Main Menu
BANGKOK PORTAL

  • ไทย
  • Eng

บทความน่ารู้

เมื่อ “ สีเขียว ” คือสีแห่งความตายและฆาตกรตัวร้ายในยุควิกตอเรียน




เมื่อ “ สีเขียว ” คือสีแห่งความตายและฆาตกรตัวร้ายในยุควิกตอเรียน

Highlights
    ในยุควิกตอเรียน แฟชั่นสีเขียวอ่อนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากสวยสะดุดตา สีเขียวสดใสที่รู้จักกันในชื่อ Scheele's green ยังเป็นเครื่องหมายของความร่ำรวย ความหรูหรา และความทันสมัย

    แต่หากมองด้วยตาเปล่าสีเขียวแบบใหม่ไม่น่ามีพิษภัย ในยุคที่คนทั่วไปไม่มีความเข้าใจเรื่องส่วนประกอบทางเคมี สีเขียว Scheele ถือกำเนิดขึ้นเมื่อราว ๆ ปี 1778 เมื่อ Carl Scheele นักเคมีชาวสวีเดน เป็นคนแรกที่เริ่มผสมสาร copper arsenite ลงไปเพื่อช่วยให้สีเขียวมีความสว่างขึ้นกว่าเฉดปกติ ซึ่ง copper arsenite เป็นสารประกอบของสารหนูที่มีความเป็นพิษอยู่สูงมาก

    เบื้องหลังความงามของสีเขียว Scheele ยังสอนให้เรารู้ว่า การตามแฟชั่นมากเกินไปอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
 
    วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน 1862 Dr. Thomas Orton (โทมัส ออร์ตัน) ศัลยแพทย์ชื่อดังประจำเกาะอังกฤษ ถูกเชิญมารักษาอาการป่วยของ Ann Amelia Turner (แอนน์ อมีเลีย เทิร์นเนอร์) ลูกสาววัย 3 ขวบของตระกูลมั่งมีในกรุงลอนดอน โดยแอนน์เพิ่งเสียพี่น้องอีก 3 คนไปด้วยอาการป่วยปริศนา พ่อและแม่กลัวเหลือเกินว่าแอนน์ตัวน้อยจะกลายเป็นเหยื่อรายต่อไป
 
    พี่น้องของแอนน์ได้รับการวินิจฉัยโดยศัลยแพทย์ท้องถิ่นว่าเสียชีวิตด้วยโรคคอตีบ โรคยอดนิยมของเด็กในศตวรรษที่ 19 แต่การเสียชีวิตติดต่อกันของบุตรทั้งสามในเวลาเพียง 2 เดือนสร้างความสงสัยให้ครอบครัวเทิร์นเนอร์เป็นอย่างมาก
 
    หลังเดินทางมาถึงบ้านเทิร์นเนอร์ ในบันทึกของหมอออร์ตันเล่าว่า แอนน์มีอาการอ่อนเพลียรุนแรงและไม่สามารถกลืนอาหารได้ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นพื้นฐานของโรคคอตีบตามที่เข้าใจ แต่ที่น่าสงสัยคือในละแวกเดียวกันกลับไม่พบเด็กคนไหนป่วยเป็นโรคคอตีบเลยแม้แต่รายเดียว ความจริงข้อนี้สร้างความข้องใจให้หมออย่างเขาเป็นอย่างมาก

    ออร์ตันจึงดำเนินการรักษาตามอาการ ก่อนจดโน้ตถึงลักษณะที่พักของตระกูลเทิร์นเนอร์ไว้แนบท้ายว่า
    ‘อาคารที่พักมีอากาศถ่ายเทดี ระบบระบายน้ำใช้ได้ตามปกติ ในห้องนอนประดับวอลล์เปเปอร์สีเขียวสดใส’
 
    ในที่สุดแอนน์ก็เสียชีวิตในอีกไม่กี่วันให้หลัง หมอออร์ตันขอให้มีการชันสูตรศพของเธอ ทำให้พบว่าสาเหตุของการเสียชีวิตนี้เกิดจากสารหนู

    หลังรายงานแพร่ออกไป Dr. Letheby (เลเทอบีย์) นักเคมีประจำโรงพยาบาลลอนดอน ก็ได้ออกมาให้การสนับสนุนว่า แอนน์น่าจะเสียชีวิตเพราะวอลล์เปเปอร์สีเขียวในห้องนอน เนื่องจากสีเขียวอ่อนมักมีสารหนูเป็นส่วนประกอบจำนวนมาก
 
