Main Menu
BANGKOK PORTAL

  • ไทย
  • Eng

บทความแนะนำ

เด็กติดเกม : เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้ติดเกม

ปัญหาเด็กติดเกมส์ หรือลูกติดเกม คงเป็นปัญหาของพ่อเเม่หลายๆคน ที่กังวลเป็นอย่างมาก เเต่รู้หรือไม่ว่า เด็กติดเกมส์ หรือลูกติดเกม อาจจะไม่ใช่ปัญหาก็ได้ ถ้าหากรู้จักสมดุลเเละเข้าใจพฤติกรรมของลูกหรือเด็ก

ชีวจิต มีคำแนะนำดีๆ จากผู้เชียวชาญด้านสุขภาพจิตและจิตเวชมาบอกต่อค่ะ ครั้งนี้เราได้ อาจารย์ ดร.ขวัญธิดา พิมพการ อาจารย์พยาบาล ภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ ไว้ดังนี้

1.เด็กติดเกม กับปัญหาด้านสุขภาพจิต

ในฐานะอาจารย์พยาบาลด้านสุขภาพจิต อธิบายว่า โดยทั่วไปการเล่นเกมเป็นเพียงกิจกรรมเพื่อความบันเทิงเท่านั้น หากใช้งานในระดับที่พอดี ก็ถือเป็นการพักผ่อนที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่ง หากเด็กคนไหนสามารถแบ่งเวลาได้อย่างเหมาะสม ไม่บกพร่องต่อหน้าที่ความรับผิดชอบ การเล่นเกมก็ไม่ทำให้เกิดโทษ

แต่ถ้าหากพบว่าเด็กเริ่มมีพฤติกรรมเสพติดหรือหมกมุ่นมากเกินไป อาจก่อให้เกิดปัญหาทางจิตเวชตามมา และเป็นปัญหาที่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญ

ที่สำคัญที่สุดปัญหาติดเกมในเด็ก เกิดจากสมองที่คุ้นชินกับสิ่งที่ทำแล้วเกิดความสุข จึงมีความต้องการที่จะทำสิ่งนั้นบ่อยๆ โดยจะส่งผลกระทบมากต่อกลุ่มเด็กและวัยรุ่น เนื่องจากสมองยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะสมองในส่วนของการยับยั้งชั่งใจ หรือการใช้เหตุผล

เด็กวัยนี้จึงควรรักษาศักยภาพของสมองเอาไว้ โดยการฝึกวินัยกับตัวเองให้มากๆ ผู้ปกครองก็มีส่วนสำคัญในการป้องกันปัญหาดังกล่าว

2.คำแนะนำสำหรับคุณพ่อ คุณเเม่ ที่มีลูกติดเกม

คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการหลีกเลี่ยงหน้าจอเวลามีปฏิสัมพันธ์กับลูก ควบคุมตนเองไม่ใช้หน้าจอเกินความจำเป็น ส่วนในการดูแลเด็กและวัยรุ่นเพื่อป้องกันปัญหาเด็กติดเกม คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามฝึกให้เด็กสามารถควบคุมตัวเองได้ เช่น การตั้งกฎกติกาในเรื่องของระยะเวลาการเล่นเกมของเด็ก กฎกติกาเรื่องของหน้าที่ความรับผิดชอบที่ต้องมาก่อนเสมอ รวมถึงการไม่ควรให้เด็กมีเครื่องเล่นเกมหรือคอมพิวเตอร์ในห้องนอนส่วนตัวของตนเอง เป็นต้น

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรปล่อยปะละเลย จนกระทั่งเกิดปัญหา เพราะจะแก้ไขได้ยาก

3.การเลี้ยงดูลูก/เด็กอย่างไรเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ โดยไม่ส่งผลต่อ Passion (ความหลงไหล)

