Main Menu
ไทย
Eng
ติดต่อเรา
แบบสอบถาม
โพลล์สำรวจ
สมัครสมาชิกห้องสมุด
Facebook
หน้าหลัก
ข้อมูลห้องสมุด
รู้จักห้องสมุด
บทความ
บทความน่ารู้
บทความน่ารู้
แหล่งความรู้อื่นๆ
หนังสือและสิ่งพิมพ์
หนังสือมาใหม่
หนังสือแนะนำจากบรรณารักษ์
บรรณนิทัศน์ออนไลน์
บริการ
หนังสือและสิ่งพิมพ์
ยืม-คืน อุปกรณ์
ห้องค้นคว้า
ห้องวีดีทัศน์
จอง/ขอใช้บริการ
ตู้ล็อกเกอร์
ฟรีอินเตอร์เน็ต
บริการอื่นๆ
อีบุ้คและมัลติมีเดีย
ข่าวประชาสัมพันธ์/ปฎิทินกิจกรรม
ข่าวประชาสัมพันธ์ห้องสมุด
ปฏิทินกิจกรรม
ระบบสืบค้นหนังสือ
ข่าวสารออนไลน์ผ่านทาง Link
ภาพกิจกรรมประจำสัปดาห์
E-Books
หน้าแรก
บทความ
บทความน่ารู้
บทความน่ารู้
บทความน่ารู้
กลับไปหน้าหลัก
"แอนทิโนอุส" หนุ่มน้อยผู้กุมหัวใจจักรพรรดิโรมัน
“แอนทิโนอุส” หนุ่มน้อยผู้กุมหัวใจจักรพรรดิโรมัน
แอนทิโนอุส (Antinous) หนุ่มน้อยชาวกรีกจากไบธีเนีย (Bithynia) ผู้มีใบหน้าอันงดงามจนเป็นที่ต้องพระทัยตั้งแต่แรกเห็นและกลายเป็นที่รักของ เฮเดรียน (Hadrian) จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมัน (ค.ศ. 76-138, ครองราชย์ ค.ศ. 117 – 138)
ข้อมูลวัยเด็กของแอนทิโนอุสไม่มีบันทึกไว้มากนัก ทราบเพียงเขาเกิดวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 110 ณ เมืองคลอดิโอโปลิส (Claudiopolis) แคว้นไบธีเนีย ตอนเหนือของอนาโตเลียหรือประเทศตุรกีฝั่งทวีปเอเชียในปัจจุบัน ไบธีเนียในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของโลกกรีกโบราณและอยู่ในอาณาเขตปกครองของจักรวรรดิโรมัน แอนทิโนอุสจึงเป็นชาวกรีกโดยกำเนิด ไม่มีหลักฐานว่าเฮเดรียนพบหนุ่มน้อยได้อย่างไร แต่ทราบว่าพวกเขาเจอกันเมื่อครั้งจักรพรรดิเสด็จเยือนเมืองไนโคเมเดีย (Nicomedia) ในแคว้นไบธีเนียช่วง ค.ศ. 123 เพื่อการฟื้นฟูเมืองหลังไนโคเมเดียเผชิญภัยพิบัติแผ่นดินไหว
ไม่ว่าแอนทิโนอุสจะเป็นส่วนหนึ่งของคณะต้อนรับหรือร่วมในงานเฉลิมฉลองการเสด็จเยือนของจักรพรรดิ หนุ่มน้อยชาวกรีกวัย 13 ปี มีโอกาสได้พบกับจักรพรรดิโรมันผู้ยิ่งใหญ่ในเหตุการณ์ครั้งนี้ และเฮเดรียนตกหลุมรักแอนทิโนอุสตั้งแต่แรกพบ
ความสัมพันธ์ระหว่างเฮเดรียนกับราชินีวิเบีย ซาบินา (Vibia Sabina) คู่สมรสของพระองค์ไม่ค่อยราบรื่นมาตั้งแต่แรกแล้ว เพราะรสนิยมทางเพศของเฮเดรียนไม่ใช่สตรี เฮเดรียนอายุล่วงเข้าปีที่ 47 ตอนพระองค์พบตัวแอนทิโนอุสที่ไนโคเมเดีย และอุปการะหนุ่มน้อยชาวกรีกผู้นี้ทันที ซึ่งสังคมโรมันในยุคนั้นไม่ถือว่าความสัมพันธ์ระหว่างชายสูงอายุกับเด็กหนุ่มเป็นเรื่องผิด ตราบใดที่เป็นความยินยอมของทั้งสองฝ่าย โดยชาวโรมันรับเอาทัศนคติแบบเสรีนิยมเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศมาจากกรีก และภาษาละตินของโรมันไม่มีคำศัพท์ที่ใช้แยกระหว่าง “รักร่วมเพศ” กับ “รักต่างเพศ” ด้วยซ้ำ
เฮเดรียนพาแอนทิโนอุสมายังกรุงโรมก่อนส่งเขาไปเรียนในสถาบันการศึกษา “Paedogogium” ซึ่งเป็นโรงเรียนฝึกสอนเด็ก ๆ สำหรับการรับใช้เหล่าวุฒิสมาชิกกับชนชั้นสูงในอนาคต รวมถึงฝึกเหล่าเด็กหนุ่มเพื่อมาเป็นมหาดเล็กส่วนพระองค์ของจักรพรรดิด้วย
