Main Menu
BANGKOK PORTAL

  • ไทย
  • Eng

บทความน่ารู้

‘เฟลิแซตต์’ แมวอวกาศที่ถูกลืม



‘เฟลิแซตต์’ แมวอวกาศที่ถูกลืม

     ประวัติศาสตร์ในยุคสงครามเย็นที่ ‘สหภาพโซเวียต’ กับ ‘สหรัฐอเมริกา’ พยายามจะชิงความเป็นผู้นำในด้านต่างๆ โดยเฉพาะ ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ ทำให้สิ่งมีชีวิตจำนวนหนึ่งถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจนอกโลกเพื่อทดสอบความปลอดภัยก่อนที่มนุษย์จะถูกส่งออกไปนอกโลกเสียเอง

     ‘ไลกา’ (Laika) หมาอวกาศของสหภาพโซเวียต เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่กว่าหนูทดลองตัวแรกซึ่งถูกส่งไปกับยานอวกาศในปี 1957 แต่ชะตากรรมของไลกานั้นน่าเศร้าเพราะต้องตายท่ามกลางอวกาศ

     ส่วนคิวต่อมาเป็นของ ‘แฮม’ (Ham) ชิมแปนซีตัวแรกที่ออกไปนอกโลกพร้อมยานสำรวจของสหรัฐฯ เมื่อปี 1961 ซึ่งแฮมโชคดีกว่าไลกาอยู่นิดหน่อยตรงที่กลับสู่โลกได้อย่างปลอดภัย

     แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปีก็มี ‘เฟลิแซตต์’ (Félicette) แมวตัวแรกที่องค์กรอวกาศฝรั่งเศส (CERMA) ส่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศนอกโลกเป็นเวลานาน 15 นาที และกลับลงสู่พื้นโลกโดยปลอดภัยเช่นกัน

     ภารกิจของเฟลิแซตต์เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาว่าการขึ้นไปอยู่ในอวกาศมีผลต่อ ‘สมอง’ ของสิ่งมีชีวิตอย่างไร เฟลิแซตต์จึงถูกเชื่อมต่อกับเครื่องตรวจวัดคลื่นสมองและชีพจรก่อนจะถูกนำไป ‘ประจำที่’ ในยานรูปทรงแคปซูลที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวเฟลิแซตต์ไม่เท่าไหร่ และถูกส่งออกนอกโลกจากฐานปล่อยจรวดในทะเลทรายซาฮาราช่วงต้นเดือนตุลาคม 1963

     โดยเว็บไซต์ Gizmodo รายงานว่า เฟลิแซตต์ไม่ใช่ตัวเลือกแรกที่จะถูกส่งไปปฏิบัติภารกิจนอกโลกในวันที่ 18 ตุลาคม 1963 เพราะจริงๆ แล้วจะต้องเป็นแมวตัวผู้ที่ถูกตั้งชื่อว่า ‘เฟลิกซ์’ (Felix) ตามอย่าง Felix the Cat ตัวการ์ตูนแมวขาวดำที่โด่งดังในยุคหนังเงียบ แต่เจ้าเฟลิกซ์กลับหายตัวไปก่อนภารกิจจะเริ่ม ทำให้เฟลิแซตต์ ซึ่งตอนนั้นมีชื่อเรียกว่า C341 ถูกนำมาเป็น ‘ตัวตายตัวแทน’ ของเฟลิกซ์

     ข้อมูลของ Gizmodo บอกว่าภารกิจถูกเลื่อนไปเป็นวันที่ 24 ตุลาคม ขณะที่ Smithsonian Magazine บอกว่าเฟลิแซตต์ถูกส่งไปยังชั้นบรรยากาศที่อยู่เหนือโลกราว 100 ไมล์ ในวันที่ 18 ตุลาคมเหมือนเดิม จึงไม่อาจยืนยันได้ชัดเจนว่าวันไหนกันแน่ที่แมวอวกาศตัวแรกถูกส่งไปนอกโลก

     แต่สิ่งหนึ่งที่รายงานตรงกันแทบทุกสื่อ คือ เฟลิแซตต์เป็นแมวทักซิโด (Tuxedo cat) สองสี เพศเมีย มีนิสัยเรียบร้อย และเดิมเป็นแมวจรในกรุงปารีสที่ถูกนำตัวมาเข้าร่วมในโครงการสำรวจอวกาศของ CERMA พร้อมกับเพื่อนแมวรวม 14 ตัว

     หลังจากที่ออกบินไปนอกโลก เฟลิแซตต์กลับสู่พื้นดินได้อย่างปลอดภัย และผลตรวจวัดชีพจรกับคลื่นสมองในตอนแรกก็ดูปกติดี แต่สองเดือนหลังจากนั้นเฟลิแซตต์ก็ถูกนำไปการุณยฆาต ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีคนรักแมวในยุคหลังเรียกแบบตรงๆ ว่ามันคือ ‘การฆ่า’ เพราะนักวิทยาศาสตร์ของโครงการต้องชำแหละเพื่อดูว่าสมองของเฟลิแซตต์เปลี่ยนไปอย่างไรบ้างหลังจากขึ้นไปอยู่ในอวกาศระยะหนึ่ง

