Main Menu
BANGKOK PORTAL

  • ไทย
  • Eng

บทความน่ารู้

โรคมือเท้า ปาก

โรค มือ เท้า ปาก (Hand, Foot, and Mouth Disease : HFMD)


โรค มือ เท้า ปาก (Hand, Foot, and Mouth Disease : HFMD) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (enterovirus) ที่เกิดจากการสัมผัสเชื้อไวรัสที่ออกมาทางอุจจาระ น้ำเหลืองจากตุ่มน้ำบริเวณผิวหนัง ละอองน้ำมูก หรือน้ำลายของผู้ติดเชื้อ ซึ่งอาจปนเปื้อนอยู่ในอาหาร น้ำดื่ม ของเล่น หรือพฤติกรรมการดูดนิ้วมือของเด็กเล็ก อาจทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสได้เช่นกัน ซึ่งอัตราการป่วย พบมากในกลุ่มเด็กเล็กตั้งแต่อายุ 0 – 4 ปี จนถึงเด็กอายุ 5 – 9 ปี และพบได้บ่อยในโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก สถานที่เล่นของเด็กในห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะในบริเวณที่อยู่ร่วมกันอย่างแออัด

 

อาการของผู้ที่เป็นโรคมือ เท้า ปาก
เริ่มต้นจะมีอาการไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย หลังจากนั้น 1 - 2 วัน จะมีน้ำมูก เจ็บปาก เจ็บคอ เบื่ออาหาร เมื่อตรวจดูภายในช่องปากพบตุ่มนูนแดง ๆ หรือมีน้ำใสอยู่ข้างใต้ ขึ้นตามเยื่อบุปาก ลิ้น เหงือก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็ก ๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ ซึ่งจะกลายเป็นตุ่มน้ำสีขุ่นตามมา มักฝ่อแห้งไปเองโดยไม่เหลือรอย อาการทั้งหมดสามารถทุเลาและหายได้เองภายใน 7-10 วัน

ซึ่งหากอาการไม่ดีขึ้น มีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชัก เกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรงที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น เยื่อหุ้มสมองหรือเนื้อสมองอักเสบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
ซึ่งเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

แนวทางการรักษาโรคมือ เท้า ปาก
โดยทั่วไป อาการของโรคมือเท้าปากจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง โดยแพทย์จะทำการรักษาตามอาการ เช่น การให้รับประทานยาแก้ไข้ ในรายที่เพลียมากแพทย์อาจให้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ร่วมกับให้ยาลดไข้แก้ปวด ยารักษาแผลในปาก และให้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่จำเป็น ร่วมกับการเฝ้าระวังสังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

การป้องกันโรคมือเท้าปาก
การป้องกันการติดโรคมือ เท้า ปากที่ดีที่สุด คือการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล การไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น การล้างมือบ่อย ๆ การทำความสะอาดของเล่นและเครื่องใช้ต่าง ๆ การดูแลความสะอาดของอาหารและเครื่องดื่ม สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน และหลีกเลี่ยงการพาเด็ก ๆ ไปในสถานที่ที่มีโอกาสสัมผัสกับโรคได้ เช่น สนามเด็กเล่น ตลาด หรือแหล่งที่มีคนแออัด

นอกจากนี้ โรคมือ เท้า ปาก ยังสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงได้ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นวัคซีนที่ผลิตมาเพื่อต้านเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 โดยเฉพาะ เพราะเป็นเชื้อตัวสำคัญที่อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงได้ สำหรับอายุที่แนะนำในการฉีดวัคซีนมือเท้าปาก คือ เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี

หากเด็กที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรหยุดเรียน และพักรักษาให้หายก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ไปแพร่เชื้อยังเด็กคนอื่นๆ และผู้ปกครองต้องรีบแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบ 
และที่สำคัญต้องหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลาน หากพบว่ามีอาการผิดปกติ ควรพาเด็กมาพบแพทย์โดยเร็ว


 


อ้างอิง
Bangpakok3 (โรงพยาบาลบางปะกอก 3)
https://www.bangpakok3.com/care_blog/view/197

Phyathai Hospital (โรงพยาบาลพญาไท)
https://www.phyathai.com/th/article/2526-hand_foot_mouth_disease_in_children_and__prevention_branchpyt2

Rama Channel (งานสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี)
https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/โรคมือเท้าปาก-โรคระบาดใ/

Sikarin (โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ)

https://www.sikarin.com/health/โรคมือ-เท้า-ปาก-รับมืออย