    “สีเขียวแบบนี้ไม่ว่าจะอยู่ในภาพวาด วอลล์เปเปอร์ หรือแม้กระทั่งเสื้อผ้า ก็สามารถฆ่าคนตายได้ทั้งนั้น” ดอกเตอร์เลเทอบีย์กล่าว
ในยุควิกตอเรียน แฟชั่นสีเขียวอ่อนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะสวยสะกดใจ สีเขียวสดใสที่รู้จักกันในชื่อ vivid green หรือ Scheele’s green ยังเป็นเครื่องหมายของความร่ำรวย ความหรูหรา และความทันสมัย เชื่อหรือไม่ว่าเบื้องหลังความงาม สีเขียว Scheele ยังสอนให้เรารู้ว่า การตามแฟชั่นมากเกินไปอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต
 
    จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้มีที่มาจากตรงไหน? ฆาตกรต่อเนื่องที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมายถือกำเนิดขึ้นราว ๆ ปี 1778 เมื่อ Carl Scheele (คาร์ล ชีเล่) นักเคมีชาวสวีเดน เป็นคนแรกที่เริ่มผสมสาร copper arsenite (คอปเปอร์ อาร์เซไนต์) ลงไปเพื่อช่วยให้สีเขียวสว่างขึ้นกว่าเฉดปกติ

    แม้ copper arsenite (คอปเปอร์ อาร์เซไนต์) จะเป็นสารประกอบของสารหนูที่มีความเป็นพิษอยู่สูงมาก แต่หากมองด้วยตาเปล่าสีเขียวแบบใหม่กลับไม่น่ามีพิษภัยในยุคที่คนทั่วไปไม่มีความเข้าใจเรื่องส่วนประกอบทางเคมี โดยความนิยมในสีเขียวนี้ได้รับความสนใจในยุโรปและข้ามฝั่งมาถึงอังกฤษอย่างรวดเร็ว สีเขียวที่สวยชัดได้รับการชื่นชมอย่างแพร่หลายและกลายเป็นสีที่ถูกใช้บ่อย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พวกเขาเห็นว่ามีค่ามากที่สุดคือในบ้านของพวกเขานั่นเอง

    ในยุควิกตอเรียนเป็นยุคสมัยที่ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ หน้าที่ของชาย-หญิงถูกแบ่งอย่างชัดเจน การแต่งกาย ภาพถ่าย ไปจนถึงรสนิยมในการตกแต่งบ้าน ถูกนำมาวัดและตีค่าชนชั้นทางสังคม ความก้าวหน้าทางเศรฐกิจและเทคโนโลยีทำให้เกิดกลุ่มทุนใหม่และชนชั้นกลาง เหล่าผู้มีอันจะกินจัดซื้อของใช้และเครื่องตกแต่งแบบใหม่ล่าสุดเพื่อทำให้บ้านกลายเป็นตัวแทนของครอบครัวอบอุ่นและมั่งมี
 
    คนในยุคนี้เชื่อว่าความสำเร็จในชีวิตถูกนำเสนอผ่านจำนวนของใช้และความสะดวกสบายภายในครัวเรือน กลายเป็นที่มาของประโยคเปรียบเปรยโด่งดังอย่าง safe as houses–ปลอดภัยเหมือนบ้าน (เป็นสำนวน แปลว่าปลอดภัยมากๆ), domestic heaven–สวรรค์ในบ้าน หรือการเปรียบเปรยภรรยาว่าเป็น angel of the house–นางฟ้าของบ้าน
 
    แต่ใช่ว่ามีเงินอย่างเดียวจะใช้ได้ สังคมวิกตอเรียนให้ความสำคัญกับรสนิยมในทุกตารางนิ้ว ยุคนี้มีไกด์บุ๊กมากมายที่แนะนำว่าผู้มีอันจะกินควรตกแต่งบ้านของตัวเองแบบไหน John Ruskin (จอห์น รัสกิน) นักวิจารณ์งานศิลปะและนักสังคมศาสตร์คนสำคัญ กล่าวถึงความสำคัญของการเลือกของตกแต่งที่ถูกต้องว่า “ผู้มีรสนิยมดีสะท้อนคุณค่าทางจิตใจ สิ่งที่เราชอบบ่งบอกว่าเราเป็นคนแบบไหน และการสอนรสนิยมให้ใครหมายถึงการสร้างตัวตนให้คนคนนั้น”

    หนึ่งในสิ่งของที่สะท้อนรสนิยมและความร่ำรวยของเจ้าบ้านคือ วอลล์เปเปอร์ โดยเฉพาะวอลล์เปเปอร์ที่เลือกติดไว้ในห้องรับแขก (drawing room) ยิ่งมีลวดลายมากและมีสีสันสดใสเท่าไหร่ยิ่งหมายถึงราคาที่มากตามไปด้วย และมีแต่บ้านคนรวยเท่านั้นที่จะมีแสงสว่างจากไฟฟ้ามากพอที่จะนำเสนอลวดลายและสีสันที่สวยงามของวอลล์เปเปอร์ในแต่ละห้อง
 
