่เป็นอันตรายต่อคุณภาพชีวิต

     3. สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการหลอกลวงของโฆษณา หรือการแจ้งประกาศที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ

     4. สิทธิที่จะได้เลือกซื้อสินค้าและบริการในราคายุติธรรม ในราคาที่เกิดการแข่งขันกัน และในกรณีที่มีการผูกขาดสินค้าก็จะวางใจได้ว่า จะได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพเป็นที่พอใจ และในราคายุติธรรม

     5. สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นในฐานะตัวแทนผู้บริโภคเพื่อให้ได้รับประโยชน์ที่พึงได้ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ร่วมกับรัฐบาลในการบริหารจัดการ

     6. สิทธิที่จะได้รับค่าชดเชย ในกรณีที่ถูกละเมิด หลอกลวงให้ได้รับสินค้าและบริการที่ไม่มีคุณภาพ กล่าวคือสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการตัดสินเรื่องราวที่ร้องเรียนอย่างถูกต้อง ซึ่งหมายรวมถึงสิทธิที่จะได้รับการชดใช้เมื่อได้รับสินค้าและบริการที่บกพร่องหรือเสียหายหรือการช่วยเหลือหรือการชดใช้อื่น ๆ

     7. สิทธิที่จะได้รับความรู้และไหวพริบอันจำเป็นต่อการบริโภคอย่างเท่าทัน เป็นสิทธิที่จะได้รับความรู้ที่ควรรู้ ควรมี ในการที่จะใช้ในการต่อสู้สิ่งต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค

     8. สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และยังชีพได้อย่างปลอดภัย เป็นสิทธิที่จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงสิทธิที่จะได้รับการป้องกันจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภคแต่ละคนไม่สามารถควบคุมได้เอง สิทธินี้ต้องยอมรับถึงความต้องการที่จะได้รับการคุ้มครองและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ตลอดชั่วอายุเราไปจนชั่วอายุลูกหลานอีกด้วย

     สิทธิผู้บริโภคไทย เป็นอย่างไรบ้าง

     สำหรับประเทศไทยก็ได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิผู้บริโภคด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่า ในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2559 ก็ได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้บริโภคไว้ในมาตรา 46 ว่า "สิทธิของผู้บริโภค ย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค
     องค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสองมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
     และในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 และ2556 ก็ได้บัญญัติสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไว้ 5 ประการ ดังนี้

     1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้อง และเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริง และปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้อง และเพียงพอที่จะไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม

     2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความสมัครใจของผู้บริโภค และปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม

     3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว

     4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ

     5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตามข้อ 1, 2, 3 และ 4 ดังกล่าว

Cr. www.consumerthai.org