ก่อนอื่นอยากให้มองว่า เกมส์ออนไลน์นับเป็นสื่อเพื่อความบันเทิงชนิดหนึ่ง เหมือนกับที่ผู้ใหญ่ติดซีรีส์ ติดละคร หรือโซเชียลมีเดีย อย่ามองว่าเกมออนไลน์เป็นตัวปัญหา หรือความร้ายแรงอะไรเลย เพราะปัญหาจริง ๆ ไม่ได้อยู่ที่ “เกมส์” แต่อยู่ที่ความ “พอดี” ในการที่เราใช้เวลา 1 วันไปกับมันมากน้อยแค่ไหนมากกว่า

สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกน้อยวัยไม่กี่ขวบเริ่มติดเกมจนกลายเป็นปัญหา และต้องการแนวทาง “การช่วยเหลือ” ที่ชัดเจนจากผู้ปกครอง เช่น เด็กเริ่มตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่คุยกับพ่อแม่ ไม่เล่นกับเพื่อนฝูง ไม่เข้าสังคม หรือไม่ทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เด็กในวัยนี้ควรทำ จนกระทั่งไม่ยอมไปโรงเรียน หรือโดดเรียนไปเล่นเกมเหล่านี้ทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้แล้วล่ะว่า เกมออนไลน์เริ่มมีอิทธิพลเหนือวงจรชีวิตปกติของลูกเสียแล้ว

ซึ่งมีคำแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่รุ่นใหม่ในการเลี้ยงดูลูกโดยไม่ส่งผลต่อ passion ของเด็ก ดังนี้คือ

1.1 นำตัวช่วยด้านเทคโนโลยีมาใช้ในการเลี้ยงดูลูก

โดยดาวน์โหลดโปรแกรมล็อกเกม หรือแอพพลิเคชันล็อกเกมส์มาใช้งาน เพื่อจำกัดการเข้าถึงเกมออนไลน์รุนแรงบางเกมในอุปกรณ์ของเด็ก หรือจำกัดเวลาในการเล่นเกม เช่น PlayPad Parental Control

1.2 อธิบายให้ลูกเข้าใจถึงโลกแห่งความเป็นจริงและโลกเสมือนจริงในเกม
คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายอย่างใจเย็นให้เด็กเล็กฟัง ถึงความแตกต่างระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงและโลกเสมือนจริงที่ถูกสร้างขึ้นมาในเกม เพราะเด็กในวัยนี้มีจินตนาการสูง และยังแยกไม่ออกระหว่างโลกทั้งสอง ซึ่งการเปรียบเทียบในความหมายโลกเสมือนจริงในเกม เช่น คุณพ่อคุณแม่อาจจะใช้คำพูดให้เด็กเข้าใจง่ายๆ ว่า”ทำไมตัวการ์ตูนในทอม&เจอร์รี่ถึงไม่ตาย ทั้งๆ ที่โดนทุบศีรษะหลายครั้ง หรือวิ่งตกเหวหลายรอบ”

1.3 เกมที่สร้างเสริมพัฒนาการเด็ก VS เกมเพื่อความบันเทิง
มีเกมหลายชนิดที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อการสอน ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก แต่ก็ให้ความเพลิดเพลินได้ ซึ่งมีความแตกต่างจากเกมเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว คุณพ่อคุณแม่ควรทราบว่าเกมออนไลน์ใดที่เหมาะกับพัฒนาการของลูก เล่นแล้วเกิดประโยชน์อะไรบ้าง อาจนำมาช่วยทดแทนเกมเพื่อความบันเทิงอื่นๆ ในท้องตลาด เช่น เกมออนไลน์ที่ช่วยเรื่องทักษะการคิดคำนวณ การจดจำ หรือทักษะการใช้คำ เกมแต่งตัวเจ้าหญิงที่ช่วยเรื่องทักษะการจับคู่สิ่งของ เป็นต้น