เฮเดรียนมอบความรักอย่างลึกซึ้งแก่แอนทิโนอุส ทั้งมอบการศึกษา ความรู้พื้นฐาน และทักษะทางสังคมในราชสำนัก มอบของขวัญสูงค่าต่าง ๆ รวมถึงทักษะเรื่องเพศให้แก่เขาด้วย ไม่นานเพียง 2 ปีหลังการศึกษา เฮเดรียนพาแอนทิโนอุสออกจากกรุงโรมที่วุ่นวายมาอยู่ในคฤหาสน์อันหรูหราบนเนินเขาซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง ที่แห่งนี้เพียบพร้อมด้วยสวนพฤกษชาติ สระน้ำ น้ำตก น้ำพุ มีห้องนอน ห้องชุด ห้องจัดเลี้ยง พื้นประดับกระเบื้องโมเสค จิตรกรรมฝาผนังอันงดงาม (Fresco) และอ่างน้ำอุ่น
และในคฤหาสน์ยังเต็มไปด้วยผู้รับใช้ทั้งบริกร พ่อครัว และคนสวนอีกมากมาย มีคอกม้าและผู้ดูแลสำหรับการออกไปล่าสัตว์ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จักรพรรดิทรงโปรดปราน เฮเดรียนพาแอนทิโนอุสติดตามพระองค์ไปทุกที่และทุกครั้งหากเดินทางออกจากกรุงโรม จากสิ่งที่จักรพรรดิมอบให้หนุ่มน้อยแทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าแอนทิโนอุสเองจะมอบความรักของตนแก่เฮเดรียนหรือไม่
ค.ศ. 127 ระหว่างที่เฮเดรียนพาแอนทิโนอุสเดินทางท่องเที่ยวทั่วคาบสมุทรอิตาลี จักรพรรดิทรงล้มป่วยด้วยโรคปริศนาและมีอาการเรื้อรังตั้งแต่ตอนนั้น หมอหลวงทั้งหลายพยายามหาวิธีรักษาแต่ไม่สามารถทำให้โรคนั้นหายขาดได้ กระทั่งโรคนี้นำพาให้เฮเดรียนเข้าร่วมลัทธิลึกลับลัทธิหนึ่งในดินแดนกรีก แน่นอนว่าแอนทิโนอุสอยู่ข้างกายเฮเดรียนเสมอ หลังจบพิธีกรรมบางอย่างคณะเดินทางของจักรพรรดิออกจากกรีซไปสู่แคว้นจูเดียและซีเรียทางตะวันออกของจักรวรรดิโรมัน ก่อนวกลงใต้มายังอียิปต์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 130 ทำให้มีข้อสันนิษฐานส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าการเดินทางครั้งนี้เกี่ยวข้องกับโรคปริศนานั้นแน่นอน
เฮเดรียนสนใจศาสตร์และพิธีกรรมอียิปต์นี้อยู่แล้ว เป็นไปได้สูงว่าพระองค์เสด็จมาถึงอียิปต์เพื่อหาวิธีรักษาโรคลึกลับนั้น และได้ถือโอกาสพาแอนทิโนอุสไปเยี่ยมชมหลุมฝังศพของปอมเปย์ (Pompey) แม่ทัพคนสำคัญของโรมัน ต่อด้วยสักการะโลงศพของอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) ก่อนล่องเรือในคลองคาโนพิค (Canopic canal) และล่าสัตว์ด้วยกัน แต่มีเหตุการณ์ระทึกขวัญหนึ่งเกิดขึ้นระหว่างการล่า เมื่อแอนทิโนอุสถูกสิงโตจู่โจมทำให้เฮเดรียนต้องออกตัวช่วยเหลือและปกป้องเขาไว้ได้ทันพร้อมลงมือสังหารสิงโตตัวนั้นด้วยพระองค์เอง
ขนาดนั้นที่เมืองเฮลิโอโปลิส (Heliopolis) ในอียิปต์ นักบวชชื่อ Pachrates ได้ปรุงยาและทำพิธีบางอย่างเกี่ยวกับการรักษาโรคของเฮเดรียน คณะของพระองค์เคลื่อนต่อไปยังเมืองเฮอโมโปลิส (Hermopolis) เพื่อบูชาเทพทอธ (Thoth) และเทพโอซิริส (Osiris) พร้อมจัดพิธีบวงสรวงและการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ แต่ระหว่างงานเฉลิมฉลองนี้เองจักรพรรดิต้องพบกับการสูญเสียครั้งใหญ่หลวง
วันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 130 ศพของแอนทิโออุสถูกพบลอยมาตามแม่น้ำไนล์ เหตุการณ์นี้นำความโศกเศร้าอย่างยิ่งใหญ่มาสู่เฮเดรียน อีกทั้งแอนทิโนอุสนั้นเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาด้วยวัยเพียง 20 ปี แน่นอนว่าเขาจมน้ำ แต่สาเหตุการจมน้ำไม่สามารถสรุปได้ ทำให้นักประวัติศาสตร์โรมันหลายคนให้ข้อสังเกตต่างกันออกไป บ้างอ้างว่าอาจเกี่ยวข้องกับโรคประหลาดของเฮเดรียนกับลัทธิลึกลับที่พระองค์เข้าร่วม หรืออาจมีพ่อมดหมอผีบางคน (อาจเป็น Pachrates ?) ชี้นำว่าการสละชีวิตของคนรักในแม่น้ำไนล์จะช่วยรักษาโรคหรือยืดอายุให้จักรพรรดิได้
แต่ข้อสังเกตทั้งหลายนั้นเป็นเพียงทฤษฎี หากการบูชายัญคนรักเป็นเรื่องจริง ก็ไม่มีหลักฐานใด ๆ บ่งชี้ได้ว่าศาสตร์มืดนี้ถูกเสนอให้เฮเดรียนหรือแอนทิโนอุสรับรู้ หรือการดิ่งแม่น้ำไนล์เกิดจากความสมัครใจเพราะความรักอันยิ่งใหญ่ของแอนทิโนอุสหรือไม่ แต่ไม่ว่าจะเป็นการเสียสละหรืออุบัติเหตุ หลังเหตุการณ์นั้นสุขภาพของเฮเดรียนกลับดีขึ้นจริง เพราะพระองค์ยังมีอายุสืบต่อมาอีก 8 ปี
หลังการเสียชีวิตศพของแอนทิโนอุสถูกทำเป็นมัมมี่และนำกลับกรุงโรมพร้อมเฮเดรียนคู่รักของเขา หลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการตายของแอนทิโนอุสคือความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของเฮเดรียนคือการที่จักรพรรดิทรงรับสั่งช่างให้สร้างประติมากรรมรูปเหมือนแอนทิโนอุสขึ้นมามากมาย และได้นำชื่อของแอนทิโนอุสไปตั้งเป็นชื่อหมู่ดาว มีการสร้างเมืองแอนทิโนโปลิส (Antinopolis) เพื่อเป็นเกียรติแก่เขาริมฝั่งแม่น้ำไนล์ ณ จุดที่เขาจมน้ำ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการยกย่องให้แอนทิโนอุสเป็นเทพองค์หนึ่งด้วย
สถานะความเป็นเทพของแอนทิโนอุสในสังคมโรมันโดยเฉพาะพื้นที่ประเทศอียิปต์จริงจังอย่างมาก ลัทธิความเชื่อในการบูชาแอนทิโนอุสค่อย ๆ เติบโตและแพร่หลาย มีการผูกดวงวิญญาณเทพของเขาเข้ากับตำนานเทพโอซิริส (Osiris) ของอียิปต์ รวมถึงเทพไดโอนีซุส (Dionysos) เฮอเมส (Hermes) และซิลวานุส (Silvanus) ของกรีก-โรมัน ความเป็นเทพของแอนทิโนอุสจึงแพร่กระจายและเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วจากบริเวณอียิปต์ไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วจักรวรรดิโรมัน กล่าวได้ว่าหนุ่มน้อยชาวกรีกตายจากความเป็นมนุษย์แต่ฟื้นคืนชีพในฐานะเทพเจ้าจากความรักที่เฮเดรียนมีให้เขานั่นเอง
งานศิลปกรรมในยุคโบราณที่บ่งชี้ได้ว่านี่คือ แอนทิโนอุส เป็นหนึ่งในงานศิลปะที่ถูกค้นพบและอนุรักษ์ไว้มากที่สุด ลักษณะของแอนทิโนอุสปรากฏทั้งรูปแบบชายหนุ่มทั่วไปและรูปบูชากึ่งเทพเจ้าที่เขาถูกนำไปเชื่อมโยง แต่ทั้งหมดมีลักษณะร่วมคือใบหน้าอันหล่อเหล่า ผมหยิก หน้าอกกว้าง รูปร่างสมส่วน ซึ่งเป็นรูปแบบประติมากรรมที่ถูกยอมรับโดยทั่วกันว่าคือความงามอันลึกซึ้งของศิลปกรรมคลาสสิคยุคกรีก-โรมัน
ขอบคุณข้อมูลจาก ศิลปวัฒนธรรม
https://www.silpa-mag.com/history/article_92689
เขียนโดย อัศวัตถามา
แชร์