     ตรงนี้เองที่เกิดความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดระหว่างหมาอวกาศลิงอวกาศและแมวอวกาศเพราะสัตว์สองตัวแรกแม้จะต้องตายเพราะภารกิจเหมือนๆ กันแต่ก็ยังได้รับการยกย่องและเป็นที่จดจำโดยรัฐบาลทั้งสองประเทศที่ส่งพวกมันขึ้นไปปฏิบัติภารกิจนอกโลก
กรณี ‘ไลกา’ หมาอวกาศ ถูกรายงานข่าวทั้งขาไปขากลับ แทบจะเหมือนวีรบุรุษสงคราม และต่อมาภาพของไลกาก็ถูกนำไปทำเป็นอนุสาวรีย์ สแตมป์ รวมถึงงานศิลปะที่เป็นโฆษณาชวนเชื่ออื่นๆ ของโซเวียต ขณะที่ ‘แฮม’ ถูกนำร่างไปฝังในอนุสรณ์สถานแห่งชาติที่เกี่ยวกับอวกาศของสหรัฐฯ และมีบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติภารกิจของแฮมอย่างละเอียดในพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ภายในประเทศ

     แต่เฟลิแซตต์นั้นถูกผ่าสมองเพื่อทำการวิจัยอะไรต่างๆ นานา และในที่สุดคณะนักวิทยาศาสตร์ก็สรุปผลว่า สมองของสิ่งมีชีวิตที่ขึ้นไปบนอวกาศ ‘ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก’ แต่ก็ไม่รู้ว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการทดลองนี้ถูกนำไปวิจัยหรือพัฒนาต่อยอดอย่างไรหรือไม่ เพราะข้อมูลเกี่ยวกับเฟลิแซตต์เงียบหายไปเลย ไม่ได้ถูกรายงานผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ใดๆ หลังจากนั้น บทความของ Smithsonian คาดว่าการที่ชะตากรรมของเฟลิแซตต์เป็นแบบนี้เพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการแข่งขันด้านอวกาศอย่างดุเดือดระหว่างโซเวียตกับสหรัฐฯ และเทคโนโลยีหลายๆ อย่างก็พัฒนาไปไกลกว่าฝรั่งเศสมากโข ภารกิจ ‘แมวอวกาศ’ จึงไม่ทำให้คนรู้สึกตื่นเต้นอะไรมากนัก หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงเฟลิแซตต์ในแวดวงวิทยาศาสตร์และอวกาศสักเท่าไหร่

     จนกระทั่งปี 2015 มี ‘ทาสแมว’ คนหนึ่งที่สนใจเรื่องแมวอวกาศ ชื่อว่า แมทธิว เซอร์เก กาย (Matthew Serge Guy) อาศัยอยู่ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ ค้นเจอข้อมูลเรื่องนี้ และสงสัยว่าทำไมถึงไม่มีคนให้ความสนใจเรื่องเฟลิแซตต์ และรู้สึกว่าการหลงลืมแมวอวกาศตัวแรกของโลกไปเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม เขาก็เลยระดมทุนผ่านเว็บไซต์ kickstarter เพื่อจะหาเงินสร้างอนุสาวรีย์ให้เฟลิแซตต์ด้วยตัวเอง

     เวลาผ่านไปราว 2 ปี มีคน 1,100 คนจากหลายประเทศร่วมสนับสนุนเงินให้กับแมทธิว จนกระทั่งเขารวมเงินได้กว่า 74,575 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2.38 ล้านบาท) ก็เลยนำแบบที่ร่างไว้แล้วไปสร้างเป็นรูปปั้นทองแดงของเฟลิแซตต์ขึ้นมา

     หลังจากนั้นแมทธิวก็ได้ติดต่อประสานไปยัง ‘มหาวิทยาลัยอวกาศนานาชาติ’ The International Space University (ISU) ในเมืองสทราซบูร์ (Strasbourg) ของฝรั่งเศส เพื่อหารือว่าจะนำรูปปั้นของเฟลิแซตต์ไปตั้งไว้ที่นั่นได้หรือไม่ เพื่อจะได้เป็นที่จดจำรำลึกและช่วยให้คนที่สนใจเรื่องอวกาศได้รับรู้ว่าอย่างน้อยก็เคยมีแมวตัวหนึ่งต้อง ‘สละชีวิต’ เพื่อมนุษย์

     ทางมหาวิทยาลัยได้รับเรื่องแล้วก็เห็นด้วย และอำนวยความสะดวกให้รูปปั้นเฟลิแซตต์ถูกนำไปลงหลักปักฐานที่มหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการได้สำเร็จในปี 2020 เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับ ‘แมวอวกาศ’ ที่โลกเกือบจะลืมไปแล้วในตอนแรก
 
ขอบคุณขอมูลจาก BrandThink
https://www.brandthink.me/content/felix-the-cat