1.4 กำหนดเวลา กุญแจสำคัญในการสร้างวินัย
ควรกำหนดเวลาและสร้างเงื่อนไขในการเล่นเกมออนไลน์ให้ลูก โดยให้ลูกเล่นเกมออนไลน์ได้ก็ต่อเมื่อเขารับผิดชอบงานของตนเองเสร็จเรียบร้อยแล้ว เช่น เล่นหลังทำการบ้านเสร็จ หรืออ่านหนังสือเสร็จแล้ว เป็นต้น และกำหนดเวลาไม่ให้อยู่กับหน้าจอเกมนานเกินไป เช่น เล่นได้ไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมงในช่วงเปิดภาคเรียน และไม่เกิน 2 ชั่วโมงในช่วงปิดเทอม เป็นต้น วิธีที่ดีในการกำหนดเวลา คือ การหานาฬิกาปลุกมาตั้งไว้ใกล้ ๆ เพื่อเตือนให้ทั้งเขาและเราทราบเมื่อหมดเวลา
 

1.5 เบี่ยงเบนความสนใจและให้รางวัล
การเบี่ยงเบนความสนใจเด็กให้ไปทำกิจกรรมที่เขาสามารถทำร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ได้ มีผลดีในระยะยาวมาก เช่น การอ่านหนังสือกับเขาก่อนเข้านอนหรือตอนตื่นเช้า ช่วยเพิ่มสมาธิให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี ลองทำเป็นกิจวัตรกับเขาทุกๆ วัน เพื่อให้เขาจับมือถือให้น้อยลงกว่าเดิม

นอกจากนี้ การให้รางวัลก็สำคัญไม่แพ้กัน หากเขาสามารถห้ามใจไม่เล่นเกมออนไลน์ในวันนั้นได้ คุณพ่อคุณแม่ควรมีรางวัลอะไรให้กับเขาเพื่อสร้างกำลังใจ เช่น จะทำเมนูโปรดให้ทานในมื้อเย็นของวันนั้น เล่านิทานเรื่องโปรดให้ฟังก่อนนอน หรือสัญญากับเขาว่าจะพาไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะในวันเสาร์ที่จะมาถึง ซึ่งการให้รางวัลเป็นกลไกกระตุ้นให้เขาอยากทำความดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และทำให้เขารู้ว่าการที่เขาชนะใจตัวเองได้นั้นไม่ได้สูญเปล่าไปในสายตาของคนเป็นพ่อแม่เลย

1.6 เอาอุปกรณ์ในการเล่นเกม รวมทั้งมือถือ ออกจากห้องนอนลูก
ควรเคลียร์ห้องนอนลูกให้เป็นพื้นที่สำหรับ “การนอน” จริงๆ ไม่ควรอนุญาตให้เขาเอามือถือ คอมพิวเตอร์ ไอแพด หรืออุปกรณ์ใดๆ ที่ใช้ในการเล่นเกมออนไลน์เข้าไปด้วย เพราะจะทำให้เขาแอบเล่นเกมตอนกลางคืนจนไปงีบหลับในห้องเรียน รบกวนวงจรเวลานอนที่ดีของลูก

4. จุดสมดุลในการเลี้ยงลูก สิ่งที่พ่อแม่อยากให้เป็นและสิ่งที่ลูกต้องการ

ความสัมพันธ์ของพ่อแม่กับลูกนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ลูกยังเล็ก เด็กที่ได้รับความรักเพียงพอ ก็จะมีสุขภาพจิตที่ดีในตอนที่โตขึ้น ซึ่งสิ่งที่ทำให้เด็กสัมผัสได้ถึงความรักที่พ่อแม่ให้ คือการสมดุลความรู้สึกที่พอเหมาะพอดีจากการกระทำของพ่อแม่ John Bowlby นักจิตวิทยากล่าวว่า

“วิตามินและโปรตีนมีความสำคัญต่อสุขภาพกายเพียงใด ความรักของแม่ในช่วงวัยทารกและวัยเด็กก็มีความสำคัญต่อสุขภาพจิตเพียงนั้น”

อย่างไรก็ดีสมดุลความรัก ของพ่อเเละเเม่ที่กระทำต่อลูก น่าจะเป็นจุดสมดุลที่ดีที่สุด ในความเข้าใจกับปัญหาเด็กติดเกม

#ที่มา นิตยสารชีวจิต