“…อยากจะขอเตือนพวกนักเรียนที่ได้รับปริญญาและประกาศนียบัตรทั้งปวงว่า ปริญญาและประกาศนียบัตรก็ดีที่ได้ไปนั้น พวกเจ้าทั้งหลายไม่ควรจะนึกว่าเป็นกุญแจที่จะไปไขลาภยศ หรือไขเอาทรัพย์สินเงินทองให้ลงมาจากสวรรค์ได้ ประกาศนียบัตรหรือปริญญาก็ดี จะมีราคานั้นก็ด้วยเหตุ 2-3 ประการ ประการหนึ่งนั้น ถ้าวิชาที่เราเรียนได้ปริญญาหรือประกาศนียบัตรไป เป็นสิ่งที่ต้องการและเป็นอาชีพที่จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน แก่ประเทศ ปริญญาหรือประกาศนียบัตรเหล่านั้น ก็ย่อมเป็นสิ่งที่มีราคามาก…” พระบรมราโชวาทรัชกาลที่ 7 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 14 ตุลาคม 2474
นับแต่ครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงเยี่ยมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก ณ คณะเเพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2470 คณะรัฐประศาสนศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในวันที่ 9 สิงหาคม 2470 ทรงมีความห่วงใยว่าประชาชนยังไม่ตระหนักชัดถึงความจำเป็นของการศึกษาวิชาชีพชั้นสูงในมหาวิทยาลัย พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณนานัปการเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยสืบสนองพระองค์สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า พระบรมเชษฐาธิราช ก็บังเกิดขึ้น ทั้งต่อเนื่องความร่วมมือทางวิชาการกับมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์ การดำริรูปการของมหาวิทยาลัยเพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้นของการดำเนินงานของจุฬาฯ อีกทั้งการเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรก อันเป็นที่มาของพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ และเสื้อครุยบัณฑิตจุฬาฯ ที่ยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน ก็กำเนิดขึ้นในรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม 2477 และประทับ ณ ประเทศอังกฤษ ตราบถึงเสด็จสวรรคตในวันที่ 30 พฤษภาคม 2484 บรรดานิสิตจุฬาฯ ได้สนองพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการปฏิบัติหน้าที่ในริ้วขบวนเชิญพระบรมอัฐิจากพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ท่าราชวรดิฐ เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2492 แม้ว่าในวันถัดมาจะเป็นวันสอบ แต่ก็มิได้ย่อท้อที่จะมาถวายความจงรักภักดีต่อพระบรมราชูปถัมภกพระองค์นี้อีกครั้ง Cr. www.cuartculture.chula.ac.th