    หนังสือแนะนำสีสำหรับวอลล์เปเปอร์และเสื้อผ้าในยุคนั้นเห็นตรงกันว่า สีเขียวเป็นสีที่เหมาะสมที่สุดเพราะสบายตา ทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกสดชื่น มีความสุข และเป็นเครื่องหมายของการมีสุขภาพที่ดี ตรงกันข้ามกับสีส้มหรือสีเหลืองโทนแดงที่เป็นตัวแทนของความหยาบกระด้างและชนชาติด้อยพัฒนาป่าเถื่อน
 
    ในบรรดาสีเขียวมากมาย สีเขียว Scheele (สชีเล่) เป็นโทนสีเขียวที่ได้รับความนิยมมาก เหตุผลเพราะความสดใสและคุณสมบัติของมันที่ไม่ซีดจางหรือลอกง่าย ในช่วงที่ Scheele’s green ได้รับความนิยมสูงสุด ผู้มีอันจะกินนิยมใช้สีนี้ผสมทุกอย่าง ตั้งแต่เสื้อผ้า พรม ของเล่นเด็ก และเทียนไข

    น่าสนใจว่าเมื่อสีเขียวถูกใช้แพร่หลาย เหตุการณ์การตายลึกลับของเด็กจำนวนมากก็เริ่มปรากฏ แต่ความเข้าใจในยุคนั้นยังคิดกันว่าเด็กๆ น่าจะเป็นโรคอื่นอย่าง อาทิ คอตีบ หรืออหิวาต์ ซึ่งเป็นโรคที่ระบาดมากในอังกฤษ
 
    ช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 หน้าข่าวหนังสือพิมพ์เต็มไปด้วยปรากฏการณ์ลึกลับอย่าง ‘เด็กทารกอายุ 6 เดือนเสียชีวิตหลังกินเศษวอลล์เปเปอร์สีเขียว’ หรือ ‘คุณผู้หญิงเสียชีวิตในวันต่อมาหลังห้องนอนของเธอถูกตกแต่งเป็นสีเขียวสดใส’ แต่ถึงจะไม่ได้กินเข้าไปและไม่ได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในห้องสีเขียว การเดินผ่านห้องหรือการสูดอากาศที่ปนเปื้อนสารหนูในปริมาณที่มากพอก็ทำให้ป่วยไข้ได้เหมือนกัน
    ในปี 1856 คู่แต่งงานในเบอร์มิงแฮมไปพบหมอด้วยอาการแสบตา ปวดหัว และเจ็บคออย่างรุนแรง แม้แต่นกแก้ว สัตว์เลี้ยงของพวกเขา ก็มีอาการป่วยคล้ายกัน หมอแนะนำให้คู่แต่งงานเดินทางไปพักตากอากาศในสถานที่เปิดโล่ง พวกเขาตัดสินใจไปทะเล แล้วอาการที่ว่าก็หายไปเองอย่างน่าประหลาด พวกเขาเริ่มสงสัยว่ามีอะไรบางอย่างที่เป็นพิษอย่างมากอยู่ในบ้าน หมอเดินทางไปเยี่ยมบ้านของคู่แต่งงานและพบว่าพวกเขาใช้สีเขียว Scheele (สชีเล่) เป็นสีวอลล์เปเปอร์ในห้องถึง 2 ห้อง
 
    ถึงตอนนี้พอมีกระแสมากๆ เข้า ข่าวลือว่าสีเขียวอาจเป็นภัยถึงชีวิตก็เริ่มฮิตเป็นกระแสและถูกนำมาเล่าในข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ นักวาดการ์ตูนชื่อดังอย่าง John Leech (จอห์น ลีช) ก็เคยวาดภาพล้อเลียนเป็นโครงกระดูกชาย-หญิงสวมชุดราตรีสีเขียวสดใสในงานเต้นรำ เพื่อตอกย้ำความโง่เขลาของสังคมผู้ดีที่วางยาพิษตัวเองด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับสีเขียวผสมสารหนู

    สมาคมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์เริ่มตั้งคำถามถึงความไม่ปลอดภัยของสารประกอบในสีวอลล์เปเปอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาพบว่าวอลล์เปเปอร์ที่ต้องสงสัยหรือได้รับการพิสูจน์ว่ามีสารหนูเป็นส่วนประกอบถูกแบนห้ามจัดจำหนายในประเทศเยอรมนี แม้ว่าหมอและนักข่าวจะร่วมมือกันขอให้รัฐบาลอังกฤษทำอะไรสักอย่าง แต่ผู้ผลิตในระบบอุตสาหกรรมก็รวมตัวกันปฏิเสธ กระทั่งกล่าวว่าจะลองกินวอลล์เปเปอร์ให้ดูเพื่อพิสูจน์ว่ากระบวนการผลิตปลอดภัย

    จนแล้วจนรอดกว่ารัฐสภาอังกฤษจะออกมายืนยันความจริงข้อนี้อย่างจริงจังก็ปาเข้าไปตั้งปี 1903 ถึงตอนนั้นสีเขียวก็ถูกพบจนเป็นปกติทั้งในแสตมป์ โปสต์การ์ด หนังสือ หรือกระทั่งในอาหาร! (ใช้พ่นผักให้มีสีเขียวน่ารับประทาน) ส่วนเหตุผลที่รัฐบาลเพิ่งมาตัดสินใจเอาได้ตอนนี้เป็นเพราะควีนวิกตอเรียเองก็มีห้องสีเขียว Scheele (สชีเล่) เหมือนกัน
 
    พระองค์ทรงเคยต้อนรับราชทูตและให้พระราชอาคันตุกะอาศัยอยู่ในห้องสีเขียว ก่อนที่ราชทูตจะป่วยหนักในเช้าวันต่อมา เขากล่าวโทษว่าห้องสีเขียวแบบนี้เป็นสาเหตุ ทำให้ควีนวิกตอเรียเริ่มสนใจและได้ค้นคว้าด้วยตัวเองจนพบว่ามีข่าวแบบนี้เกิดขึ้นมากมาย พระองค์ทรงพบว่ามีการแบนสีเขียวผสมสารหนูในหลายประเทศนอกเกาะอังกฤษ
 
    น่าสนใจว่า Scheele’s green ไม่เคยถูกห้ามใช้จริงจังผ่านกฎหมาย แต่ผู้บริโภคก็เริ่มตาสว่างและหันมาทำความเข้าใจเรื่องอันตรายที่มากับสี การเลิกซื้อ เลิกใช้ และเลิกสนับสนุน ผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับสารหนูกลายเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตต้องหันมาพิจารณาตัวเองเพื่อออกสินค้าใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ และที่สำคัญต้องไม่มีสารเคมีตัวร้ายเป็นส่วนประกอบ
 
    ทั้งนี้หากใครได้ไปเยี่ยมชมห้องสมุดเก่าแล้วเจอหนังสือปกเขียว ให้พึงระลึกไว้ตั้งแต่ต้นว่า นั่นคือหนังสือ "อาบยาพิษ" มรดกตกทอดสุดพิลึกจากยุควิคตอเรียน
 
    โดยเรื่องมันเริ่มมาจาก เมลิสสา ทีโดน หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ห้องสมุดจากพิพิธภัณฑ์วินเทอร์เธอร์ ในเมืองเดลาแวร์ สหรัฐอเมริกา
ที่วันหนึ่งในปี 2019 ขณะที่เธอกำลังตรวจสอบหนังสือของห้องสมุดเล่มหนึ่ง จากปี 1857 ชื่อ 'Rustic Adornments for Homes and Taste' เธอก็ได้สังเกตผ่านกล้องจุลทรรศน์แล้วเห็นเม็ดผงสีเขียวที่ใช้เสริมความแข็งแรงของผ้าหุ้มปกหนังสือที่กำลังหลุดลอกออกไป
 
    และเมื่อได้เอาตัวอย่างชิ้นผ้านี้ไปให้โรซี่ เกรย์เบิร์น หัวหน้าห้องปฏิบัติการของพิพิธภัณฑ์นำมันไปเอ็กซ์เรย์ดู ก็พบว่ามันมีองค์ประกอบของทองแดง (คอปเปอร์ อาร์เซไนต์) และสารหนูผสมอยู่
จึงเกิดโครงการพิเศษที่ชื่อว่า "โครงการหนังสือพิษ" ที่เริ่มตรวจสอบหนังสือปกเขียวในพิพิธภัณฑ์ จนเจอเพิ่มอีกอย่างน้อย 100 เล่มจากห้องสมุดทั่วโลกที่มีสารพิษในลักษณะเดียวกัน
 
    และภายในเดือนเมษายน 2022 มีการระบุหนังสือได้ 88 เล่ม ที่มีสีเขียวสชีเล่ ซึ่งมากกว่า 70 เล่มมีเม็ดสีอยู่ในผ้าหุ้มปก และภายในเดือนกันยายน ก็มีการระบุหนังสือแล้วมากกว่า 101 เล่ม
ทั้งนี้โครงการนี้ก็ไม่ได้คิดที่จะพยายามทำลายหนังสือ แต่ต้องการให้มีการจัดเก็บรักษาหนังสือไว้อย่างถูกต้อง มีการส่งหนังสือที่มีสีเขียวสชีเล่ไปจัดแสดงเป็นตัวอย่างในห้องสมุดของ 4 รัฐในสหรัฐอเมริกา และ 2 ประเทศต่างแดน

ขอบคุณอ้างอิงจาก

A day

https://adaymagazine.com/scheeles-green/ 

Paperyard ร้านหนังสือเปเปอร์ ยาร์ด